น้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาควรเป็นน้ำที่ขังทิ้งไว้แล้วซึ่งปราศจากคลอรีน ปลามังกรเป็นปลาที่ไวต่อคลอรีนมากซึ่งจะมีผลทำให้ซึมและอาจถึงช๊อกน้ำตายได้ เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก็ควรจะมีถังรองน้ำซักใบเพื่อกักน้ำไว้ในการเติมหรือเปลี่ยนน้ำปลา แต่ก็มีนักเลี้ยงมือใหม่หลายท่านที่นิยมใช้น้ำใหม่จากก๊อกเลยแล้วค่อยใส่น้ำยาปรับสภาพน้ำหรือยาฆ่าคลอลีนตามลงไป ยังไงก็ตามผมก็ยังมองว่าวิธีนี้ก็ยังอันตรายอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เติมน้ำเต็มตู้ครั้งแรกซึ่งมีปริมาณมากและเป็นน้ำใหม่ทั้งหมด หากคุณภาพน้ำไม่ดีพอหรือยังมีสารพิษตกค้าง คลอลีนยังระเหยไปไม่หมดก็อาจจะเกิดโศกนาฏกรรมที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นได้…
ปัจจุบันมี เครื่องกรองน้ำ ออกมาจำหน่ายเพื่อใช้ในการกรองน้ำปลาโดยเฉพาะ ไส้กรองข้างในจะเป็นถ่านคาร์บอนล้วนๆ ซึ่งช่วยในการกำจัดคลอรีน สารแขวนลอย และสิ่งสกปรกอื่นๆ อุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับนักเลี้ยงปลาได้ดีมากครับซึ่งก็ใช้งานง่ายโดยการต่อสายยางเข้ากับก๊อกน้ำโดยตรงแล้วต่อสายอีกเส้นส่งน้
ำเข้าตู้ปลา หมดปัญหาเรื่องการเตรียมเนื้อที่สำหรับถังน้ำใบใหญ่เพื่อกักรองน้ำและหมดความกังวลเรื่องคลอลีนที่มาจากน้ำก๊อก แต่ราคาเจ้าเครื่องกรองตัวนี้ก็สูงเอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะครับ คือตัวใหญ่จะอยู่ที่ราคา 4,xxx บาท ขนาดกลางก็ 3,xxx และขนาดเล็กก็ 2,xxx บาท หรือถ้าต้องการให้สะดวกสบาย ไม่ต้องต่อท่อ เติมน้ำให้ยุ่งยาก ก็หาน้ำยาปรับสภาพน้ำดีๆ มาช่วยแก้ปัญหาแทน (ซึ่งส่วนตัวผมใช้ Aqua Safe ของ Tetra) ตัวช่วยทั้ง 2 ชนิดนี้อาจจะมีราคาสูงหน่อย ยังไงถ้าคิดจะเลี้ยงนานๆ ลงทุนเพิ่มอีกซักนิดเพื่อความปลอดภัยสบายใจก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่จริงมั้ยครับ
… มาถึงการเลี้ยงจริง การเปลี่ยนน้ำปลาก็ไม่ควรที่จะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเพราะอาจทำให้ปลาบอบช้ำและช๊อกน้ำถึงตายได้ แต่ควรใช้วิธีถ่ายน้ำออกสัปดาห์ละครั้งๆ ละประมาณ 1/4 หรือ 25 % ของตู้สำหรับปลาเล็ก และเดือนละ 2 ครั้งละ 1 ใน 3 ของตู้สำหรับปลาใหญ่เกิน 15 นิ้วขึ้นไป (ในกรณีที่ตู้มีขนาดใหญ่และมีระบบกรองที่ดีก็ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยก็ได้ ให้ลดเหลือเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้งก็พอ) การเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอในปลาเล็กจะทำให้ปลาเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ทำให้ปลามีสุขภาพดี แข็งแรง คึกคัก กินดี Active ไม่เครียดและที่สำคัญยังคงค่า pH และช่วยลดแอมโมเนียหรือของเสียอื่นๆ อีกด้วย
NOTE : ค่า pH หรือที่เรียกว่า “ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง” ที่เหมาะสมกับปลามังกรจะอยู่ในช่วง 6.0-7.0 โดยค่า pH ที่สูงเกินไปจะมีค่าเป็นด่างทำให้น้ำกระด้าง ปลาไม่ค่อยชอบ สีสันจะไม่ดี จืดชืด ไม่สวยงาม โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนน้ำใหม่ 100% และการเลือกใช้ “ปะการัง” เป็นวัสดุกรองในช่วงแรกๆ แต่หากว่าค่า pH ต่ำเกินไปก็จะเป็นกรด จุดนี้ทำให้ปลาเป็นโรคง่ายและเชื้อโรคเพาะตัวได้ดีซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการหมักหมมของน้ำมานาน ไม่มีการดูแลใส่ใจทำความสะอาดเมื่อของเสียสะสมนานเข้าก็แปรสภาพเป็นกรดขึ้น ในกรณีที่ปลามีอาการบาดเจ็บหรือมีบาดแผลจะหายยากมาก
Case Study เกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำตู้ปลานะครับ (ขอฝากให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านซักนิด)
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=8013
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=8021
*** แถมนิดหน่อยสำหรับ หลักการคำนวนปริมาตราน้ำภายในตู้ คำนวนได้โดย
= (ความยาวของตู้ x ความกว้างของตู้ x ความสูงของตู้) X 0.016 = จำนวนลิตร
ตัวอย่างเช่น ขนาดตู้ 60"x30"x30" จะมีปริมาณน้ำเท่ากับ = (60 x 30 x 30) x 0.016 = 864 ลิตรครับ
ตู้ปลา… กับการจัดวาง
เพื่อนๆ ผู้อ่านเคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมตามร้านขายปลามังกรทั่วๆ ไปมักจะนิยมเลี้ยงในตู้เปลือย ไม่มีหิน ไม่มีก้อนกรวด ไม่มีพันธุ์ไม้น้ำ ไม่มีอุปกรณ์ตบแต่งตู้ใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นตัวปลา ออกซิเจนและระบบกรองน้ำ… เมื่อก่อนนี้ผมก็เคยสงสัยเลยถามเขาว่าเพราะอะไรปลามังกรถึงต้องเลี้ยงในตู้เปลือย ? ผู้ขายก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ บอกแบบข้างๆ คูๆ ว่าทำความสะอาดง่ายมั่ง จับปลาได้ง่ายมั่ง ประหยัดพื้นที่ตู้มั่ง อะไรต่ออะไรหลายเหตุผล ใจเราก็อยากจะเลี้ยงในตู้สวยๆ มีหินมีกรวดประดับประดาให้มีสีสันหน่อยตู้ปลาจะได้ดูดีมีชีวิตชีวา
และจากการเก็บข้อมูล ศึกษาจากร้านค้า โลกอินเตอร์เนท พรรคพวกเพื่อนฝูงก็พอจะสรุปได้ว่าที่นักเลี้ยงส่วนใหญ่ไม่นิยมจัดแต่งตู้ให้สวยงามนั่นก็เพราะสามารถดูความสวยงามของปลาได้เต็มที่ (ไม่มีอะไรมาเกะกะลูกตา) ถึงเวลาทำความสะอาดก็ง่ายแค่เพียงดูดของเสียขี้ปลาที่พื้นตู้ออกก็เรียบร้อย นอกจากนี้ยังสามารถใช้พื้นที่ใช้สอยได้เต็มที่อีกด้วย ปลาว่ายได้ทั่วตู้ไม่ว่าจะมุมไหนส่วนไหนก็สบายตัวไปหมด ส่วนตู้ที่มีการจัดแต่งอย่างสวยงาม ก้อนกรวด หิน ดิน ทรายที่อยู่พื้นน้ำอาจสร้างรอยขีดข่วนทำให้เกล็ดของปลาเป็นรอยและเสียรูปไป หรืออาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเวลามันฉกกินอาหารเช่นปากแตก หน้าแหก หัวถลอก เพราะปลาพวกนี้เวลากินเหยื่อมักจะทุ่มสุดตัวและพุ่งกินรุนแรงถ้าเป็นพวกแมลงอย่างหนอนหกหรือจิ้งหรีดก็ดีหน่อยเพราะอยู่บนผิวน้ำไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นพวกลูกปลาและกุ้งฝอยที่หลบอยู่ตามพื้นหินพื้นทรายแล้วเวลาที่ปลาโฉบกินอาจพลาดเป้าไปงับเอาหินเข้าทำให้ปลามังกรบาดเจ็บ ยิ่งไปกว่านั้นหากไม่แก้ไขนานไปอาจทำให้ปากถึงกับเสียรูปได้ ส่วนต้นไม้น้ำก็เช่นกันสามารถสร้างรอยขีดข่วนได้และถ้าเป็นขอนใหญ่ๆ ก็จะให้เนื้อที่ในการว่ายมีน้อยลงและยังเป็นที่หลบซ่อนของปลาเหยื่อทั้งหลายอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดแต่งตู้ให้สวยงามไม่ได้นะครับ… ว่าแต่จะทำไงดีล่ะ ??? ผมมีวิธีให้ก็คือสำหรับระบบกรองใต้พื้นทรายธรรมดาท่อออกซิเจนที่ยาวเราก็ตัดซะให้สั้น (ต่อหัวต่อหางแล้วยาวประมาณ 2 นิ้วก็พอแล้ว) สิ่งนี้ต้องมีเพราะปลาชนิดนี้ขาดออกซิเจนไม่ได้ ชนิดของหินที่ใช้ก็เปลี่ยนจากหินเกล็ดมาเป็นกรวดกลมเบอร์ใหญ่โดยแนะนำให้ใช้กรวดแม่น้ำ (อย่าใช้หินทะเลเพราะจะทำให้น้ำมีค่าเป็นด่าง) และงดการใช้หินใหญ่หรือขอนไม้ที่มีขนาดใหญ่เกินไปจัดแต่งตู้จะได้ลดโอกาสในการสร้างบาดแผลให้กับปลา แม้ว่าปลามังกรจะมีนิสัยว่ายผิวน้ำแต่ก็ไม่อยากให้มองข้ามไปเพราะความเสี่ยงที่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว… การเลี้ยงปลามังกรให้สวยงามและสมบูรณ์จริงๆ ผมแนะนำให้เลี้ยงในตู้เปลือยดีกว่าเพราะปลาจะได้มีเนื้อที่ว่ายได้เต็มที่ โตเร็ว ไม่เครียด และที่สำคัญยังช่วยลดโอกาสที่จะเกิดบาดแผลหรือความเจ็บป่วยๆ อื่นๆ ได้ด้วย สำหรับสภาพแวดล้อมหากจัดให้ออกมืดๆ นิดๆ จะทำให้ปลามีสันที่ดีขึ้นครับเช่นติดสติกเกอร์สีดำเป็นฉากหลังและพื้นล่างของตู้แล้วจัดไฟในตู้เพิ่มขึ้น มีหลอดไฟใต้น้ำซักหลอดแล้วก็ขอนไม้น้ำสวยๆ ไม่ต้องใหญ่ซักอัน… แค่นี้ตู้ปลามังกรของคุณก็สวยไม่แพ้ใครแล้วล่ะครับ
=> กรณีศึกษาเกี่ยวกับตู้ปลากับต้นไม้น้ำนะครับ
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=3756