เอาล่ะครับ ตอนที่แล้วผมเกริ่นไว้ชัดเจนแล้ว เกี่ยวกับขั้นตอนในการทำงานของผมในวันนั้น สำหรับการล้างหินกรวดกว่า 300 โลในตู้ 80 30 30 ใบยักษ์ (พร้อมทั้งย้ายปลาทั้งหมดออกด้วย) จะยุ่งยาก หรือง่ายดายยังไง ไปติดตามคำตอบได้ในตอนปิดท้ายตอนนี้กันได้เลย : )
1. ลดน้ำตู้ปลาลง 1/3
ขั้นตอนแรก เราต้องย้ายปลามังกรออกก่อน แต่การย้ายปลามังกรตัวที่เราไม่ได้เลี้ยงดูเอง ที่เราไม่รู้จักนิสัยมัน ทางที่ดีที่สุด (และเพื่อความปลอดภัยในทุกกรณี) ควรที่จะลดน้ำลงครับ จะลดแค่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เราชัวร์ว่า "ปลอดภัย" ในกรณีของพี่ต้นนี้ ผมลดน้ำลง 1/3 ของตู้ ระดับการลดแบบนี้ สำหรับผมถือว่าปลอดภัยที่สุด แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลา หรือรอเวลามากเกินไป
2. จับต้อนปลามังกรแดงใส่ถุง => วางยาสลบแต่พอเหมาะ (สำหรับโยกย้าย ไม่ใช่เพื่อการศัลยกรรม)
จากนั้น ก็เตรียมถุงเพื่อจับต้อนเจ้า Natur Red ขนาด 14 นิ้ว ตัวเป้าหมาย ครั้งนี้ผมใช้ถุงปกติ ไม่ได้ใช้ก้นเหลี่ยม เพราะจับยาก ลงตู้ใช้ใบเดียว จับต้อนไปก็ใช้กระชอนไล่ไป พอดีทำมาบ่อยครั้งก็เลยดักทางได้ถูก ไม่นานนักก็จับต้อนได้ พอจับได้แล้วก็เทน้ำที่ผสมยาสลบลงไปในถุง (ไม่ได้ใส่ในตู้) รอประมาณ 2-3 นาที เห็นว่าสงบนิ่งแล้วก็ยกถุงปลาขึ้นจากตู้ (มีน้ำไม่มากนัก จะได้ยกไหว ไม่หนักเกินไป) โดยมีพี่ต้นกางถุงอีกใบรอรับไว้ จากนั้นก็เอาไปพักไว้ในกล่อง ใส่ออกซิเจนเป็นอันเสร็จพิธี ที่เหลือก็รอเวลาที่จะลงตู้อีกครั้ง
3. ช้อน Tank Mate ทั้งหมดแยกใส่ถังต่างหาก จากนั้นค่อยเอาขอนไม้น้ำออก
เมื่อต้อนปลามังกรเสร็จแล้ว เรื่องหนักใจก็จบลง ที่เหลือไม่ต้องนิ่มนวลมาก (แต่ก็ทำอย่างเบามือ) มีปลาตะเพียน ปลากระเบน และอื่นๆ ก็ค่อยตักออกจนหมดตู้ เอาขอนไม้ และวัสดุตกแต่งออกด้วย เหลือแต่น้ำกับหินกรวดเท่านั้น… รอบนี้ไม่ยากครับ จะมีก็แต่ "กระเบน" นี่ล่ะครับ ที่จับยากหน่อย เพราะหนามมาติดกระชอน รอบหน้าจะจับกระเบนต้องใช้กระชอนแบบตาถี่มากๆ แล้ว จะได้ไม่ไปติดอีก (หนามกระเบนติดกระชอน จะเอาออกยากมาก และทำให้เจ้ากระเบนบอบช้ำด้วย)
4. เอาฝาตู้ทั้งหมดออกจากพื้นที่ เพื่อที่จะสามารถมุดตัวลงไปในตู้ได้อย่างเต็มที่
ขั้นตอนนี้วุ่นๆ หน่อย เพราะมีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ทั้งสาย Power Head สายออกซิเจน สายหลอดไฟใต้น้ำ และอื่นๆ อีก ในการล้างตู้ใบนี้ ผมต้องมุดตัวลงไป ดังนั้นบนตู้จึงไม่ต้องมีฝาแล้ว เหนื่อยหน่อยครับ เพราะฝากหนักมาก แล้วก็มีหลายชิ้น แต่ก็จบลงได้ด้วยดี เพราะมีผู้ช่วยอย่างพี่ต้น และพี่พี คอยดูแลอย่างใกลชิด
5. ถ่ายน้ำไปด้วย ล้างหินในตู้ไปด้วย จนสุดแล้วค่อยทำการล้างซ้ำแล้วซ้ำอีก
คราวนี้ไม่มีปลาในตู้แล้ว เราก็ลุยล้างหินได้เลยครับ แต่เอ… น้ำในตู้ก็ยังมีอีกตั้งค่อน คงไม่เป็นการฉลาดหากจะทิ้งน้ำนั้นไป เอามาใช้สิครับ ไม่ยาก ก็แค่กวนไปมา ล้างหินจากข้างบนลงล่าง ล่างขึ้นบน ไม่ให้น้ำนิ่ง ในขณะเดียวกันก็ให้ผู้ช่วยคอยดูดน้ำออกด้วย (จุดนี้ต้องระวังหน่อย พยายามดูอย่าให้สายยางดูดหินขึ้นไป เพราะอาจจะไปอุดตันสายยางได้) พอน้ำใกล้จะหมดก็โกยหินไปข้างใดข้างหนึ่ง แล้วดูดจนสุดก้นตู้ จากน้ำเติมน้ำใหม่ขึ้นมา 1/3 แล้วก็ล้างพร้อมดูดออกจนสุดอีกครั้ง… ทำแบบนี้ข้างละ 2 ครั้ง (โกยไปซ้าย แล้วก็โกยไปขวา) ปริมาณหินมาก ก็ใช้เวลานานหน่อย เฉพาะขั้นตอนนี้ ก็ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงเหมือนกัน (เมื่อยหลังอย่างแรง… หากทำเอง กรุณาหาคนนวดเตรียมไว้เลยนะครับ อิอิ)
6. ขัดถู ทำความสะอาดตู้
ล้างหินเสร็จแล้ว ก็ขัดถูตู้ ขจัดเอาคราบทั้งหมดออกไป มันมีทั้งคราบฝุ่น คราบไคลสกปรก แต่คราบพวกนั้นเอาออกง่ายครับ ที่ยากก็คือ คราบตะไคร่ฝังแน่น นี่สิหินสุดๆ กว่าจะขัดออกได้แต่ละจุดก็ต้องใช้แรงกำลังแรงมาก แล้วยิ่งพวกจุดเล็กจุดน้อยพรางตาด้วยล่ะก็ ยิ่งเอาออกยาก (เจ้าของตู้จะเนี้ยบจุดนี้มาก) ก็พยายามเต็มที่ พยายามให้เหลือคราบฝังแน่นน้อยที่สุด
7. ล้างช่องกรอง และวัสดุกรอง
วัสดุกรองที่พี่ต้นใช้ก็มี ใยแก้ว ไบโอบอล และ Ceramic Ring ถือว่าไม่ยุ่งยากมาก แล้วก็มีจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ แถมยังมีน้ำในตู้ที่เตรียมไว้สำหรับล้างวัสดุกรองอยู่แล้วด้วย ดังนั้นจึงสะดวกสบายเป็นที่สุดครับ (ใยแก้วชุดนี้ หมดสภาพแล้ว ก็ต้องใช้ของใหม่) ล้างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เรียงตามนี้ครับ Ceramic Ring อยู่ชั้นล่างสุด ขึ้นมาเป็น Bio Ball (ไม่จมน้ำ) แล้วก็ใยแก้ว อยู่ชั้นบนสุด… เป็นอันเสร็จพิธี
8. เติมน้ำล้างรอบสุดท้ายทั้งในตู้ และส่วนของกรอง
9. เติมน้ำจริง
10. เช็ดถู ทำความสะอาดฝาตู้ และหลอดไฟใหม่
ไม่ต้องบรรยายอะไรมาก แค่หัวข้อก็อธิบายไว้ชัดเจนแล้ว
11. ประกอบเข้าที่ให้เหมือนเดิม
ทั้งหลอดไฟ ฝาตู้ การจัดสายไฟ ขอนไม้น้ำ ทุกอย่างถูกเรียงไว้เหมือนเดิม (อาจจะมีขยับเขยื้อนนิดหน่อย เพื่อความสวยงามมากขึ้น)
12. เติมน้ำยาปรับสภาพน้ำ Tetra Aqua Safe ที่เตรียมไว้ แล้วนำปลาทั้งหมด ทั้ง Tank Mate และปลามังกรลงตู้ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ปิดท้ายรายการด้วย การเติมน้ำยาปรับสภาพน้ำ จะใช้ Tetra Aqua Safe หรือยี่ห้ออื่นก็ได้ที่ท่านไว้วางใจ (แต่พอดีผมใช้ยี่ห้อนี้มาโดยตลอด ดังนั้นก็เลยใช้อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยเปลี่ยนยี่ห้อ) ใส่ตามที่ปริมาณข้างขวดแนะนำ ขนาดตู้ 84 30 30 นี้ ผมใช้ประมาณครึ่งขวดครับ จากนั้นก็เอา Tank Mate ที่แยกออกมาใส่ก่อน แล้วจึงเอาถุงเจ้า Natur Red ลงไปปรับสภาพน้ำ รอเวลา 20 นาที จึงค่อยปล่อยลงตู้
เป็นอันเรียบร้อยครับ ปลาสมบูรณ์ดี ตู้ใสปิ๊ง (ผมมีใส่ Crystral Pond ของ Sera ด้วย เพราะทำให้น้ำในตู้ใสเร็วขึ้น) หลังกจากพักเหนื่อยได้ครึ่งชั่วโมง ผมกับพี่ต้นก็ประชันกันถ่ายภาพปลาตัวเก่า ในตู้ใบเก่า แต่สภาพแวดล้อมใหม่ น้ำใสปิ๊งด้วยกัน… เอาล่ะครับ "มังกรหรรษา" วันนี้ก็จบแต่เพียงเท่านี้ หวังว่าการทำงานแบบพื้นฐานสุด Basic นี้จะช่วยเพื่อนผู้อ่านที่มีปัญหาเดียวกันได้ แล้วพบกันใหม่ใน "มังกรหรรษา" ตอนต่อไปเร็วๆ นี้ครับ
*** วันนี้พระเอกกระทู้เป็น กุ้ง Blue Lobster ตัวใหญ่ ที่พี่ต้นเกิดชอบใจตอนขับรถมาส่งผมที่บ้าน ด้วยความที่คุยกันถูกคอ ผมก็เลยยกให้ไปเลี้ยงครับ
Nanconnection