ต่อจากกระทู้นี้นะครับ
http://www.aro4u.com/articles-detail/678
หลังจากคัดเลือกปลา (ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักสำหรับวันนี้) เสร็จแล้ว ที่เหลือก็เป็นเวลาสบายๆ Mr. Buhan จึงชวนเราทั้งสองคนไปดูฟาร์มปลาในสังกัดของ CV. Juanda Aquarium ซึ่งมีทั้งหมด 3 ฟาร์ม เราเองก็ตกใจเล็กน้อยเพราะถ้าต้องทัวร์ทั้ง 3 ฟาร์มภายในวันเดียวท่าจะไม่ไหวเพราะกว่าจะเลือกปลาเสร็จนี่ก็บ่ายแล้ว แต่ Mr. Buhan บอกว่า “ไม่ต้องห่วง แต่ละฟาร์มอยู่ไม่ไกลกัน ขับรถไปครู่เดียวก็ถึง เพื่อไม่ให้เสียเวลา ตามผมมาดูฟาร์มแรกได้เลย” เราจึงอุ่นใจแล้วก็เดินตาม Mr. Buhan ไป
147. ภาพแรกที่เพื่อนสมาชิกเห็นอยู่นี้ก็คือประตูทางเข้าของบ่อเพาะพันธุ์ ก็ยังคงดูเรียบง่ายและ Classic มาก ร่มรื่นและดูเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง และจากภาพที่ว่านี้หากเพื่อนสมาชิกย้อนกลับไปที่ฟาร์มในสังกัด PT. Inti Kapuas จะเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเพราะอะไรทราบมั้ยครับ ? => เฉลยให้เลยดีกว่าจะได้ไม่เสียเวลา ก็บ่อเพราะพันธุ์ RTG (Sumatra Golden) ที่เพื่อนสมาชิกเห็นทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเป็น “บ่อดิน” ครับไม่ใช่บ่อคอนกรีต หรือบ่อครึ่งดินครึ่งคอนกรีตอย่างของ 5 ฟาร์มก่อนหน้า… รอบๆ บ่อเพาะพันธุ์ของ CV. Jaunda นี้เต็มไปด้วยแมกไม้นานาชนิด NC. ชอบบรรยากาศแบบนี้มาก แต่น่าเสียหายที่ไปตอนช่วงกลางวันซึ่งเป็นเข้าใจตรงกันว่าพ่อแม่ปลาจะหลบแดดอยู่ที่พื้นบ่อ ดังนั้นจึงไม่เห็นตัวปลาเลยแม้แต่ตัวเดียว
*** การสร้างบ่อดินตามภาพที่เห็นนี้ “มีเทคนิค” นะครับ แล้ว NC. จะมาเฉลยอีกครั้งในตอนท้าย แต่ตอนนี้ขออุบไว้ก่อน อิอิ (เดี๋ยวไม่มันส์)
148. พื้นที่บ่อเพาะพันธุ์ RTG นี้แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งๆ แรกเพื่อนสมาชิกได้เห็นแล้วในภาพประกอบที่ 147 ส่วนภาพนี้เป็นอีกฝั่งหนึ่งนะครับ Feeling ในการรับชมก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก => บ่อสวย บรรยากาศดี รมรื่นเป็นธรรมชาติ… แต่ไม่ได้เห็นพ่อแม่ปลา
หลังจากรับชมเสร็จเรียบร้อยแล้ว Mr. Buhan ก็พาเรานั่งรถเพื่อไปชมฟาร์มที่ 2 ซึ่งฟาร์มนี้เขาให้ข้อมูลว่ามีบ่อกว่าอยู่อีกหลายสิบบ่อ แต่ทั้งหมดเป็นบ่อสำหรับการเพาะพันธุ์ปลามังกรเงิน (Silver Arowana) พร้อมแล้วตาม NC. ไปชมกัน
149. ภาพบรรยากาศโดยรวมของฟาร์มที่ 2 ครับ
150. บ่อปลาแต่ละบ่อถูกกั้นด้วยกระสอบดินตลอดแนวรอบบ่อ (รวมถึงทางเดินด้วย) ความสูงของกระสอบยกขึ้นจากผิวบ่อประมาณ 3 ชั้นหรือราว 45 ซม. และขอบบ่อแต่ละบ่อก็จะมีพื้นที่เป็นทางเดินดินกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร => ความเห็นส่วนตัวในครั้งแรกที่ได้เห็นมองว่าฟาร์มนี้คงจะเป็นฟาร์มใหม่ (หมายถึงกำลังสร้างใหม่) เพราะดูหลายอย่างยังไม่เรียบร้อย แต่ Mr. Buhan บอกว่าก็ถือว่าเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ในช่วงกำลังปรับปรุงเท่านั้นเอง เห็นแบบนี้พ่อแม่ปลามังกรเงินในแต่ละบ่อก็เริ่มให้ลูกปลาได้แล้ว
151. เป็นฟาร์มปลาที่แปลกจริงๆ นะครับเพราะทั้งฟาร์มเต็มไปด้วย “กระสอบดิน” !!
152. บางกระสอบก็ได้รับความเสียหายฉีกขาด และเมื่อโดนแดด โดนฝนเข้าก็เกิดเป็นวัชพืช เป็นฟาง เป็นหญ้าขึ้นมา ดินแห้งขนาดนี้ NC. กับคุณ Top ก็ยังรู้สึกแปลกและชวนสงสัยกันอยู่ว่าดินแบบนี้จะใช้ประโยชน์ในการอุ้มน้ำของแต่ละบ่อได้คงทนยาวนานจริงหรือ ?
Note : NC. มีความลับจะบอกเพื่อนสมาชิกอย่างหนึ่งว่า “น้ำเลี้ยง” ในบ่อเพาะพันธุ์แต่ละบ่อ ทั้ง 3 ฟาร์มในสังกัด CV. Juanda Aquarium ทั้งหมดล้วนแล้วเป็นน้ำจากใต้ดิน หรือที่เราเรียกว่า “น้ำบาดาล” นะครับ => Mr. Buhan ยืนยันอย่างจริงจัง พร้อมย้ำให้เราทราบอยู่หลายครั้งว่า “เราภูมิใจที่สามารถเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าได้จากน้ำบาดาลบนเกาะของเรา” แน่นอนครับ ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ NC. เพิ่งทราบว่าน้ำบาดาลก็สามารถใช้เพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าได้เหมือนกัน
เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ก็พอแต่เพียงเท่านี้ รอบหน้าตามไปชมฟาร์มสุดท้ายพร้อมกับการ “เฉลยความลับ” ของเทคนิคที่กล่าวไว้ในภาพประกอบที่ 147 NC. ไม่ใจร้ายให้ต้องลุ้นกันนาน พรุ่งนี้จะรีบตื่นมานั่งเขียนให้อ่านกันตั้งแต่เช้าครับ