เมื่อปลาอยู่ในตู้ได้ซักพักความสกปรกก็เริ่มถามหา น้ำเริ่มขุ่น มีเศษของเสียลอยไปมาบริเวณผิวน้ำและภายในตู้ คราบขาวละมุนหรือตะไคร่เขียวขึ้นงามดุจมรกตเกาะตามตู้ ด้วยสิ่งเหล่านี้ลำพังเพียงการเปลี่ยนน้ำอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ตู้ปลาสวยงามเหมือนเดิมได้เพราะปัญหาคราบต่างๆ ที่ยังเกาะแน่นค้างตู้ก็ยังไม่ได้ถูกกำจัดไป สำหรับคราบสกปรกที่ว่านี้ใหม่ๆ จะยังไม่มีครับ แต่จะเริ่มมีก็ราวๆ 1 เดือนหลังจากนั้น วิธีแก้ไขแบบเก่าๆ ก็คือการขัดถูทำความสะอาดตู้โดยใช้ฟองน้ำหรือไม่ก็แปรงชนิดต่างๆ เข้าช่วย แต่ข้อเสียของการใช้อุปกรณ์ที่ว่าอาจสร้างความสกปรกมากขึ้นภายในตู้ปลา น้ำขุ่นคลั่ก และนอกจากนี้ยังทำความรำคาญให้ตัวปลาด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเศษฝุ่น เศษละอองและคราบสกปรกต่างๆ ที่กระจายในตู้อาจมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปตามเหงือก ปาก และตาทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอย่างเช่น โรคตาขุ่นและโรคเหงือกได้
ทางเลือกใหม่ที่สามารถช่วยลดปัญหานี้ได้ก็คือการใช้ “แปรงแม่เหล็ก” ขัดกระจกเข้าช่วย แม้เจ้าแปรงตัวนี้จะมีราคาค่อนข้างสูงอันนึงหลายร้อยบาทแต่การลงทุนครั้งนี้เพียงครั้งเดียวสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของเราได้มาก ปัญหาที่มีเพียงอย่างเดียวของอุปกรณ์ชนิดนี้ก็คือทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง ขัดได้เฉพาะเพียงด้านหน้าและด้านข้างของตู้เท่านั้น ส่วนพื้นตู้และด้านหลังไม่สามารถขัดได้ (เฉพาะในกรณีที่วางตู้ชิดกำแพง แต่ถ้าหากวางกลางบ้านจะขัดหลังตู้ได้ครับ) ในส่วนที่ไม่สามารถขัดได้อย่างพื้นตู้และหลังตู้ ผมแนะนำให้ใช้ด้ามฟองน้ำเช็ดกระจก หากด้ามยาวไม่พอให้ต่อท่อ PVC เสริมเพื่อจะได้จับเช็ดถูได้มั่นคงมากขึ้น เวลาใช้งานก็ค่อยๆ เช็ดนะครับไม่ต้องรีบ เศษฝุ่นและคราบสกปรกจะได้ไม่กระจายมาก
สำหรับแปรงขัดตู้มีข้อเสียอย่างนึงคือหากหลุดแปรงจะจมน้ำ ยิ่งถ้าหากตู้ที่ใช้อยู่เป็นตู้ลึกนี่เรื่องใหญ่น่าดูต้องลำบากไม่น้อยกว่าจะเก็บขึ้นมาได้ แต่ว่าตอนนี้ในท้องตลาดก็มีแปรงขัดกระจกรุ่นใหม่เข้ามาซึ่งเป็นรุ่นที่มีการปรับปรุงแล้วนั่นก็คือสามารถลอยน้ำได้ คือถ้าขัดๆ อยู่แล้วเผลอทำหลุดเจ้าแปรงนี้จะไม่จมน้ำแต่จะลอยขึ้นมาซึ่งทำให้การกลับมาติดเหมือนเดิมง่ายมากๆ (แต่ทว่าราคาก็สูงขึ้นไปอีก) แปรงพวกนี้ใช้แล้วแนะนำให้แปะติดตู้เลยนะครับอย่าใช้แบบเวลาจะใช้ทีค่อยหยิบมาใช้เพราะลูกๆ หรือเด็กเล็กๆ ในบ้านอาจมาหยิบจับเล่นก็ได้ อุปกรณ์ตัวนี้อันตรายมาก หากไม่ระมัดระวังโดนเข้าจะเขียวช้ำหรืออาจถึงเลือดถึงเนื้อได้เลยทีเดียว (โดยเฉพาะรุ่นสำหรับกระจก 4 หุน)
การทำความสะอาดตู้แบบขัดถูทุกซอกมุมนี้ผมขอแนะนำให้ทำซักเดือนละครั้ง หากทำถี่เกินไปก็ไม่ดีเพราะปลาจะรู้สึกไม่สบายตัว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้แล้วนานๆ ทำทีก็จะสกปรกจนน่ากลัว เอาเป็นว่าเดือนละครั้งนี่แหละครับลงตัวที่สุดแล้ว ที่สำคัญคือทุกครั้งที่มีการขัดถูก็ไม่ต้องย้ายปลาออกนอกตู้นะครับ
ถึงเวลาทำความสะอาดระบบกรอง
แม้จะมีการทำความสะอาดขัดถูตู้ปลาเป็นประจำแล้วแต่ก็ไม่วายที่น้ำก็ยังสกปรกอยู่เรื่อย แล้วที่น่าแปลกใจก็คือน้ำขุ่นสกปรกเร็วกว่าเดิมจากที่เคยใสสะอาดเป็นแรมเดือนแต่เดี๋ยวนี่เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ก็เริ่มออกอาการแล้ว น้ำไม่ใสปิ๊งสวยงามอย่างที่เคยเห็น เอ… น้ำก็เปลี่ยนแล้ว ตู้ก็ขัดแล้ว จะทำไงดีนะเพื่อให้ตู้ปลาของเรากลับมาใสสะอาดเหมือนเดิม ? เมื่อหาคำตอบของความสงสัยนั้นไม่ได้คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราต้องมาเช็คระบบกรองแล้วว่ามีต้นตอจากจุดนี้รึเปล่า ? ระบบกรองเริ่มมีการอุดตันหรือสกปรก (สุดๆ ) รึยัง ?? หากตรวจเช็คดูแล้วพบว่าสกปรกจนไม่อาจทานทนได้ก็ไม่ควรรีรอแล้วล่ะครับ เอาออกมาล้างกันเลย…
อย่างที่ผมเคยกล่าวไปแล้วถึงข้อดีและข้อเสียของระบบกรองแต่ละชนิด… ระบบกรองที่ล้างง่ายที่สุดก็คือ “กรองลูกตุ้มฟองน้ำ” เพราะเพียงแค่เอาขึ้นมาแล้วจุ่มๆ บีบล้างลงในน้ำหลายๆ ครั้งก็เป็นอันใช้ได้ (น้ำที่ล้างควรเป็นน้ำที่ถ่ายออกมาจากตู้นะครับไม่ใช่น้ำใหม่หรือน้ำปะปาเพราะหากใช้น้ำชนิดหลังอาจทำให้แบคทีเรียชนิดดีที่สั่งสมอยู่เสียหายต
ายหมดได้ สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือไม่ต้องบีบจนสุดหรือล้างซะจนสะอาดเอี่ยมเหมือนใหม่เดี๋ยวแบคทีเรียจะหายหมดเช่นกัน) ส่วนระบบกรองที่ล้างยากเป็นที่สุดก็คือ “ระบบกรองใต้พื้นทราย” จริงๆ แล้วระบบกรองชนิดนี้มักไม่ค่อยมีคนใช้กับการเลี้ยงปลามังกรนักเพราะในการล้างใหญ่แต่ละครั้งต้องล้างกันในตู้และที่สำคัญปลาก็ต้องย้ายออกด้วย… มีความเสี่ยงสูงครับ นอกจากจากนี้ยังมีระบบกรองแบบอื่นๆ อีกซึ่งผมขอแยกส่วนอธิบายกันดีกว่านะครับ เอาล่ะ ! เรามาเริ่มต้นด้วย
ระบบกรองแบบ Nanconnection ระบบกรองชนิดนี้ผมถือเป็นการกรองนอกตู้ เพียงแต่ว่าตำแหน่งการตั้งวางของมันอยู่ภายในตู้เท่านั้นเอง (อยู่ใต้ฝาหรือด้านบนของตู้) ผมขอยกตัวอย่างว่าเป็นกรองแบบ 3 ถาดนะครับ “ใยแก้ว” ที่ชั้นบนสุด… Ceramic Ring ที่ชั้นกลาง และ Substat ที่ชั้นล่างสุด เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าใยแก้วจะต้องเปลี่ยนสัปดาห์ละครั้งแต่ในส่วนของ Ceramic Ring และ Substat ให้ล้างเพียงเดือนละครั้งก็พอ วิธีล้างก็เพียงแค่โยกเขย่าวัสดุกรองนั้นลงไปในน้ำสะอาดก็พอเพื่อให้เศษของเสียชิ้นใหญ่ที่อุดตันหลุดออกไป ไม่ต้องถึงขนาดนำวัสดุกรองออกจากถาดมาล้างข้างนอก ที่สำคัญคือล้างในน้ำเปล่าก็พอไม่ต้องใช้น้ำร้อนเพื่อหวังฆ่าเชื่อโรคเพราะแบคทีเรียชนิดดีที่สะสมไว้จะตายกันหมด
แต่ถ้ากรณีที่ถาดสกปรกมากหรือมีสิ่งอุดตันที่รูระบายน้ำอันนี้ก็คงต้องเทออกมาแล้วทำการขัดถูกันหน่อย เรื่อง “ท่อ” ส่งน้ำก็สำคัญอย่ามองข้ามไปล่ะ ท่อที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเดือนๆ จะมีคราบสิ่งสกปรกติดแน่นอยู่ภายใน วิธีทำความสะอาดก็คือถอดออกมาล้าง (ทั้งท่อตั้ง ท่อแนวนอน และข้องอ) มีแปรงสีฟันเก่าๆ ซักอันจะช่วยได้มากครับ สีๆ ขัดๆ ลงไปในท่อให้ลึกที่สุดเท่าที่ทำได้จากนั้นก็เทน้ำลงไปในท่อและเคาะแรงๆ ให้คราบสกปรกออกมา ทำซัก 2 ครั้งแค่นี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยจากนั้นก็เอาไปต่อให้เข้าที่ตามเติม ส่วน Power Head 2-3 เดือนค่อยถอดออกมาล้างทีก็ได้ครับ
NOTE : หากจำนวนปลามีน้อยซึ่งอาจหมายถึงเลี้ยงปลามังกรเพียงตัวเดียว (ไม่มีเพื่อนร่วมตู้) ก็อาจยืดเวลาการทำความสะอาดระบบกรองให้นานขึ้นได้ อย่างใยแก้วที่เปลี่ยนสัปดาห์ละครั้งก็มาเป็นสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และวัสดุกรองชนิดอื่นๆ จากเดิมนำออกมาล้างเดือนละครั้งก็เป็นเดือนเว้นเดือนแทน
ระบบกรองนอกตู้ ก็คือถังกรองชนิดต่างๆ อย่างเช่น Eheim หรือ Azoo ลักษณะภายนอกของเครื่องกรองแบบนี้ดูเหมือนจะล้างยากแต่จริงๆ แล้วไม่ยากเพราะภายในถูกออกแบบให้เป็นชั้นๆ จึงง่ายต่อการเอาออกมาล้าง เวลาเอาวัสดุกรองออกมาล้างแต่ละครั้งก็แค่เขย่าๆ ในน้ำเหมือนกับวิธีด้านบน จากนั้นก็ทำความสะอาดภายในถังกรองด้วยฟองน้ำเมื่อเสร็จแล้วก็เอากลับเข้าที่เดิม สำหรับใยแก้วในระบบกรองชนิดนี้จะเปลี่ยนไม่บ่อยเหมือนระบบอื่นนะครับคือนานๆ จะเปลี่ยนครั้งแต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเดือนละ 1-2 ครั้ง
ในส่วนของสายยางหรือท่อต่างๆ หากมีคราบสกปรกภายในก็ต้องขัดออกเช่นกันซึ่งเราสามารถใช้แปรงสีฟันเก่าๆ ก็ได้แต่ข้อเสียก็คือไม่สามารถขัดได้ลึกถึงด้านในสุด จุดนี้หากมีงบประมาณเหลือพอก็สามารถซื้อหาแปรงสำหรับทำความสะอาดท่อได้โดยตรง (ราคาค่อนข้างสูงสำหรับยี่ห้อดีๆ) ข้อดีของระบบกรองนอกตู้ก็คือสามารถนำทั้งตัวเครื่องและวัสดุกรองออกมาล้างข้างนอกได้ฉะนั้นจึงไม่เป็นการรบกวนตัวปลาและไม่สร้างความสกปรกภายใน
ตู้ปลาด้วย
NOTE : สำหรับเครื่องกรองนอกรุ่นเก่าที่ยังไม่มีถาดแบ่งชั้นเก็บวัสุดกรอง (คือหมายถึงยังเป็นแบบเรียงซ้อนกันอยู่) ก่อนการจัดเรียงวัสดุกรองผมแนะนำให้บรรจุวัสดุกรองเหล่านั้นในถุงตาข่ายเพื่อที่เวลาเก็บเข้าหรือเอาออกมาล้างจะได้ง่ายขึ้น ถุงตาข่ายที่ว่านี้หาซื้อไม่ยากครับและควรเลือกใช้ที่ไม่ต้องตาถี่มากจะสามารถลดการอุดตันและช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ส่วนวัสดุกรองทีใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน (6 เดือน – 1 ปี) ก็ควรนำออกทำความสะอาดอย่างล้ำลึกบ้างโดยทำได้ 2 วิธีคือ การต้ม และ การล้างแช่ด้วยน้ำผสมเกลือเข้มข้น
ระบบกรองข้างตู้ สำหรับการล้างทำความสะอาดตู้กรองระบบนี้เรียกได้ว่ายากที่สุดในระบบกรองที่นิยมใช้กับปลามังกร ด้วยเพราะเป็นระบบการกรองที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ กรองน้ำได้สะอาดเอี่ยมมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อถึงเวลาทำความสะอาดก็ “อ่วม” ล่ะครับงานนี้ โดยปกติกรองข้างตู้จะมีชั้นกรองประมาณ 3 ชั้นและส่วนของ Power Head จะแยกออกไป (ในกรณีที่ Power Head อยู่ในส่วนเดียวกันก็จะยิ่งล้างยาก) ก่อนการล้างก็ควรลดน้ำในตู้ลงให้ต่ำกว่าหวีรองน้ำ (ถ้าจะให้ปลอดภัยควรลดมาซัก 1/3 ของตู้) เพื่อไม่ให้เศษคราบสิ่งปรกเล็ดลอดเข้าไปในตู้ได้ การทำความสะอาดระบบกรองชนิดนี้ต้องนำวัสดุออกมาล้างข้างนอกโดยเริ่มจากการเปลี่ยน “ใยแก้ว” ก่อน… ให้เอาอันเก่าทิ้งไป จากนั้นค่อยเอาวัสดุกรองที่เหลือออกมาล้างซึ่งโดยมากมักจะเป็น Bio Ball ปะการัง คาร์บอน ฯลฯ วัสดุกรองแต่ละชนิดควรแยกถังใส่ไว้ต่างหากไม่ให้ปะปนกัน เมื่อเอาวัสดุกรองออกมาหมดแล้วจึงค่อยทำการล้างตู้กรอง ใช้ฟองน้ำในการขัดล้างเพื่อสามารถเก็บคราบสิ่งปกสกปรกได้หมดจด ล้างๆ ขัดๆ จนเมื่อมั่นใจว่าสะอาดแล้วจึงค่อยเติมน้ำเข้าไปเพื่อล้างคราบเกาะติดอีกครั้งแล้วจึงดูดน้ำออก พอเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ล้างวัสดุกรองที่เหลือทุกอย่างให้สะอาดแล้วจึงนำเข้าจัดเรียงให้เหมือนเดิม
ระบบกรองใต้ตู้ ระบบกรองขนาดใหญ่นี้ดูแล้วเหมือนว่าจะล้างทำความสะอาดได้ยากที่สุดแต่จริงๆ แล้วง่ายมากครับ อันดับแรกเลยก็ปิด Power Head เมื่อปิดได้ซักพักน้ำภายน้ำตู้จะลดลดเหลือเพียงขอบหวีกั้นน้ำ (หรือจะถ่ายออกให้เหลือ 1/3 ของตู้คล้ายการล้างในระบบกรองข้างตู้เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้นก็ได้ครับ) เมื่อมั่นใจได้ว่าน้ำในตู้จะไม่ไหลลงมาที่ตู้กรองด้านล่างอีกแค่นี้เราก็เริ่มทำการล้างระบบกรองได้เลย ระบบกรองใต้ตู้ส่วนใหญ่วัสดุกรองที่ใช้จะมีการจัดวางไว้แยกส่วนของใครของมันตามช่องไม่ปะปนกัน Bio Ball ก็ช่องนึง ใยแก้วก็ช่องนึง ปะการังก็ช่องนึง เพราะฉะนั้นจึ่งง่ายต่อการทำความสะอาด ในส่วนของ Bioball ควรจะเอาออกมาล้างข้างนอกทั้งหมด (วิธีล้างก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นคือล้างเบาๆ ให้สิ่งสกปรกที่อุดตันอยู่หลุดออกก็พอ ไม่ต้องขัดถูจนสะอาดเอี่ยม) เปลี่ยนใยแก้วเป็นชุดใหม่
ในกรณีที่ใช้ปะการังหรือกรวดหินกรองชนิดอื่นๆ (รวมทั้ง Ceramic Ring และ Substat) จำนวนมากๆ หายสิบกิโลเป็นวัสดุกรอง ไม่จำเป็นต้องนำออกมาล้างข้างนอกครับแต่ให้ใช้วิธีล้างในตู้กรองเลยโดยวิธีง่ายๆ เหมือนเดิมคือเขย่าล้างภายในตู้ และแน่นอนว่าเมื่อทำแบบนั้นน้ำในตู้กรองย่อมสกปรกแน่ๆ (แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจไปนะครับเพราะไม่มีผลกับน้ำในตู้เลี้ยง) เราก็เพียงแค่ดูดออกแล้วก็เติมน้ำเข้าไปใหม่ แต่ก่อนที่จะเติมน้ำก็อย่าลืมขัดถูตู้ให้เอี่ยมแล้วจัดเรียงวัสดุตามเดิมด้วย และถ้าเติมน้ำใหม่แล้วน้ำในตู้กรองยังไม่สะอาดถึงขั้นพอใจก็ดูดออกแล้วเติมใหม่ได้ ทำหลายๆ รอบจนกว่าจะลงตัว เมื่อสะอาดใสสมใจแล้วก็ให้เติมน้ำในตู้จนได้ระดับแล้วเปิด Power Head ให้ทำงานเหมือนเดิมก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย