ใบเซอร์ (Certificate of Guarantee) คือใบรับรองตัวปลาว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ? มาจากที่ไหน ? และฟาร์มใดเป็นผู้เพาะพันธุ์ ? นอกจากนี้ในใบเซอร์ยังระบุรหัสของปลาด้วยซึ่งจะต้องตรงกับหมายเลข Chip ภายในตัวปลาเพื่อให้แน่ใจว่าปลาตัวนั้นกับใบรับรองเป็นปลาตัวเดียวกัน ลักษณะของใบเซอร์ที่สมบูรณ์นอกจากจะระบุที่มาต่างๆ ของตัวปลาแล้วยังมีต้องมีวันที่ออกใบรับรอง (ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นวันเดียวกับที่ฝังชิบ) หมายเลขใบเซอร์ ตราประทับและลายเซ็นรับรองของผู้มีอำนาจซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าของฟาร์ม ใบรับรองสายพันธุ์มี 4 ชนิดคือ
1. ใบรับรองจากฟาร์มโดยตรง ดังตัวอย่างที่กล่าวไปด้านบน ตัวอย่างเช่น ใบเซอร์จากฟาร์มเซี่ยนเหล็ง และกิมกัง
2. ใบรับรองจากตัวแทน ไม่ได้เพาะพันธุ์เองแต่ทำหน้าที่ไปคัดเลือกซื้อปลาจากที่ต่างๆ แล้วออกใบระบุสายพันธุ์เอง ตัวอย่างเช่น ใบเซอร์ของฟาร์ม Wan Hu
3. ใบเซอร์ร่วม เป็นใบเซอร์ที่ออกร่วมกันระหว่างผู้นำเข้าและเจ้าของฟาร์ม ตัวอย่างเช่นใบเซอร์ของ AF Farm ที่ร่วมกันกันทำขึ้นระหว่าง Grand กับฟาร์มกิมกัง
4. ใบเซอร์ร้าน เป็นใบเซอร์ที่ออกโดยร้านค้าที่นำปลาเข้ามาจำหน่ายอย่างเช่นใบเซอร์จากร้าน Max และ ร้าน Arowana King ใบรับรองชนิดนี้เป็นตัวรับรองว่าผู้ซื้อได้ซื้อปลาไปจากร้านนั้นจริง และทางร้านก็แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในกรณีที่ปลามีปัญหาอย่างเช่น เลี้ยงไปแล้วกลับกลายเป็นผิดสายพันธุ์ หรือไม่ได้ความสวยงามตรงตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามใบเซอร์ร้านเป็นเพียงเอกสารรับรองระหว่างผู้ซื้อกับร้านเท่านั้น เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่างในใบรับรองอาจไม่สมบูรณ์ชัดเจนอย่างของจากทางฟาร์มเพาะพันธุ์โดยตรง
ตอนที่ผมเริ่มเลี้ยงปลามังกรใหม่ๆ เมื่อราว 8 ปีก่อน ใบเซอร์ก็เริ่มมีเข้ามาแล้วแต่ยังไม่สำคัญนัก เพราะเหล่านักเลี้ยงหลายคนที่เลี้ยงปลาชนิดนี้มานานยังเชื่อว่าปลาที่ไม่มีใบเซอร์เป็นปลาแหล่งน้ำ (ที่เรียกว่า “ปลาป่า” ) จะสวยงามกว่าที่มีใบเซอร์ซึ่งเป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ในฟาร์ม ผมเองก็คิดเช่นนั้นเพราะฉะนั้นปลาตัวแรกๆ ของผมจึงเป็นปลาธรรมดาๆ ไม่มีใบรับรองอะไร (แต่เท่าที่เลี้ยงมาปลาที่ไม่เซอร์ของผมก็สวยทุกตัวนะครับ) ที่สำคัญคือช่วงนั้นปลาที่ใบเซอร์รับรองราคาจะสูงกว่าตัวที่ไม่มีมากครับ
แต่ในปัจจุบันร้านค้าปลามังกรมีในตลาดมีมากขึ้นและมีทั้งดีและไม่ดี ร้านที่ดีก็เอาปลาที่มีคุณภาพมาขายอย่างถูกต้องตามสายพันธุ์ ขายทองอินโดก็บอกทองอินโด ขายปลาแดงก็บอกปลาแดง ส่วนร้านที่ไม่ดีก็พวกที่หลอกลวงผู้ซื้อผู้บริโภคโดยการหลอกขายผิดสายพันธุ์อย่างเอาทองอ่อนสวยๆ มาขายเป็นทองอินโด หรือไม่ก็เอาแดง Grade B สีเข้มๆ มาขายเป็นปลาแดง เอาทองอินโดฟอร์มดีสีสวยๆ เกล็ดเปิดสูงๆ มาขายเป็นมาเลย์ และยังอีกสารพัดวิธีในการลวงผู้ซื้อ… “ปลาตัวนี้โตขึ้นมาสีจะสวย ทองเข้มเชียว ส่วนปลาแดงก็แดงแป๊ดสีสดอย่างที่เห็นในรูป” หรือแบบที่ว่าโตขึ้นมาแล้วเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทั้งที่มองๆ ดูแววปลาแล้วห่างชั้นกับความเป็นจริงมาก
ฉะนั้นสิ่งที่พอจะช่วยให้ผู้ชื้อทั้งมือเก่าและมือใหม่รู้สึกมั่นใจและสบายใจขึ้นก็คือ การเลือกซื้อปลาที่มีใบเซอร์รับรองสายพันธุ์เพราะสิ่งนี้จะระบุชี้ชัดเลยว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ? มาจากไหน ? ใบเซอร์นอกจากจะช่วยให้เรามั่นใจได้แล้วว่าปลาที่ได้มาถูกต้องตรงตามสายพันธุ์ ก็ยังมีข้อดีอีกหลายอย่างนะครับอย่างในเรื่องของการขายปลาออกเวลาที่รู้สึกเบื่อ ต้องการเปลี่ยนไปเลี้ยงตัวใหม่หรืออัพเกรดไปเลี้ยงสายพันธุ์อื่นในระดับที่สูงขึ้น ปลาที่มีใบรับรองส่วนใหญ่จะขายออกง่ายกว่าปลาที่ไม่มีใบนะครับ เนื่องจากผู้ซื้อเชื่อถือในที่มาที่ไปของตัวปลา และที่สำคัญปลาเหล่านี้เป็น ปลาที่ถูกนำเข้ามาและเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมายและยังสามารถทำใบเคลื่อนที่และใบครอบครองได้ (เราจะได้เลี้ยงสบายใจไม่มีใครมารบกวน) ในขณะที่ปลาป่าหรือปลาที่ไม่มี Chip จะไม่สามารถทำใบครอบครองได้
ข้อมูลในส่วนนี้ผมไม่ได้ต้องการแนะนำให้ใครไปซื้อปลาที่มีใบเซอร์นะครับ เพียงแต่ต้องการชี้เหตุผลข้อดีและข้อเสียของปลาที่มีใบรับรองเหล่านั้นให้ผู้อ่านได้เห็นและเปรียบเทียบความแตกต่าง สายพันธุ์ปลาที่มีใบเซอร์รับรองเท่าที่เห็นในท้องตลาดก็มี มังกรเขียว Red B ทองอินโด มังกรแดง และทองมาเลย์ (ใบเซอร์ปลาแดงเกรด A จะระบุไว้เป็น “Super Red” ในขณะที่ Red B จะระบุเป็น “Red Arowana” ตรงนี้สำคัญมาก… อย่าได้ลืมเชียว) ส่วนที่ไม่มีก็คือปลามังกรเงิน ปลามังกรดำ ปลามังกรออสเตรเลีย ปลาทองอ่อน เพราะทั้งหมดนี้ไม่ติด Cites
ขอแถมนิดนึงนะครับ ปลาที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก็มีที่มาหลายฟาร์มตัวอย่างเช่น ฟาร์มเซี่ยนเหล็ง (Xian Leng) ฟาร์มเซี่ยนหลง (Sianlon) ฟาร์มกิมกัง (Kim Kung) ฟาร์มคิงคอง (King Kong) ฟาร์มแพนด้า (Panda) ฟาร์มว่านหู (Wan Hu) ฟาร์ม Dream Fish และ Lake Ocean ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นฟาร์มจากประเทศมาเลย์และสิงคโปร์ ส่วนที่มาจากอินโดตอนนี้ก็มีเข้ามาบ้างแล้วโดยเฉพาะปลาสายพันธ์สีแดง เช่น ฟาร์มยูกิ (Yuki Red) ฟาร์มเอลคินโด (Elkindo) ฟาร์มอิสตาน่า (Istana) ฟาร์มกาลิมันตัน (Kalimantan) ฟาร์มอัมบาวัง (Ambawang) และอีกมากมาย ตอนที่ซื้อก็อย่าลืมตรวจสอบใบเซอร์กันด้วย ถ้าเป็นของจริงของแท้ ใบเซอร์จะออกมาสวย ดูดี และที่สำคัญจะต้องมีปั๊มนูนสัญลักษณ์ของฟาร์มเป็นประกัน ใบเซอร์เดี๋ยวนี้ก็ปลอมลอกเลียนแบบกันได้
NOTE : การซื้อปลาที่ใบเซอร์ทุกครั้งควรให้ผู้ขายสแกนชิบให้ดูก่อนว่าตรงกับตัวเลขที่ปรากฏในใบเซอร์หรือไม่ ? ถ้าตรงกันก็ไม่มีปัญหาหิ้วปลากลับบ้านได้เลย แต่ถ้าหากว่าไม่ตรงกันก็ต้องเคลียกับทางร้านให้จบก่อนไม่เช่นกันอาจมีปัญหาที่ตามมาได้
=> กรณีศึกษาเกี่ยวกับการฝัง Microchip ในปลามังกร Click ชมได้ที่นี่ครับ
http://www.aro4u.com/forums/index.php?show…75&hl=การฝังชิพ