ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความหมายของงานศัลยกรรมก่อน “การศัลยกรรมปลา” หมายถึง การทำการตัดแต่ง ตบแต่ง หรือแต่งเติม เพื่อรักษา ลบรอยตำหนิ หรือทำให้ปลามีสภาพที่ดีขึ้น รวมถึงกำจัดตัดต้นตอของโรคต่างๆ ในรูปแบบของเชื้อราหรือแบคทีเรียร้ายที่เข้ามากัดกินเครื่องครีบต่างๆ
การทำศัลกรรมมีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นการตัดครีบ การแต่งเหงือก การขลิบหนวด การถอดเกล็ด การถอนปรสิต ฯลฯ แต่ในการทำงานศัลยกรรมทุกครั้งต้องคำนึงถึงว่าปลาตัวนั้นต้องรับการศัลยกรรมจริงๆ คือหมายถึงบาดแผลหรือรอยตำหนิเหล่านั้นไม่สามารถกลับคืนมาสมบูรณ์เหมือนเดิมได้ เพราะหากมีวิธีการรักษาเยียวยาอย่างอื่นเช่นการใช้ยาปฏิชีวนะ เกลือ หรือสารเคมีชนิดอื่นๆ ก็ควรใช้วิธีนั้นก่อน เพราะงานศัลยกรรมเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง ทำแล้วแก้ยากและผลที่ออกมาก็ไม่ได้หมายความจะเป็นบวกเสมอไป อย่างเช่นกรณีตัดแต่งครีบ ถ้าตัดไม่ดีหรือตัดพลาดไปครีบก็อาจจะไม่ขึ้นอีกเลย หรือขึ้นเบี้ยวดูแล้วแย่กว่าเดิม แต่หากว่าตัดเป็นและทำอย่างถูกต้องถูกวิธีก็อาจมีโอกาสกลับมาสวยใกล้เคียงของเดิม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และฝีมือของผู้ทำงานศัลยกรรม
และอย่างที่ได้กล่าวไปนะครับ ผมอยากให้เพื่อนๆ ผู้อ่านทราบไว้เสมอว่าการทำศัลยกรรมตกแต่งอย่าไปคาดหวังว่าทำแล้วจะสวยงามเสมอไปเพราะจุดมุ่งหมายจริงๆ ของงานศัลยกรรมคือเพื่อการแก้ไขลบรอยตำหนิและตัดต้นตอของโรคเท่านั้น หากต้องการให้สวยเหมือนใหม่ 100% คงยาก… โอกาสมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นในกรณีเหงือกพับ หากปล่อยไว้แบบนั้นก็คงเป็นตำหนิที่ดูแล้วน่าเกลียดไม่น่ามอง ลดความสง่าของปลาเราไปไม่น้อย ในกรณีนี้คงไม่สามารถที่จะใช้ยาในการรักษาได้จึงต้องตัดสินว่าจะทำหรือไม่ ? หากเจ้าของปลา “รับได้” กับตำหนินั้นก็เลี้ยงดูต่อไป แต่ถ้าหากว่ารับไม่ได้ ต้องการรักษาก็ต้องทำศัลยกรรมซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วล่ะครับ
ยังไงก็ตามการทำศัลยกรรมปลาสำหรับนักเลี้ยงมือใหม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากทำไม่เป็นหรือไม่มีความรู้ไม่ชำนาญเพียงพออาจทำให้บาดแผลที่เป็นหนักอยู่แล้วจะยิ่งทรุดหนักไปอีกเช่น ตัดออกมากหรือลึกเกินไปจนกินเข้าไปถึงเนื้อ กรรไกรไม่คมพอทำให้ตัดไม่ขาดสนิท อุปกรณ์ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคก่อนทำให้ปลาติดเชื้อ หรือไม่ก็ใส่ยาสลบมากเกินไปจนปลาไม่ฟื้นเลยก็มี ปัญหาเปล่านี้มีโอกาสได้เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นการจะทำศัลยกรรมก็อยากให้ศึกษาไว้นิดจะดีกว่า ผมขอแนะนำวิธีการทำศัลยกรรมเป็นส่วนๆ ให้โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์เลยนะครับ… อุปกรณ์ที่ต้องในพื้นฐานงานศัลยกรรมที่สำคัญก็มี
1. ถุงใส่ปลา เพื่อใช้สำหรับจับต้อนปลา โดยถุงที่เตรียมไว้ควรมีเนื้อหนาเพื่อป้องกันการกระโดดพุ่งไปมาภายในถุงในกรณีที่ปลาตกใจ ขนาดถุงที่เหมาะสมควรมีขนาดกว้างซัก 1.5 เท่าของตัวปลาเพื่อทำให้จับปลาได้ง่ายขึ้น หากใช้ถุงเล็กการจับปลาจะเป็นไปอย่างยากลำบาก ในกรณีที่จับต้อนปลาเล็กใช้ถุงเพียงใบเดียวก็พอครับแต่หากเป็นปลาใหญ่เพื่อความมั่นใจควรใช้ 2 ใบโดยใส่ซ้อนกัน
2. ยาสลบ ยาสลบใช้เพื่อระงับสติอารมณ์ของปลา หากใช้ในปริมาณน้อยปลาจะมีอาการซึม นิ่ง มึน เคลื่อนไหวช้าลง (สำหรับการเคลื่อนย้ายปลา) แต่หากใช้ในปริมาณมากปลาก็จะหมดแรง สลบ หงายท้อง (สำหรับการทำการศัลยกรรม) การเลือกใช้ยาสลบควรเลือกใช้ยี่ห้อที่มีคุณภาพสูงเพราะยาตัวนี้เป็นยาอันตราย หากใช้ยาที่มีคุณภาพต่ำอาจมีผลทำให้ปลาหลับลึกเกินไปไม่ฟื้น หรือฟื้นแล้วกลับมีผลต่อเหงือกทำให้เป็นโรคเหงือกได้… โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหงือกอ้า และเหงือกพับ
3. กรรไกร เลือกใช้กรรไกรที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง และมีกำลังในการตัด ที่สำคัญคือต้อง “คมกริบ” ขนาดของกรรไกรในการใช้งานขึ้นอยู่กับขนาดของปลาและอาการที่จะรับการศัลยกรรม หากเป็นการตัดครีบปลาใหญ่ก็ต้องใช้กรรไกรที่มีขนาดใหญ่หน่อย อันเล็กจะตัดไม่เข้า ไม่มีกำลังเพียงพอทำให้การตัดแต่งไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นการแต่งเหงือกหรือขลิบหนวด ไม่ว่าจะเป็นปลาขนาดใดก็ตามก็ต้องใช้กรรไกรขนาดเล็กเพราะเป็นงานละเอียดจึงต้องการความกะทัดรัดจับถนัดมือ ผมแนะนำให้ใช้กรรไกรที่มีปลายแหลมเพราะปลายกรรไกรสามารถใช้ในงานถอดเกล็ดปลาได้
4. อ่างหรือกะละมัง เพื่อใช้ในการประคองปลาในระหว่างการทำศัลยกรรม ขนาดของกะละมังขึ้นอยู่กับขนาดของปลา หากเป็นปลาใหญ่ก็ใช้กะละมังใหญ่และหากเป็นปลาเล็กก็ใช้ขนาดเล็ก ที่สำคัญไม่ควรใช้กะละมังที่มีขนาดใหญ่เกินไปเพราะทำงานยาก หรือเล็กเกินไปเพราะอาจมีผลทำให้ปลาเสียรูปได้ กะละมังที่ใช้ให้ใช้เป็นกะลังมังทรงเตี้ยเพื่อจะได้ไม่ยืดแขนมากเกินไปและเลือกใช้สีอ่อนเพื่อจะได้เห็นตัวปลาได้ชัดเจน
5. ถุงมือยาง เป็นชนิดที่แพทย์ใช้ทั่วๆ ไป การสวมถุงมือยางมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้จับตัวปลาได้กระชับถนัดมือ ปลามังกรเป็นปลาที่มีเมือกลื่นปกคลุมอยู่ทั่วทั้งตัวฉะนั้นหากว่าใช้มือเปล่าจับจะทำให้การทำงานไม่ถนัด ลื่นหลุดมือได้เสมอซึ่งอาจเป็นผลให้การทำการศัลยกรรมพลาดได้ หรือถ้าไม่ใช้แล้วจับปลาแน่นเกินไปก็อาจทำให้ปลาบอบช้ำ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยและการทำงานง่ายขึ้นผมแนะนำให้สวมถุงมือยางในการทำศัลยกรรมปลาทุกครั้งนะครับ
6. แหนบ ใช้ในการถอนปรสิตชนิดต่างๆ เช่น หนอนสมอ และเห็บ แหนบที่ใช้ควรปิดกันสนิท กดบีบได้แน่นไม่หลวม ที่สำคัญคือจับแล้วถนัดมือ
7. ยาเหลือง ใช้ในการทาแผลหลังจากทำงานศัลยกรรม เช่นการตัดแต่งเหงือก การถอนปรสิต การถอดเกล็ดและการขลิบหนวด การทำศัลยกรรมเหล่านี้โดยปกติปลาจะมีเลือดไหลบริเวณแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อและทำให้แผลหายเร็วขึ้นการใช้ยาเหลืองจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับงานศัลยกรรม
8. น้ำยาฆ่าเชื้อโรค สำหรับล้างอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก่อนและหลังการใช้งาน เช่น กรรไกร กะละมัง แหนบ ฯลฯ น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เราเลือกใช้ได้ก็มีหลายอย่างเช่น น้ำยาเดทตอล แอลกอฮอล์ และด่างทับทิม
เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมทุกอย่างแล้วต่อไปก็มาถึงขั้นตอนในการทำศัลยกรรม ก่อนการทำงานผมแนะนำให้มีผู้ช่วยซักคนคอยช่วยรับส่งจัดเตรียมอุปกรณ์จะช่วยได้มากทีเดียว… การทำงานศัลยกรรมมี 4 ขึ้นตอนสำคัญนั่นก็คือ
1. การจับต้อนปลา ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่จริงๆ แล้วไม่เลย การจับต้อนปลาต้องสังเกตและคอยดูอารมณ์ปลาด้วยว่าพร้อมหรือไม่ ? สงบนิ่งหรือไม่ ? หรือว่ายพุงไปพุ่งมาไม่หยุดอยู่กับพี่ ตกใจตื่นกลัว ไม่ยอมให้จับง่ายๆ กระโดดหลบไปมาไม่เป็นทิศเป็นทาง หากปลาไม่พร้อมโดยแสดงอาการอย่างหลังให้รอก่อน อย่าเพิ่งฝืนจับเพราะปลาตกใจกระโดดไม่ลืมตาจนเกิดบาดแผลเพิ่มเติมได้หรือยิ่งไปกว่านั้นหากครีบหัก ปากแตกหรือเกล็ดหลุด ก็จะยิ่งไปกันใหญ่แทนที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นกลับต้องต้องมีตำหนิมากขึ้น… เมื่อปลาสงบนิ่งแล้วจึงค่อยเริ่มจับอีกครั้ง (ถ้ายังตื่นอยู่ก็รออีกซักพัก) การจับปลาที่ปลอดภัยที่สุดคือการลดน้ำลงให้เหลือครึ่งตู้ การลดน้ำในตู้ลงจะช่วยให้ทำให้การจับปลาง่ายขึ้นเพราะตัวปลามีที่ว่ายน้ำหนีน้อยลง วิธีนี้ยังช่วยลดโอกาศในการกระโดดสวนออกมานอกตู้ของปลาด้วย ที่สำคัญคือขนาดถุงที่ใช้ต้องมีขนาดสมส่วนไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
2. การวางยาสลบ เมื่อจับปลาได้แล้วให้รีบรวบถุงให้มิดชิดก่อนเพื่อป้องกันปลาตกใจกระโดดออกมา ผมแนะให้มีปริมาณน้ำในถุงไม่ต้องมากเพราะหากมากเกินไปก็หนักจะยากลำบากในการยกลงมาด้านล่าง ปริมาณที่เหมาะสมในถุงก็คือให้ท่วมตัวปลาซัก 3 นิ้วก็พอครับ ต่อไปก็ถึงเวลาของการวางยาสลบ การหยดยาสลบผู้อ่านหลายคนที่เข้าใจว่าต้องหยดในตู้เพื่อให้ปลาสลบซึมแล้วค่อยย้ายออกมา ความคิดนี้ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการเปลืองยาสลบมากเกินไป วิธีที่ถูกต้องคือควรหยดยาสลบลงในถุงปลาที่จับต้อนขึ้นมาได้แล้ว วิธีนี้จะทำให้ประหยัดยาและควบคุมอาการปลาได้
การหยดยาสลบมี 2 กรณีดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็คือเพื่อการ “เคลื่อนย้าย” และการ “ศัลยกรรม” สำหรับการเคลื่อนย้ายปลา ก็หยดยาพอให้ปลาซึม สงบนิ่ง ไม่ตื่นตกใจ ซึ่งโดยปกติจะเริ่มต้นที่ 10 หยด แต่ถ้าเพื่อทำการศัลยกรรมก็ต้องหยดยาเพื่อให้ปลาสลบสไลถึงขึ้นหงายท้อง การใช้ปริมาณยาสลบในการนี้ค่อนข้างต้องดูแลอย่างไกล้ชิดนะครับ เพื่อให้หลับและพร้อมในการทำศัลยกรรมผมแนะนำให้เริ่มหยดยาที่ 20 หยด รวบถุงให้แน่นแล้วโครงเครงไปมาหรือจะใช้หัวทรายเข้าช่วยเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น รอเวลาประมาณ 2-3 นาทีหากปลายังคงแข็งแรง ตื่นตัว และไม่มีทีท่าว่าจะหลับก็ค่อยๆ เติมอีกครั้งละ 5-10 หยด โดยคอยดูอาการ 2-3 นาทีทุกครั้งก่อนใส่ยาเพิ่ม เมื่อปลาเริ่มมีอาการมึนงง ว่ายเอียง ทรงตัวไม่ได้ ให้เริ่มหยุดการใช้ยาแล้วรอเวลาอีกซักพัก ปลาจะค่อยๆ หงายท้องและสลบ จากนั้นก็ถึงขั้นตอนของงานศัลยกรรม
NOTE : ปริมาณในการใช้ยาสลบที่ผมกล่าวถึงด้านบนเป็นเพียงการแนะนำเท่านั้น แต่ในการใช้งานจริงอาจต้องใช้มากหรือน้อยกว่านี้เพราะปลาแต่ละตัวมีความอดทนไม่เท่ากัน บางตัวโดนไป 5 หยดก็หลับปุ๋ย บางตัวโดนไป 20 หยดยังสบายๆ ฉะนั้นผมจึงย้ำไว้เสมอว่าการใช้ยาต้องหมั่นค่อยดูอาการของตัวปลาอย่างใกล้ชิด การใช้ยาสลบในปริมาณมากเกินไปอาจมีผลทำให้ปลาฟื้นช้าหรืออาจไม่ฟื้นเลย จุดนี้ต้องระวังด้วยนะครับ เมื่อมีการหยดยาสลบใหม่ๆ หากตัวยาโดนบริเวณหน้า ปาก หรือจมูก ของปลาโดยตรง ปลามีจะมีอาการสำลักยาสลบซึ่งจะแสดงความอึดอัดโดยการขยับปากและหัว สบัดตัว หรือกระโดดไปมา ให้รวบถุงให้แน่นๆ เพื่อป้องกันปลากระโดดสวนออกมานอกถุง
3. การทำการศัลยกรรม เมื่อปลาสลบแล้วต่อไปก็มาถึงเวลาของการทำงานศัลยกรรม ขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะทำอะไร… ตัดครีบ แต่งเหงือก ถอดเกล็ด ถอนปรสิต ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนทำงานจริง ในเรื่องเทคนิคการทำศัลยกรรมชนิดต่างๆ เดี๋ยวผมจะมีเขียนอย่างละเอียดในส่วนต่อไปนะครับ
4. การทำให้ฟื้น หลังจากทำการศัลยกรรม ดูความเรียบร้อย และทายาสมานแผลเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นขั้นตอนของการทำให้ฟื้น ในขั้นตอนนี้หากเราปล่อยปลาลงตู้ไปเลยโดยที่ยังสลบสไลอยู่ ช่วงเวลานั้นปลาจะช่วยตัวเองไม่ไหว ว่ายน้ำไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ปลาจมน้ำตาย วิธีที่ทำให้ปลาฟื้นตัวได้เร็วที่สุดคือการประคองตัวปลาไปที่หัวทรายให้ฟองออกซิเจน(หรือ Power Head ที่พ่อฟองอากาศออกมา) โดยให้บริเวณหน้า ปาก จมูก และเหงือก รับฟองอากาศโดยตรงเพื่อให้ปลาได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ประคองไว้ประมาณซัก 5 นาทีปลาก็จะเริ่มฟื้นตัวโดยสังเกตได้จากตัวปลาจะสั่นๆ แล้วจะสบัดตัวหลุดมือเราไปเอง หากปลาดิ้นหลุดจากมือไปแล้วลองสังเกตดูว่าเขาประคองตัวได้หรือไม่ ? หากยังหงายท้องหรือว่ายเอียงๆ ไม่เป็นท่า ให้จับตัวปลาแล้วประคองไปจ่อที่หัวทรายอีกครั้ง จนกว่ามันจะดิ้นหลุดไปแล้วสามารถว่ายได้เป็นปกติก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
NOTE : การฟื้นตัวของปลาแต่ละตัวใช้เวลาไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวปลาเองและปริมาณของยาสลบที่ใช้ด้วย ถ้าโดนน้อยก็ใช้เวลาไม่นานแต่ถ้าหากโดนหนักหน่อยก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากยาสลบของปลาจะอยู่ที่ประมาณ 3–30 นาทีครับ ในช่วงที่ประคองปลาให้เอามือลูบๆ ไปทั่วตัวปลาด้วยนะครับเพื่อล้างเอาคราบยาสลบออกให้หมดจด วิธีนี้ก็จะช่วยให้ปลาฟื้นตัวเร็วขึ้นได้