ถามตัวเองว่า “นานแค่ไหนแล้วหนอ ที่ไม่ได้เดินทางไปดูฟาร์มปลาที่เมืองนอก ?” แล้วก็ได้คำตอบว่า การเดินทางไปเที่ยวชมฟาร์มปลาที่ต่างประเทศครั้งล่าสุดก็คือประเทศอินโดนีเซีย คือไปเมื่อวันที่ 10-14/6/2005 (และก่อนหน้านี้ก็ไปเที่ยวฟาร์มปลา ชมร้านขายปลา ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 24-25/1/2005 ปีเดียวกัน) ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมา 4 ปีเต็มแล้ว และช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็เป็นช่วงที่ผมกลับมาสั่งสมประสบการณ์ในฐานะนักเขียนเพื่อประโยชน์ของผู้เลี้ยงในบ้านเราตลอดมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้รับการเชิญชวนจากคุณต้น Lucky Arowana ให้ร่วมเดินทางไปประเทศมาเลเซียอีกครั้งเพื่อเป็นที่ปรึกษาในการดูปลา ดูตลาดปลา และชมฟาร์มปลา แม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปชมฟาร์มปลาที่ประเทศมาเลเซีย แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกประหม่าอะไร เพราะไปโดยมีจุดมุ่งหมาย ไปโดยมีหน้าที่ มีภารกิจทั้งเพื่อการเป็นที่ปรึกษา การเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตัวเอง รวมถึงการบอกเล่าสิ่งที่ผมเห็นมาให้เพื่อนสมาชิก Aro4u คนสำคัญของผมได้รับทราบตามกัน และเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ ฟาร์ม Bukit Merah Arowana Farm (www.arowana.my) เพียงฟาร์มเดียว (ซึ่งถือเป็นฟาร์มใหญ่บนเกาะปีนัง ปัจจุบันฟาร์มนี้บริหารงานโดย คุณ Larry Law, General Manager) โดยระยะเวลาในการเดินทางคือ วันที่ 14-15/9/2009 และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาเริ่มกันดีกว่า (บทความนี้เน้นภาพประกอบ + คำบรรยายนะครับ)
สถานที่ทำการเพาะพันธุ์ปลา กับสถานที่เก็บ เพาะเลี้ยงปลา ของฟาร์ม Bukit Merah Arowana นี้ อยู่ต่างสถานที่กัน (เพาะพันธุ์ + เพาะเลี้ยง คนละที่) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกสำหรับผม เพราะเท่าที่ผมเคยไปประเทศสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สถานที่ทั้ง 2 แห่งนี้จะอยู่ในที่เดียวกัน (เพาะพันธุ์ + เพาะเลี้ยงเป็นที่เดียวกัน) สอบถามก็ทราบเหตุผลที่ต้องแยกส่วนกันก็เพื่อความปลอดภัยของตัวปลา และเพื่อการดูแลปลาอย่างใกล้ชิด (ลดความเสี่ยงในการการลักขโมย หรือการปล่อยปะละเลยของคนงานในฟาร์ม) สำหรับส่วนแรกนี้ ผมขอพาเพื่อนสมาชิกไปชมสถานที่เก็บปลา (ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านของเจ้าของฟาร์ม) กันก่อนนะครับ
1. ภาพที่เพื่อนสมาชิกเห็นอยู่นี้เป็นส่วนของด้านหน้า ที่มีถังเก็บปลาวางเรียงรายอยู่หลายใบ โดยถังเก็บปลาแต่ละใบมีขนาดประมาณ ยาว 2 เมตร กว้าง 1.2 เมตร และสูง 1 เมตร ภายในถังมีปลาอยู่ประมาณ 30-40 ตัว แต่ทว่าปลาน้อยเหล่านี้เป็นปลาที่ขายแล้ว (Already Tagged and Sold Out) ด้านหน้าของแต่ละถังจะมีแผ่นข้อมูลบ่งบอกไว้ว่าปลาในถังเป็นปลาสายพันธุ์อะไร ? มีจำนวนเท่าไหร่ ? ลูกค้าคือใคร ? พร้อมนำส่งวันใด ? อุปกรณ์ภายในถังทุกอย่างครบครันทั้ง Heater, Power Head, หลอดไฟ, ปั๊มลม และอื่นๆ ที่ในตู้ปลาพึงควรมี ในถังนี้มีครบครบถ้วน
*** ในภาพเป็นช่วงเวลาที่ผมเดินแยกตัวออกมาเนื่องจาก คุณต้น Lucky และคุณ Larry ผู้จัดการฟาร์ม กำลังเจรจาต่อรองกันเรื่องราคาปลา (เป็นข้อตกลงกันว่า NC. จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ดังนั้นเมื่อถึงเวลา เราเผ่นออกมาดีกว่า)
2. ในเวลาที่มีอยู่เพียงน้อยนิดนั้น ผมสามารถเก็บภาพได้แค่เพียงภาพรวมเท่านั้น ไม่สามารถถ่ายแบบเจาะลึกเพื่อให้เห็นคุณภาพของปลาแต่ละตัวในถังเหล่านี้ได้ ก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ แต่เรียนตามตรงว่าสำหรับ Malaysian Golden Cross Back ที่เป็นเกรด A นี่สวยไม่ธรรมดาครับ เห็นได้เลยว่า “หัวทองกันทุกตัว” ส่วนปลาแดง เนื่องจากถูกเลี้ยงในถัง ซึ่งถือเป็นสภาพแวดล้อมที่สว่าง ประกอบกับตัวปลายังมีขนาดเล็ก ราวๆ 5-6 นิ้ว ดังนั้นสีสันยังไม่ยังไม่ชัดเจนมากนัก (เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อเลือกซื้อ Golden Arowana – ปลามังกรทอง เป็นหลักครับ)
Note : ผมชอบถังเก็บปลาของที่นี่มากเพราะทุกใบถูกออกแบบอย่างดี มีระบบกรองในตัว ขนาดกว้างขวาง ใหญ่โต ดูแข็งแรง และสวยงาม (เติมน้ำเต็มแล้วไม่แบะออก ต่างกับบ้านเราที่เติมน้ำเต็มแล้วมักจะเสียรูปทรงไป) ที่สำคัญคือด้านหน้าของถังทุกใบจะมีกระจกเพื่อให้มองเห็นตัวปลาในภายในถังด้วย ที่ทั้งที่ขอบถังแต่ละใบยังมี “บ่านูนออกรอบด้าน" อยู่หลายบ่าด้วย ซึ่งสามารถใช้ในการวางของ วางอุปกรณ์ เล็กๆ น้อยๆ เพื่อง่ายต่อการหยิบใช้ได้ ก็นับเป็นไอเดียที่ดีและน่านำมาผลิตใช้ + จำหน่ายในเมืองไทยมากครับ
*** สำหรับวันนี้ผมขอเขียนเท่านี้ก่อนนะครับ ต้องรีบไปทำงานแล้ว เดี๋ยวไปสาย แต่เพื่อนสมาชิกไม่ต้องห่วงครับ พรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปเรามาติดตามเรื่องนี้ไปจนจบพร้อมๆ กัน