เมื่อคืนที่ผ่านมา NC. ได้รับเชิญให้ไปดูปลา Hiback Golden ตัวหนึ่งที่มีอาการป่วยเป็น โรคเกล็ดกร่อน ซึ่งเจ้าของปลาท่านว่าไม่ได้เป็นเกล็ดกร่อนธรรมดาๆ แต่เป็น “ขั้นรุนแรง” (เป็นหนัก และกินพื้นที่มาก)
เมื่อ NC. ได้เข้าไปดูแล้วก็ต้องยอมรับว่า “ขั้นสาหัส” ของจริง…
สำหรับ Case นี้ที่เกล็ดกร่อน “กร่อนกินเข้าถึงเนื้อเกินกว่า 30%” NC. พิจารณาแล้วไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการใช้ยา หรือวิธีการฆ่าเชื้อใดๆ การถอดเกล็ดแล้วปล่อยให้ขึ้นใหม่ดูจะเป็นหนทางที่รักษาได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า และเป็นความต้องการของเจ้าของปลาด้วยเช่นกันที่อยากให้ NC. ทำการถอดเกล็ดให้
… ดูเผินๆ ครั้งแรกประเมินว่ามีเกล็ดที่ต้องถอดประมาณ 30 แผ่น ตั้งใจว่าจะถอดเกล็ดเว้นเกล็ด ทำ 2 ครั้งโดยมีระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ ในระหว่างการรักษาเกล็ดกร่อนก็จะแช่รักษารักษาอาการอื่นด้วยเช่น รอยบวมน้ำ และครีบเครื่องกร่อน Case นี้เรียนตามตรงว่า “ถือเป็น Case ยากครับ”
NC. นำปลามาพักรักษาตัวที่ NC.’s World ซึ่งหลังจากพักพิงได้ระยะหนึ่งก็ถึงเวลาที่เหมาะสม NC. จึงทำการวางยาและทำศัลยกรรม ตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะถอดเกล็ดเว้นเกล็ด แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริง การถอดเกล็ดตามลักษณะดังนั้นไม่ได้เป็นผลที่ดีนักและไม่ต่างกันกับการถอดทั้งหมด NC. จึงลงมือถอดเกล็ดที่ได้รับความเสียหายหนักออกทั้งหมด ค่อยๆ ทำอย่างตั้งใจและเบามือที่สุด เมื่อเสร็จสิ้นงานศัลยกรรมนับเกล็ดที่ถอดออกได้ประมาณ 50 แผ่นครับ
ถือว่าเป็นการถอดเกล็ดเพื่อรักษาโรคเกล็ดกร่อนที่เป็น Case ใหญ่สำหรับ NC. ถอดไปและดูอาการของตัวปลาไปด้วยตลอดจนกระทั่งเสร็จสิ้นเรียบร้อยและเข้าสู่ขั้นตอนการทำให้ฟื้นตัว ทั้งหมดก็ผ่านไปด้วยดีครับ ไม่ถึง 5 นาทีปลาก็ฟื้นตัวตามปกติ ฟื้นได้ดี ไม่มีหัวทิ่มและหลังลอย
NC. มีภาพและ VDO Clip หลังจากที่ปลาฟื้นตัวแล้วมาฝากครับ
NC. มีประสบการณ์ในการทำศัลยกรรมปลาอโรวาน่ามายาวนาน ดังนั้นจึงมีเทคนิคการถอดเกล็ดที่สร้างความเสียหายและความบอบช้ำกับตัวปลาได้น้อยที่สุด ส่วนตัวไม่แนะนำให้ท่านทำตามเพราะการถอดที่ผิดวิธีจะสร้างความเจ็บปวดให้ตัวปลาเป็นอย่างมาก และปลาที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็อาจจากไปด้วย ดังนั้นขอฝากไว้ด้วยนะครับ
*** สำหรับปลาใหญ่ไซส์ 18 นิ้วจะมีระยะฟื้นตัวของเกล็ดประมาณ 3 เดือนเต็ม แล้ว NC. จะนำภาพ Update มาให้ชมเรื่อยๆ นะครับ