จากบทความในนิตยสาร Aqua เล่มที่ 20 นะครับ – สำหรับเก็บงานเขียนใน Aro4u และเพื่อนสมาชิกที่ยังไม่เคยอ่าน รวมถึงท่านที่เห็นภาพสีไม่ครบถ้วนจุใจทุกท่านนะครับ
เช้าวันหนึ่งในขณะที่ผมนั่งทำงานเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะทำงานอยู่นั้น ผมก็ได้รับข้อความผ่านทาง Email จากเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งเป็น Link ของเวบซื้อขายปลาทั่วไป เมื่อได้เห็นแล้วก็รู้สึกแปลกใจจึง Click เข้าไปดู สิ่งที่ผมเห็นก็คือเป็นการประกาศขายปลาทองอินโดตัวหนึ่งขนาดประมาณ 19-20 นิ้ว ภาพที่แนบมาด้วยนั้นแม่จะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่นักแต่ก็พอดูรู้ได้ว่าสวยพอตัว (ถ่ายด้วย Flash และมีขนาดเล็ก) แถมราคาที่เสนอขายก็ยังไม่แพงอีกด้วย รายละเอียดที่แนบมาเท่าที่จำได้ก็มีประมาณว่า “ต้องการขายปลามังกรสายพันธุ์ทองอินโดขนาดใหญ่ ในราคา xx,xxx บาท ราคานี้ให้รวมถึงตู้ขนาด 60”x20”x20” พร้อมฝาและขาด้วย สนใจติดต่อคุณ xxxx หมายเลขโทรศัพท์ xxxx ดูปลาได้ที่ย่านบางบัวทอง” หลังจากที่ได้อ่านจบซักพัก เพื่อนผมถามว่า…
“ไงล่ะ สนใจจะไปดูมั้ย ?”
“ก็น่าสนใจนะพี่ พี่ว่าไง ? จะไปดูด้วยกันก็ได้”
“อืม ยังไงโทรไปติดต่อเขาก่อน ราคานี้ได้ทั้งตัวปลาและตู้ปลาด้วย เดี๋ยวพลาดไปคงน่าเสียดายน่าดู”
“OK เดี๋ยวผมโทรไปเอง”
ว่าแล้วผมก็โทรไปทันทีเพื่อสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น… อยากรู้ว่าสถานที่ไปดูปลาอยู่ที่ไหน ? ปลาตัวนี้มีสีสันเป็นยังไง ? ขนาดจริงๆ ประมาณไหน ? อายุปลาเท่าไหร่ ? เลี้ยงดูอย่างไร ? นิสัยของปลา ? มีตำหนิอะไรบ้าง ? (จุดนี้สำคัญมากครับเพราะการเสนอซื้อขายปลาในเนทส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยตำหนิให้ผู้ดูทราบ) ที่สำคัญคือที่จะขายปลาตัวนี้เป็นเพราะด้วยเหตุผลอะไร ? จากข้อมูลคร่าวๆ ที่ผมได้คุยกับเจ้าของปลา (ซึ่งเป็นคนที่พูดจาดีมากครับ) ก็พอจะทราบว่าปลาที่จะขายนั้นเป็นปลาของฟาร์มเซี่ยนหลง โดยซื้อจากร้าน Max เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีขนาดก็น่าจะไม่น้อยกว่า 18 นิ้วเห็นจะได้ อาหารที่ให้เป็นประจำก็คือ “เนื้อกุ้ง” ส่วนเหยื่อปลาที่มีชีวิตอย่างเช่น หนอน จิ้งหรีด กุ้งฝอย ไม่ได้ให้เพราะไม่ต้องการทำบาป
ผมถามถึงตำหนิที่มีพี่เขาก็ตอบอย่างตรงไปตรงว่า “ผมดูไม่ค่อยเป็นครับ เพราะสำหรับปลามังกรก็มีเจ้านี่ตัวเดียวที่เลี้ยง แต่เท่าที่ผมมองดูก็สังเกตุเห็นเหงือกข้างนึงมีปัญหา” ผมได้ฟังแล้วก็รู้สึกดีเพราะผู้ขายไม่ได้ตั้งใจจะขายเอาท่าเดียว ส่วนสภาพปลาลำพังเรื่องเหงือกผมเองไม่ซีเรียสเท่าไหร่ แต่ถ้าครีบหัก หางขาด หนวดกุด อย่างนี้คงจะรับไม่ไหว ส่วนคำถามที่สุดท้ายที่ผมอยากทราบก็คือที่ขายปลาเพราะอะไร ? ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าจริงๆ ก็ไม่ได้อยากจะขายเพราะอยู่ด้วยกันมานานแล้วแต่เพราะพี่เขาต้องไปทำงานที่ประเทศจีน ซึ่งการทำงานครั้งนี้จำเป็นต้องไปนาน แล้วที่บ้านก็มีเพียงภรรยาคนเดียวกับหมาใหญ่ๆ อีก 2 ตัว แค่นี้ก็เหนื่อยมากและดูแลไม่ไหวแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องขายให้ผู้ที่ชอบมันจริงเอาไปอุปการะเลี้ยงดูแทน…. ฟังแล้วน่าเห็นใจมากนะครับ
เมื่อผมได้รับฟังข้อมูลที่ต้องการเสร็จแล้วผมก็วางสายแล้วโทรไปบอกเพื่อนผม เพื่อบอกรายละเอียดที่ทราบมาให้เขาฟังด้วย หลังจากนั้นก็ปรึกษาพูดคุยกันอีกซักพักหนึ่งก่อนจะลงเอยด้วยการตัดสินใจว่าจะไปดูปลาตัวนั้นกัน ผมโทรนัดเวลาผู้ขายอีกครั้ง (ชื่อพี่โต้ง) ว่าจะเข้าไปดูปลาในวันนั้นเลยแล้วก็สอบถามเส้นทางอย่างละเอียด เพราะระยะห่างจากบางบัวทองกับบ้านผมนั้นไม่ได้ไกล้กันเลยครับ (ห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร) ผมกับเพื่อนเองก็สะดวกค่ำๆ ขับรถกลางคืนถ้าไม่แน่ใจเส้นทางเดี๋ยวหลงทางก็จะยิ่งไปกันใหญ่… เสียเวลาแล้วยังอดดูปลาอีกต่างหาก เมื่อมั่นใจว่าจดมาถูกต้องเรียบร้อยแล้วผมจึงวางสาย แล้วก็ส่งข้อมูลต่อให้เพื่อนก่อนที่จะขอตัวทำงานต่อแล้วก็รอให้ถึงเวลานัดหมาย
ประมาณ 1 ทุ่มตรง เพื่อผมก็ขับรถมารับผมที่บ้านแล้วเราก็เริ่มออกเดินทางกัน คืนนั้นผมไม่ได้เตรียมกล่องโฟมและถุงที่ต้องใช้ย้ายปลาไปด้วยเพราะเจตนาจริงๆ คือตั้งใจไปดูปลาอย่างเดียวเท่านั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะซื้อ และถึงแม้ถ้าผมถูกใจปลาตัวนั้นก็คงต้องฝากไว้ก่อนเพราะต้องขอเวลาเคลียที่ทางให้เรียบร้อย… ไม่ได้ปลาน่ะไม่เป็นไรครับ (เราไม่ได้คาดหวังอยู่แล้ว) แต่ถ้าสวยถูกใจขึ้นมาล่ะเป็นเรื่อง (ต้องซื้อหาตู้ให้อยู่ใหม่อีก จ่ายอีกอ่วมไม่น้อย ผมคงต้องซื้อตู้ใหม่ เพราะตู้ใบเก่าที่เขาเลี้ยงอยู่นั้นเล็กมากครับ) เพราะบางบัวทองนั้นค่อนข้างไกลกว่าสถานที่เราอยู่กันดังนั้นในการเดินทางจึงมีการโทรสอบถามเส้นทางกันบ่อย กว่าจะถึงที่หมายได้ก็ต้องเวลากว่า 1 ชั่วโมง เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันแต่ก็ OK ครับ เพราะตอนที่ไปถึงเจ้าของบ้านทั้งคู่ก็ยืนรอพร้อมโปรยรอยยิ้มตอนรับแล้ว…
เมื่อเข้าไปถึงที่บ้านยังไม่ทันที่จะถามว่าตัวปลาอยู่ที่ไหนสิ่งที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าก็คือตู้ปลาขนาด 60” มีปลามังกรทองอินโดขนาดใหญ่สีทองเข้มสวยว่ายเวียนวนอยู่ ไม่ต้องสงสัยเลยนะครับว่าใช่ตัวนี้รึเปล่าเพราะจากที่เห็นแล้วมันคือตัวเดียวกับที่ผมเห็นในรูปเพียงแต่คราวนี้ได้มาเห็นของจริง ตัวจริง ที่ชัดเจนกว่ามาก ปลาตัวนี้มีชื่อว่า “เออมัส” ซึ่งแปลว่า “สีทอง” ตั้งโดยพี่อุ๋ม (ภรรยาของพี่โต้ง) เพื่อนๆ ครับ มันน่าแปลกใจมากนะครับที่แวบแรกที่ผมเห็นเจ้าเออมัส มันเหมือนมีสิ่งหนึ่งบอกผมว่า “ปลาตัวนี้แหละที่จะเอามาเลี้ยงคู่กับอิ่มเอม” ทั้งที่ผมยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับมาเลี้ยงดู ยังไม่ได้ดูตำหนิเลยว่าเป็นยังไงบ้าง ? เหงือกมีปัญหารุนแรงแค่ไหน ? และมีตำหนิอื่นๆ อะไรอีกบ้าง แค่มองผ่านๆ รู้อย่างเดียวว่า “ชอบ”…
แต่เพราะผมเป็นคนที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและพิถีพิถันในการเลือกซื้อปลา ดังนั้นไม่ว่าราคาจะถูกหรือแพงแค่ไหน ผมก็อยากได้ปลาที่มีสภาพความสมบูรณ์สูงสุด จากการพูดคุยกับพี่โต้งครั้งนั้นผมได้ทราบว่าเจ้าเออมัสมีตำหนิเพียงอย่างเดียวคือ “เหงือก” แต่พอดูแล้วอาการเหงือกที่เห็นคือข้างนึ่ง “บุ๋ม” และอีกข้างหนึ่ง “ย่น” แต่ไม่พับและไม่หุบ (ซึ่งถือเป็นโรคเหงือกที่รุนแรง) จากที่เห็นผมมันใจว่าตัวเองสามารถซ่อมได้ ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงตัดไป แต่ทว่าตำหนิที่ผมเห็นไม่ได้มีเพียงแค่เหงือกอย่างเดียว ยังมีอย่างอื่นอีกด้วยเช่นครีบอก 2 ข้างไม่เท่ากัน ครีบก้นยาวไม่เสมอกัน ยังดีที่ไม่มีตำหนิหลักอย่างเช่นตาตก หรือ ครีบหัก มิเช่นนั้นผมเองคงต้องตัดใจ แต่ยังไงก็ตาม รอยตำหนิที่มีอยู่นั้นผมดูแล้วไม่มีผลต่อการว่ายน้ำของปลา เจ้าเออมัสยังคงว่ายน้ำได้สวยและสง่างามน่าประทับใจ…
เมื่อพิจารณาจากทรวดทรงสรีระของเจ้าเออมัสแล้วดูเหมือนจะเป็น “ผู้หญิง” นะครับ เพราะดูแล้วสั้น ป้อม และหนา ครีบเครื่องก็เล็กดูไม่ค่อยสมส่วนกับตัวปลา (ในขณะที่ผมมองว่าเจ้าอิ่มเอมของผมน่าจะเป็น “ผู้ชาย”)
สัดส่วนและขนาดของปลาก็พอๆ กัน ถ้าเลี้ยงร่วมกันก็คงจะพอสู้พอตอบโต้กันได้ไม่มีฝ่ายไหนเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ ต้องว่ายหนีหรือหลบซ่อนกันอย่างหัวซุกหัวซุน ด้วยปัจจัยสิ่งเร้าหลายๆ อย่างเข้ามาส่งเสริม + ความคิดที่เหมือนจะเข้าข้างตัวเองจึงทำให้ผมเกิดความตั้งใจที่จะเลี้ยงปลา 2 ตัวนี้ร่วมกันจริงๆ
หลังจากจากพูดคุย (อย่างถูกคอ) ดูปลา (อย่างเพลิดเพลิน) และพิจารณา (อย่างรอบคอบ) แล้วสุดท้ายผมก็ตัดสินใจจะรับปลาตัวนี้มาอยู่ด้วย ก่อนออกจากบ้านผมบอกพี่โต้งว่าขอเวลาจัดที่จัดทางซักพักแล้วจะรีบต่อกลับมาอีกครั้ง ส่วนครั้งนี้ผมขอวางมัดจำจับจองเจ้าเออมัสไว้ก่อน พี่โต้งบอกว่าไม่ต้อง เขาไว้ใจเอาไว้จ่ายวันที่รับปลาไปเลยก็ได้ เรื่องนี้ไม่มีปัญหา ได้ฟังแบบนี้แล้วก็สบายใจ ผมกับเพื่อนจึงกล่าวคำอำลาแล้วก็ขอตัวกลับบ้าน
จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดว่าจะให้เจ้าอิ่มเอมมีคู่ตุนาหงันอยู่ร่วมตู้ด้วย (ลำพังมีเพื่อนร่วมตู้ที่เป็นฝูงปลาเทวดาและปลาเสือสุมาตราก็ลงตัวแล้ว) สิ่งที่ผมตั้งใจคือวันนี้ผมได้รับมันกลับมา แล้วมันก็กำลังจะเข้าที่ กินดี อยู่ดี มีความสุข เราก็ไม่น่าจะไปรบกวนมันแต่ก็ไม่รู้ทำไมว่าเมื่อได้เห็น “เออมัส” แล้วทำให้อยากได้มันมาเลี้ยงอยู่ร่วมกัน คิดไปคิดมาโครงการเลี้ยงร่วมก็เกือบจะล่มสลายหลายครั้ง แต่เราตัดสินใจรับปากพี่โต้งกับพี่อุ๋มไปแล้วนี่นะว่าจะรับมาเลี้ยง ยังไงก็ต้องเอามา… แล้วถ้าไม่ได้เลี้ยงด้วยกันเราก็ต้องซื้อตู้ใบใหม่ ต้องเจียดงบประมาณก้อนใหญ่ซึ่งก็คงจะหลายหมื่นบาทอยู่ ตัวแห้งกระเป๋าลีบแน่ เอาน่ะ ! ตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงร่วมกันก็ต้องเลี้ยงร่วมกันน่า เรื่องกัดกันทำร้ายกันมันก็คงจะมีบ้าง แต่ Sense เราบอกมานี่นะว่าเจ้านี่น่ะ “คู่แท้ของอิ่มเอม” ดังนั้นมันต้องอยู่ด้วยกันได้
ติดตามชมตอนต่อไปนะครับ