เอาล่ะครับ หลังจากที่ได้ชมระบบกรองถาดแบบใต้น้ำในแบบ Nanconnection เวอร์ชั่นแรกไปแล้ว ต่อไปก็มาถึงระบบกรองถาดแบบเหนือน้ำบ้าง จริงๆ แล้วผู้ที่เลี้ยงปลามานานผมว่าต้องมีความรู้เรื่องแบบนี้เป็นอย่างดีเพราะเห็นจากร้านปลาหลายๆ ร้านดัดแปลงใช้กันและหลายคนก็คงเคยประดิษฐ์ใช้เองกันมาแล้ว อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน แบบว่าเทคนิคใครก็เทคนิคมัน แน่นอนครับ หลังจากที่ได้ทดลองใช้เองและแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ลองใช้ ผมก็มั่นใจว่าระบบกรองชนิดนี้เข้าท่าเลยทีเดียว มีข้อดีหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “ทำง่าย” ”มีประสิทธิภาพ” และ ”ถูกสตางค์” ก็เลยขอหยิบยกมาลงที่นี่ด้วยเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ คนอื่น (โดยเฉพาะสำหรับคนงบน้อย)
ก่อนที่จะเลือกใช้ระบบกรองชนิดนี้ผมอยากให้ทราบถึงข้อจำกัดก่อนว่าระบบกรองขนิดนี้เหมาะสำหรับตู้ที่มีขนาดไม่เกิน 60”x24”x24” เพราะหากใหญ่กว่านี้จะทำให้กรองได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเหมาะกับตู้ที่เลี้ยงปลามังกรเพียงตัวเดียวหรือถ้ามีเพื่อนร่วมตู้ก็ขอแนะนำให้เป็นประเภทเกื้อกูลกันอย่างเช่น ปลาตระกูลตะเพียน ปลาสายน้ำผึ้ง หรือปลานกแก้ว เพราะปลาเหล่านี้จะช่วยเก็บเศษซากจากเหยื่อที่ปลามังกรกินเหลือหรือช่วยในการทำความสะอาดตู้ แต่ถ้าเป็น Tankmate สวยงามอื่นๆ แล้วยิ่งประเภทกินเนื้ออย่างปลาเสือตอ ปลากระเบน จะมีของเสียมาก ระบบกรองนี้เอาไม่อยู่ครับต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นแทน
แล้วท้ายสุดก็คือต้องเติมน้ำเต็มตู้นะครับเพราะหากเติมไม่เต็ม เติมแค่ครึ่งตู้ ค่อนตู้ น้ำที่ไหลจากระบบกรองลงมาจะกระฉอกทำให้เกิดเสียงดังน่ารำคาญแล้วยังสร้างรอยคราบน้ำในตู้ให้เกิดภาพที่ไม่สวยงามด้วย (ขัดออกก็ลำบาก) หากไม่มีปัญหากับ 3 ข้อจำกัดที่ผมกล่าวไปก็สบายใจได้ ผมขอยกตัวอย่างการใช้ระบบกรองชนิดนี้กับตู้ขนาด 60”x20”x20” นะครับ เอาล่ะ ! ไปเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันเลย
เครื่องพ่น (Power Head) จำเป็นต้องใช้ 2 ตัว (งบประมาณราวๆ 400 บาท) โดยตัวนึงทำหน้าที่พ่นน้ำภายในตู้ และอีกตัวนึงทำหน้าที่เป็นตัวดูดน้ำภายในตู้ขึ้นไปกรองด้านบน สำหรับขนาดตู้ที่ผมยกตัวอย่างนั้น Power Head ที่ใช้ทำหน้าที่ “ดูด” ขนาดเหมาะสมคือแรงพ่น 1,000 ลิตร/ชม. เต็มที่ไม่เกิน 1,400 ลิตร/ชม. เพราะถ้าหากแรงเกินไปน้ำที่ดูดออกมาผ่านท่อจะพุ่งเกินถาดไปทำให้เลอะขอบตู้หรือล้นถาดออกมาท่วมข้างนอกได้
ส่วนตัวที่ทำหน้าที่ “พ่น” น้ำภายในตู้ให้ใช้ประมาณ 900 ลิตร/ชม. หากแรงเกินไปปลาจะรับไม่ไหว… ปลาตัวไหนว่ายเข้ามาใกล้ๆ จะโดนพ่นจนกระเด็นลอยละลิ่วปลิวละล่องไปเลย ตำแหน่งการติดตั้ง “ตัวพ่น” ให้ติดที่ด้านตรงข้ามกับ ”ตัวดูด” และติดบริเวณพื้นตู้ จุดประสงค์ที่ต้องมีเจ้าตัวนี้ก็เพื่อให้พัดพาเศษสิ่งสกปรกจากทั่วทั้งตู้ไปที่ฝั่งตัวดูด ระบบกรองจะได้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ (หากมีตัวดูดตัวเดียว ตู้อาจจะสะอาดแค่ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งสกปรกครับ ฉะนั้นจึงต้องมีตัวพ่นอีกตัวเพื่อให้น้ำไหลวนได้ทั่วถึง)
ถาดกรอง (Tray) เลือกใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกชนิดแข็งหน่อยและสามารถเจาะรูได้ ยิ่งถ้าถูกออกแบบให้วางซ้อนกันได้จะดีมากเพราะดูสวยงามและเป็นระบบ การเลือก “ขนาด” ของถาดกรองต้องคำนึงจากความกว้างของตู้เป็นสำคัญเพราะหากถาดที่เตรียมไว้ใหญ่เกินไปจะทำให้ติดในส่วนของกรอบกั้นหลอดไฟทำให้ปิดฝาไม่ได้ ส่วนจำนวนของถาดกรองที่จะใช้ต้องคำนึงความสูงของฝาตู้เป็นหลัก ยิ่งต่อถาดกรองได้มากชั้นเท่าไหร่ระบบกรองจะยิ่งสมบูรณ์ขึ้น (เพื่อการกรองอย่างมีประสิทธิภาพอย่างน้อยที่สุดก็ควร 2 ชั้น ถาดนึงใส่ใยแก้ว อีกถาดใส่ Ceramic Ring กับ Substat หรือปะการังก็ได้) ตู้ที่มีฝาแบบสี่เหลี่ยมหมดจะได้เปรียบกว่าฝาที่เป็นแบบ Slope เพราะจะสามารถซ้อนถาดได้มากชั้นกว่า ถาดชั้นบนสุดบริเวณขอบด้านบนให้เลื่อยเซาะเป็นล่องเล็กๆ ตรงกลางเพื่อเป็นข้อล๊อกท่อ PVC ไม่ให้เลื่อนไปมา หากไม่มีข้อล๊อกจะเสี่ยงต่อการผิดทิศทางของน้ำ ผลคือน้ำอาจจะไม่ลงถาดกรองแต่จะไปลงที่อื่นแทน… น้ำอาจจะล้นออกมาด้านนอกได้
ตระแกรงรองก้น ใช้เฉพาะในถาดบนสุดที่ใส่ใยแก้วเท่านั้นโดยตัดตระแกรงเหล็กให้มีความสูงซัก 1 ซม. ให้พอดีกับถาด ตระแกรงนี้จะช่วยให้การระบายน้ำในถาดแรกดีขึ้นเพราะถ้าหากว่าไม่มีตระแกรงรองก้นแล้ว ในกรณีที่ใยแก้วเริ่มตันจะทำให้ระบายน้ำได้ยาก แล้วระบบกรองจะเสียประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำอาจล้นถาดกรองได้ ในกรณีที่ไม่สะดวกซื้อหาซื้อตระแกรงเหล็กก็จะใช้เป็นแผ่น Jigsaw กรองใต้กรวดก็ได้ครับ ขนาดกำลังได้ส่วนเลยทีเดียว ที่สำคัญคือสั้นหรือยาวไปก็สามารถเลื่อยออกปรับขนาดได้
ท่อ PVC สัดส่วนความสั้นยาวของท่อก็ดูจากความยาวและสูงของตู้เป็นหลัก… ท่อ PVC ใช่เพียงแค่ 2 เส้นเท่านั้นและการเลือกซื้อขนาดท่อให้เหมาะสมอยู่ที่เครื่องพ่น ฉะนั้นเวลาจะซื้อท่อให้เอาเครื่องพ่นไปวัดด้วย วัดขนาดท่อให้ครอบปากท่อพ่นให้พอดี ถ้าไม่พอดีเช่นใหญ่กว่าหน่อยก็ใช้เทปพันสายพันช่วยได้ หรือถ้าเล็กกว่านิดนึงก็ใช้ไฟลนที่ท่อเพื่อเพิ่มขนาดได้เช่นกัน แล้วก็อย่าลืมเลือกใช้ท่อชนิดที่แข็งแรงหน่อยนะครับจะได้ใช้ได้นานๆ
ข้อโค้ง ใช้แค่ 1 อันก็พอ ใช้เพื่อเป็นประสานท่อทั้ง 2 เส้น
สว่าน ใช้เพื่อเจาะรูถาดกรอง สำหรับการเจาะผมแนะนำให้ใช้หัวสว่านขนาด 2–2.5 หุน เพราะรูที่ได้สามารถระบายน้ำได้ดี ไม่ตันเร็วและยังป้องกันเศษวัสดุกรองหลุดล่วงเล็ดลอดลงไปยังตู้ได้ สำหรับถาดที่ใช้ใส่ใยแก้วจำเป็นต้องเจาะรูแบบกระจายให้ทั่วถึงทั้งถาด โดยแบ่งระยะให้พอดีเพื่อให้น้ำไหลระบายไปยังถาดต่อไปได้เต็มพื้นที่วัสดุกรอง ส่วนชั้นต่อไป (ในกรณีที่มี 2 ชั้น) ให้เจาะรูเป็นกลุ่มตรงกลางถาดลงถี่ๆ จำนวนมากๆ หรือจะเป็นแบบรูเดี่ยวแต่ใหญ่หน่อยก็ได้เพื่อให้น้ำไหลระบายพร้อมกันทางเดียว แต่ถ้ากรณีที่ใช้ถาดเกิน 2 ชั้นเฉพาะ “ถาดล่างสุด” ที่ใช้การเจาะแบบกลุ่ม นอกนั้นถาดข้างบนก่อนหน้าทั้งหมดให้เจาะรูเป็นแบบกระจายเพื่อจะได้ระบายน้ำผ่านวัสดุกรองได้เต็มพื้นที่ทุกๆ ชั้นไงล่ะครับ
วัสดุกรอง ก็มีใยแก้ว มีปะการัง มีใบโอบอล ฟองน้ำ มี Substat และ Ceramic Ring จุดนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความเหมาะสมกับตัวปลาและความชอบของแต่ละคน
กระจกคานรองถาด มีไว้สำหรับรองถาดกรอง ใช้กระจก 2 หุนก็พอกว้างซัก 2–2.5 นิ้ว ส่วนความยาวก็ให้เอาความกว้างของตู้ไปลบซักครึ่งนิ้วจะได้ไม่ติดขอบฝา เช่นตัวอย่างตู้นี้กว้าง 20 นิ้ว ความยาวกระจกคานแค่ 19.5 นิ้วก็พอครับและที่สำคัญคือต้องใช้ 2 ชิ้นเพื่อจะได้สมดุลย์กัน
เอาล่ะครับ แค่เตรียมวัสดุเพียงเท่านี้แล้วก็ดูรูปประกอบตามก็สามารถทำได้แล้ว… เป็นไงครับกับระบบกรองของผม กรองง่ายๆ แบบ Nanconnection ทั้ง 2 เวอร์ชั่น => ง่ายสมชื่อ ราคาถูกสมใจ และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ