ระบบกรอง เป็นสิ่งที่สำคัญมากในตู้ปลาเพราะช่วยกำจัดของเสียภายในตู้ปลาและยังบำบัดน้ำให้ใสสะอาดมีคุณภาพดีทำให้ตู้ปลาน่ามองอยู่เสมอ ตู้ปลาที่ไร้ระบบกรอง น้ำมีสีเหลืองขุ่นคลั่ก ตะไคร่น้ำสีเขียวคล้ำเกาะทั่วตู้ มองไปที่ไหนก็เจอแต่ขี้ปลา คราบเมือกคราบสกปรกเต็มไปหมด ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้เจ้ามังกรจะสีสวยโดดเด่นแค่ไหนว่ายน้ำสง่างามเพียงใดก็ไม่น่าดู ที่ถูกต้องคือควรจะมีระบบกรองที่ดีเพื่อกรองสิ่งสกปรกภายในให้ดูสะอาดตาเกลี้ยงเกลาน่ามอง ระบบกรองที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ กรองในตู้ กรองนอก และการเจาะตู้ลงมากรองด้านล่าง (กรองใต้ตู้)
กรองในตู้ สำหรับกรองในตู้ก็มีหลายแบบ แบบดั้งเดิมก็คือ “กรองใต้พื้นกรวด” ที่ใช้แผ่นกรองที่มีลักษณะคล้าย Jigsaw โดยสามารถต่อกันเป็นแผงกำหนดความสั้นยาวได้ แล้วก็ต่อท่ออ๊อกซิเจนจากนั้นจึงปูหินทับลงไปโดยให้มีความหนาพอดีๆ การใช้กรองใต้กรวดสามารถสร้างความสวยงามให้กับตู้ได้มากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดวางและเลือกชนิดของหินแต่งตู้ อย่างไรก็ตามระบบกรองชนิดนี้ไม่ค่อยเหมาะสมในการเลี้ยงปลามังกรนักเพราะทำความสะอาดยากแล้วยังกินเนื้อที่ภายในตู้ไม่น้อยอีกด้วย
นอกจากนี้ก็มีกรองที่ใช้เป็น “ลูกตุ้มฟองน้ำ” ซึ่งมีราคาถูกและบำบัดน้ำได้ประสิทธิภาพดี และที่สำคัญยังสามารถกักเก็บแบคทีเรียชนิดดีได้อีกด้วย เจ้าตุ้มฟองน้ำนี้เหมาะสำหรับการใช้งานในตู้เล็กๆ ที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ อีกรูปแบบหนึ่งของกรองฟองน้ำก็คือ “กรอง Power Head” ซึ่งก็คือการใช้ Power Head (เครื่องพ่นน้ำภายในตู้) ติดกับแท่งฟองน้ำด้านล่าง จริงๆ แล้วตัวนี้เริ่มต้นผู้เลี้ยงเป็นผู้ดัดแปลงใช้เอง แต่ตอนหลังผู้ผลิตเล็งเห็นความเข้าท่าใน Idea จึงทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาตราฐาน มีฟองน้ำสำหรับกรองในตัว Power Head ในรุ่นนั้นๆ (ประสิทธิภาพถือว่าดีครับ แต่สกปรกเร็ว และต้องเอาออกมาล้างบ่อยหน่อย)
แต่สำหรับกรองในตู้ที่นิยมกันมากที่สุดก็คงไม่พ้น “กรองข้างตู้” ที่เป็นตู้กรองติดตั้งอยู่ในตู้ปลาเลย ระบบกรองแบบนี้มีจุดเด่นคือสามารถทำประสิทธิภาพได้สูงสุด น้ำไหลเวียนได้เป็นจำนวนมากและตลอดเวลาจึงทำให้กรองได้สะอาดล้ำลึก ยิ่งถ้าเป็นรุ่นใหม่ระบบ 2 ช่องกรองโดยมีซี่กรองล่างและซี่กรองบนก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองน้ำมากขึ้น ระบบกรองชนิดนี้ยังมีเนื้อที่กว้างอีกด้วยจึงทำให้กรองได้นานไม่ต้องเปลี่ยนล้างบ่อยๆ แต่ก็เพราะเป็นระบบกรองในตู้จึงมีข้อเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นก็คือ ตู้กรองนั้นกินเนื้อที่ภายในตู้ค่อนข้างมากทำให้ปลามีเนื้อที่ว่ายน้ำน้อยลง และอีกอย่างก็คือ การล้างทำความสะอาดค่อนข้างยุ่งยาก ต้องรื้อเอาวัสดุกรองออกมาล้างเป็นชิ้นๆ…
กรองนอกตู้ ระบบกรองชนิดต่อมาก็คือ “กรองนอก” ระบบกรองชนิดนี้ก็เป็นอีกระบบที่มีประสิทธิภาพสูง การทำงานของกรองนอกก็คือจะดูดน้ำจากตู้ปลาลงมาผ่านเครื่องกรองด้านล่างซึ่งภายในมีชั้นของวัสดุกรองต่างๆ หลายชั้น จากนั้นก็จะส่งน้ำดีกลับขึ้นไปสู่ตู้ นอกจากจะมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยมแล้ว “กรองนอก” ยังมีข้อดีอีกอย่างคือไม่กินพื้นที่ภายในตู้จึงทำให้ปลามีเนื้อที่ว่ายเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีรูปลักษณ์ที่สวยหรูดูมีสไตล์ที่สำคัญคือสามารถถอดออกมาล้างได้ง่ายด้วยโดยที่ไม่รบกวนปลาในตู้ ส่วนข้อเสียก็มีเหมือนกันนั่นก็คือราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าคุณภาพสูงยี่ห้อจากต่างประเทศที่บางตัวมีราคาแพงกว่าตู้ปลาอีก แบบว่ากันที่ตัวนึงหลายๆ พันบาทหรืออาจขึ้นถึงหลักหมื่น แต่ถ้าเป็นระดับกลางจากไต้หวันหรือจีเช่นยี่ห้อ Azoo, Resun, Jun, Via Aqua, Jebo ราคาก็ย่อมลงมาหน่อย… เปรียบเทียบคุณสมบัติที่เหมาะสม ราคา และรูปลักษณ์ที่ถูกใจก่อนตัดสินใจซื้อนะครับ
กรองใต้ตู้ ระบบกรองแบบสุดท้ายที่จะพูดถึงก็คือการเจาะตู้ลงมากรองด้านล่าง การทำงานของระบบกรองแบบนี้ก็จะคล้ายๆ กับกรองนอกแต่ต่างกันตรงที่กรองนอกจะเป็นระบบดูดน้ำลงมาผ่านเครื่องกรอง แต่การเจาะตู้นี่จะเป็นระบบน้ำไหลผ่านท่อน้ำภายในตู้ลงมากรองด้านล่าง (ซึ่งโดยมากจะเป็นตู้กระจกขนาดใหญ่และทำเป็นช่องหลายชั้นเพื่อใช้งานกรองโดยเฉพาะ) แล้วพ่นน้ำส่งกลับขึ้นไปด้านบน ระบบกรองแบบเจาะตู้นี่ส่วนใหญ่ใช้กับตู้ที่มีขนาดใหญ่เกิน 60” หรือถ้าเล็กกว่าก็จะใช้กับตู้เฟอร์นิเจอร์สุดหรูอลังการ (นักเลี้ยงปลาที่ญี่ปุ่นกนิยมกันมาก) ค่าใช้จ่ายสำหรับการกรองแบบนี้ก็เรียกได้ว่าไม่สูงเกินไป แถมยังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำได้อีกยาวนานเลยโดยการกรองแบบนี้ก็เหมือนกับกรองข้างตู้อันใหญ่ๆ แหละครับ
การเลือกใช้วัสดุกรอง ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก หากเลือกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมนอกจากจะทำให้น้ำใสสะอาดแล้ว ยังช่วยเพาะพันธุ์และกักเก็บแบคทีเรียชนิดดีเพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายของเสีย และบำบัดน้ำในตู้ให้มีคุณภาพดียาวนานอีกด้วย สำหรับวัสดุกรองที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดปลามังกรก็คือ Ceramic Ring กับ Substrate ครับ โดย Ceramic Ring จะเป็นตัวชะลอน้ำทำให้น้ำไหลช้าลงแล้วยังกระจายน้ำทำให้เพิ่มปริมาณออกซิเจนด้วย แต่หน้าที่หลักจริงๆ คือเป็นที่กักเก็บของเสียขนาดใหญ่เพื่อเป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดี (เป็นแหล่งเพาะแบคทีเรีย) ส่วน Substrate ซึ่งเป็นหินตะกอนภูเขาไฟ จะทำหน้าที่เป็นตัวกรองของเสีย ดูดซับสารพิษ และรูพรุนจำนวนมากมายของ Substrate ยังเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียชนิดดีอีกด้วย
การจัดวางชั้นกรองอย่างมีประสิทธิภาพคือน้ำต้องไหลผ่าน Ceramic Ring ก่อนผ่านสู่ Substrate นะครับโดยที่ Substrate จะต้องจมน้ำ (Wet System) ส่วน Ceramic Ring จะอยู่เหนือให้น้ำไหลผ่านหรือจะจมก็ได้ จากการที่ได้ดูหนังสือจากเมืองนอกมาหลายเล่มก็ได้สังเกตเห็นว่านักเลี้ยงปลามังกรต่างประเทศส่วนใหญ่เลือกใช้ Ceramic Ring ล้วนๆ เป็นวัสดุกรองเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีบ้างที่ใช้ Substrate ด้วย บางบ้านก็ทำตู้ต่างหากไว้ใส่ Bio Ball อย่างเดียว การใช้ Bio Ball มีผลดีคือช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำซึ่งจะทำให้เจ้ามังกรคุณหายใจสบายขึ้น
แต่เพราะปัญหาหนึ่งที่นักเลี้ยงบ้านเราไม่นิยมใช้ Ceramic Ring และ Substrate นั่นก็เพราะเจ้าวัสดุทั้ง 2 ชนิดนี้มีราคาแพงมาก ยิ่งถ้าเป็นของแท้ที่มีคุณภาพอย่างเช่นยี่ห้อ Eheim หรือ Azoo ขายกันลิตรนึงก็หลายร้อยบาท ถ้าเป็นตู้เล็กๆ ยังพอสู้ไหว แต่ถ้าต้องเอาไปใช้กับระบบกรองใต้ตู้ในตู้ใหญ่ๆ ใช้ล่ะก็… ทั้งอ่วมทั้งน่วมแน่ๆ (ค่าวัสดุกรองแพงกว่าตัวปลาแน่นอน) ถ้าไม่ซีเรียสก็เลือกใช้เกรดที่รองลงมาก็ได้ แม้จะประหยัดลงได้มากแต่ราคาก็ยังเรียกได้ว่าสูงอยู่ดี
ในกรณีที่มีกำลังทรัพย์จำกัด ผมว่าแค่ Bio Ball และเศษปะการังอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว (อย่าลืมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นระบบกรองแบบไหนก็ต้องมีใยแก้วเพื่อกรองของเสียหลักเป็นชั้นแรกด้วย) สำหรับถ่านคาร์บอนผมไม่ขอแนะนำให้ใช้กับระบบกรองในตู้ปลามังกร เพราะถ่านคาร์บอนแม้จะมีหน้าที่ในการดูดซับสารพิษหรือของเสียได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีอายุในการใช้งานสั้น หากไม่มีเปลี่ยนล้างอย่างสม่ำเสมอเมื่อถึงจุดคาร์บอนจะคายของเสียนั้นออกมาแล้วจะกัดเมือกปลาที่เคลือบตัวอยู่ ซึ่งมีผลทำให้ตัวด่าง สีซีด และครีบเครื่องต่างๆ เปื่อยได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับเหงือกได้อีกด้วย ส่วนเศษปะการัง จริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยเหมาะกับปลามังกรนักเพราะมีค่าเป็นด่างสูงซึ่งปลามังกรไม่ค่อยชอบ แต่ถ้าใครเชื่อใจในประสิทธิภาพของปะการังแล้วยังคิดจะใช้ผมก็ไม่ห้าม แต่มีข้อแนะนำหน่อยคือให้ล้างปะการังใหม่ให้สะอาดจนหมดกลิ่นเค็มจากนั้นก็แช่ไว้ในน้ำเปล่าซัก 1 เดือน หรือถ้าจะให้เร็วกว่านั้นก็ต้องใช้ “ด่างทับทิม” เข้าช่วยในการทำการ “กัดแหลก” แต่ถ้าใช้วิธีหลังแล้วสีของปะการังจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลไม่สวย แต่ก็คงไม่เป็นไรเพราะเราเอามาใช้งานนี่นะ !
NOTE : หากคิดจะใช้ปะการังเป็นวัสดุกรองการเลือกซื้อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ประการังขนาดที่ใช้สำหรับระบบกรองไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป ผมแนะนำให้ใช้ขนาดเบอร์ 3 ถึงเบอร์ 4 ก็พอ (ประมาณ 2 ข้อนิ้วก้อย) และดูสีของประกรรังให้ดีให้มีสีขาวอมน้ำตาลหน่อย ควรชื้นและมีกลิ่นเค็มจากทะเล ผมไม่แนะนำให้ซื้อปะการรังที่แห้งและมีสีขาวสะอาดเกินไปเพราะปะการังชนิดนั้นได้ผ่านการฟอกสีแล้ว (ส่วนใหญ่ใช้สำหรับจัดแต่งตู้ซึ่งไม่เหมาะกับระบบกรอง) ซึ่งอาจมีสารฟอกสีตกค้างอยู่ และหากล้างไม่สะอาดก็จะเป็นอันตรายกับปลาซึ่งอาจถึงชีวิตได้
ในท้องตลาดเดี๋ยวนี้มีวัสดุสำหรับกรองชนิดใหม่นั่นก็คือ “ฟองน้ำ” แต่ไม่ใช่เกรดธรรมดาแบบที่ใช้ขัดล้างกันอยู่ทุกวัน ฟองน้ำเกรดนั้นไม่สามารถนำมาใช้ในระบบกรองนานๆ ได้เนื่องจากว่าจะค่อยๆ ยุ่ยสลายไป (เละตุ้มเป๊ะเลย) และใช้ได้เพียงครั้งเดียวจึงต้องคอยเปลี่ยนใหม่อยู่ตลอด แต่ฟองน้ำแบบที่ผมว่านี้ถูกทำขึ้นมาเพื่อสำหรับใช้กรองโดยเฉพาะโดยใช้วัสดุพิเศษสามารถซึมซับน้ำได้เป็นอย่างดี กักเก็บของเสียได้มากและเป็นที่เพาะแบคทีเรียอีกด้วย ที่สำคัญคือสามารถเอาไปล้างทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ หลายรอบ ยังไงก็ตามฟองน้ำชนิดที่ผมว่านี้ยังมีราคาแพงอยู่มาก (แผ่นนึงก็เกือบ 300 บาท) ถ้าใช้เล็กๆ น้อยๆ ก็พอได้ แต่ถ้าใช้ในระบบกรองใหญ่ๆ อย่างกรองใต้ตู้นี่มาคำนวนตัวเลขค่าใช้จ่ายเอาเรื่องเหมือนกัน
อีกอย่างหนึ่งก็คือ “ใยหยาบ” ที่นิยมกันในหมู่ผู้เลี้ยงปลาคาร์พในบ่อ ปัจจุบันก็มีการนำมาใช้งานกับตู้ปลามังกรบ้าง และก็พัฒนาออกมาหลายรุ่น หลายขนาด หยาบอย่างแรง หยาบมาก หยาบกลางๆ หยาบน้อย แล้วก็หยาบแบบเส้นหมี่ ก็นับเป็นว่าวัสดุกรองที่ดี มีประสิทธิภาพ ใช้ได้นาน และสามารถนำมาล้างใช้ได้บ่อยครั้ง เพียงแต่อาจจะมีราคาสูงหน่อย
นอกจากจะมีระบบกรองน้ำในตู้ปลาแล้วยังมีระบบกรองย่อยอีกชนิดที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับกับการเลี้ยงปลาชนิดนี้นั่นก็คือ “เครื่องกรองผิวน้ำ” หรือที่เรียกว่า Skimmer โดยที่อุปกรณ์ตัวนี้มีหน้าที่ในดูดเก็บของเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เปลือกหนอน ปีกแมลง ฝ้า คราบน้ำมัน รวมถึงสารแขวนลอยต่างๆ ที่อยู่เหนือผิวน้ำทำให้ผิวน้ำสะอาดไร้คราบของเสียที่ไม่น่ามอง Skimmer มีหลายยี่ห้อ หลายชนิด หลายราคาเริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนหลักพัน (สำหรับปลาทะเลราคาจะสูงหน่อย) สำหรับรุ่นที่มีราคาไม่แพงส่วนใหญ่จะใช้คู่กับ Power Head การใช้งานคือจะเสียบท่อ Skimmer กับ “ท่อดูด” ของ Power Head ที่อยู่ด้านล่างจากนั้นก็ต่อท่อสายยางไปลงช่องกรอง การเปิดใช้ Skimmer ไม่จำเป็นต้องเปิดตลอดเวลา การใช้งานที่เหมาะสมก็คือเปิดใช้วันละครั้งๆ ละ 1-2 ชม. ก็พอ และจะเป็นช่วงเวลาใดก็ได้ การมีระบบกรองที่สมบูรณ์มีประสิทธิภาพนอกจากจะทำให้น้ำในตู้ใสสะอาดและปลามีสุขภาพดีแล้ว ยังทำให้บรรยากาศในตู้ดูดีน่ามองนานๆ อีกด้วย