การได้เข้าฟาร์มต่างๆ แล้วได้เห็นปลาระดับนี้โดยที่เราไมได้มีจุดมุ่งหมายในการค้า (ว่าง่ายๆ ว่าไม่ได้มาซื้อ) แล้วเขาเปิดให้ชมขนาดนี้ผมถือว่าแค่นี้ก็ได้รับเกียรติมากๆ แล้ว ดังนั้นการจะสอบถามข้อมูลอะไรที่เป็นเบื้องลึกลงไป อย่างเช่นวิธีการเลี้ยงดู เทคนิคการทำให้ปลาข้ามหลังตั้งแต่เล็กๆ นั้น ผมคิดว่าเป็นการไม่สมควรที่จะถาม ดังนั้นจึงเลือกที่จะสอบถามข้อมูลทั่วๆ ไปอย่างเช่นระบบกรอง อาหารที่ให้ การปิดเปิดไฟ ที่เป็นพื้นฐานก็พอ มีอยู่คำถามหนึ่งผมถาม Mr. William เกี่ยวกับราคาปลา คำตอบที่ได้มีเพียงสั้นๆ ว่า “Sorry, not convenience to tell” (ขออภัยด้วย ไม่สะดวกที่จะบอกให้ทราบ) ได้ยินมาแบบนี้เราเองก็ไม่กล้าถามอะไรลึกๆ ต่อแล้วล่ะครับ
ตู้ถัดไปเป็น Emerald Blue Cross Back ซึ่งก็คือทองมาเลย์ Blue Base นั่นล่ะครับ เพียงแต่ตัวนี้เป็นเกรดรองลงมาไม่ได้ตีตราถึงขั้น Golden Head ตู้นี้มีอยู่ 16 ตัว แต่ๆ ละตัวนี้เห็นแล้วก็น้ำลายหกไม่แพ้กัน ไม่ต้องไปสังเกตเรื่องเกล็ดละเอียด (ที่นักเลี้ยงในบ้านเราเพ่งนักเพ่งหนาก่อนจะซื้อ) เพราะมีหลายตัวที่ข้ามหลังแล้ว บางตัวก็มีขีดสีทองๆ ขึ้นบนหัว (ปลาแบบนี้มาเมืองไทยอาจถูกขายเป็น Golden Head ก็ได้) แต่สีสรรของปลาก็ยังคงเหมือนๆ กันนะครับ ดูไม่ได้ชัดเจนนัก ขาวโพลนหมดตัวยังไงก็ยังงั๊น ภายในตู้นี้ยังคงใช้หลอดไฟเป็นสีออกโทนฟ้าเหมือนเดิม เท่าที่สังเกตดูพบว่าระบบกรองของตู้เหล่านี้ใช้เป็นกรองรวมโดยการต่อท่อน้ำเข้า + ออก ร่วมกัน แต่ตอนที่ผมไปดูเหมือนว่าจะปิดวาล์วท่อทั้งหมด ใช้ระบบกรองหลักเป็นเพียง Power Head ติดฟองน้ำ 3 ชั้น แล้วอาศัยการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เท่านั้นเอง
1. Emerald Blue หรือ Blue Base Cross Back ของฟาร์ม DFI
2. นับเป็นปลาชั้นดีเช่นกันครับเพราะหลายตัวข้ามหลังแล้ว และบางตัวเป็น Golden Head นิดๆ ด้วย
มาถึงตู้สุดท้ายใน Show Room แล้ว ปลาที่ตู้นี้เป็น Mixed Class ลูกผสมระหว่าง “ทองมาเลย์” กับ “ปลาแดง” คนสิงคโปร์เรียกปลาชนิดนี้ว่า Tong Yan (ถงเยิ่น) คนไทยเรียกติดปากว่า Red Splendor แต่นี่ DFI แห่งนี้บัญญัติชื่อขึ้นมาอีกอย่างนั่นก็คือ Rose Gold Cross Back (กุหลาบทอง) ดูเผินๆ แล้วแทบไม่ต่างกับทองมาเลย์เลย ง่ายๆ ว่าดูไม่รู้ว่าเป็นลูกครึ่งว่างั๊นเถอะ เนื้อตัวเงางาม มีการเปิดของเกล็ดละเอียด เช่นกันครับ… บางตัวก็ข้ามหลังแล้ว บางตัวก็มีหัวทอง สวยโดยไม่ต้องลุ้นตั้งแต่เล็กกันทั้งนั้นเลยนะเจ้าหนูน้อยพวกนี้ (Rose Gold ที่นี่ผมเคยเห็นตัวใหญ่แล้ว สีเกล็ดมีลักษณะเป็นสีทองจางแต่มันเงาวาววับ ข้ามหลังเกลี้ยงและในเนื้อเกล็ดมีสีม่วงข้างใน)
ที่ประเทศสิงคโปร์ TY เป็นที่ยอมรับและนิยมเลี้ยงกันมาก เพราะโตขึ้นจะมีสีสรรที่สวยงามแปลกตาไม่เหมือนใคร จัดได้ว่าเป็นปลาขายดี แต่ในบ้านเราไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักไม่ทราบว่าเพราะไม่ถูกใจในสีสัน หรือชอบเล่นสายพันธุ์แท้กันมากกว่า ? เคยมีหลายร้านนำเข้ามาจำหน่าย ทั้งที่ตัวปลาก็รูปร่างหน้าตาดี ไม่มีตำหนิอะไรทั้งสิ้นแต่กลับไม่มีคนสนใจ ปล่อยให้โตคาร้านกลายเป็นปลาที่ไม่น่าซื้อไปแบบนั้น… แต่ของแบบนี้ต่างคนต่างชอบครับ คุณว่าสวยผมอาจว่าไม่ คุณว่าไม่เท่าไหร่ผมอาจจะว่าเลิศเลอก็ได้ จริงมั้ยครับ ? (แต่โดยส่วนตัว TY ตัวเจ๋งๆ นี่ก็สวยบาดใจเหมือนกันนะครับ)
NOTE : แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “ลูกครึ่ง” แต่ปลาสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในชั้นของ Xback หรือ “ทองมาเลย์” นะครับ ไม่เกี่ยวข้องกับปลาแดงแต่อย่างไร (เหมือนกับ Hiback ที่จัดอยู่ในลำดับชั้นของ RTG ไม่ถึงขั้น Xback อย่างที่หลายท่านเข้าใจกัน)
3. มาดูตู้ Rose Gold หรือลูกครึ่งทองมาเลย์ x แดง บ้าง
4. ดูผ่านๆ แล้วไม่ต่างทองมาเลย์ธรรมดาเท่าไหร่นัก
5. ใช้ Power Head ติดฟองน้ำเป็นเครื่องกรองหลัก โดยมีท่อต่อไปกรองรวมด้วย
หลังจากดูปลาใน Show Room แล้ว Mr. William ก็ชวนพวกเราไปดูบ่อเพาะพันธุ์ปลาที่ด้านนอก นี่แหละครับเป็นอะไรที่เรารอมานานแล้ว… ในที่สุดก็ได้เห็นซะที ว่าแล้วก็ไม่รอช้าเดินตามเขาออกไปเปิดหูเปิดตาดูบ่อพ่อแม่พันธุ์ในทันที บ่อปลาที่นี่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ด้านบน กับ ด้านล่าง ด้านบนตอนนี้จะเป็นบ่อของ RTG หรือทองอินโด บ่อที่ผมเห็นอยู่นี้มีขนาดประมาณ ยาวเกือบ 30 เมตร และกว้างราว 8 เมตร เป็นบ่อคอนกรีตไม่ใช่บ่อดินเหมือนที่เคยเห็นฟาร์มทั่วไป การเก็บภาพก็ค่อนข้างจะยากนิดนึงตรงที่สีน้ำเป็นสีเขียว (จากแสงแดด) จึงทำให้มองเห็นตัวปลาไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ดูแล้วก็นับได้ไม่น่าจะเกิน 10 ตัว ทั้งหมดนี้ Mr. William ว่าเป็นพ่อแม่พันธุ์ ไม่ใช่ปลาวัยรุ่น ผมรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยตรงนี้พ่อแม่ปลามีขนาดเล็กไปหน่อย กะจากสายตาก็น่าจะราวๆ 20” เท่านั้นเอง หรืออาจเป็นเพราะเรายืนดูอยู่สูงประกอบกับแสงแดดที่ส่งลงมาจึงทำให้การกะคาดคะเนผิดเพี้ยนไปก็เป็นได้
6. ภาพบรรยากาศของฟาร์มในส่วนบน
7. บ่อนี้เป็นบ่อของ RTG ครับ
ส่วนนี้มีเพียงแค่บ่อสองบ่อ Mr. William บอกว่าไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษจึงชวนให้พวกเราลงมาดูพ่อแม่ปลาในบ่อด้านล่างดีกว่า แค่มองลงไปก็ตื่นเต้นแล้วเพราะมีหลายบ่อแล้วก็ใหญ่ๆ ทั้งนั้น บ่อส่วนล่างยังแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่งด้วย โดยฝั่งขวาบ่อแรกนั้นมีขนาดใหญ่มาก (ที่มีต้นไม้ผิวน้ำพวก จอก แหน เต็มไปหมด) ที่ใหญ่เป็นพิเศษก็เพราะเป็นบ่อเก็บน้ำสำหรับเปลี่ยนถ่ายในแต่ละบ่อ ผมเคยได้ยินว่าสิงคโปร์ไม่มีจืดเป็นของตัวเองเพราะเป็น “เกาะ” ต้องสั่งซื้อซื้อจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย แล้วอย่างฟาร์มปลาที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมากแบบนี้ก็คงต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่มหาศาลแน่ๆ (แต่ก็คงไม่เป็นไรเพราะผลผลิตที่ได้มีราคาสูงมาก) แต่ทว่ารายละเอียดการเปลี่ยนน้ำถ่ายนั้น เขาไม่ได้บอกมาแต่ผมคิดว่าคงไม่ได้บ่อยๆ เหมือนบ้านเราแน่เพราะค่าน้ำแพง
NOTE : ฟาร์มนี้จัดได้ว่าเป็นฟาร์มที่มีขนาดกลาง ไม่เล็กและไม่ได้ใหญ่จนเกินไป โดยมีคนงานดูและฟาร์มเพียง 5 คนเท่านั้น นับว่าใช้คนน้อยมาก (ในภาพบ่อเก็บน้ำ คนงานกำลังทำความสะอาดบ่อ ก่อนการตรวจสอบคุณน้ำเพื่อการกักเก็บครั้งต่อไปครับ)
8. ไปดูโซนล่างกันดีกว่า บ่อใหญ่และมีจำนวนมากกว่าเยอะ
9. บ่อนี้ใช้สำหรับกักเก็บน้ำเพื่อใช้เปลี่ยนในแต่ละบ่อ
เช่นกันครับ บ่อปลาฝั่งขวาที่เห็นว่ามีหลายๆ บ่อนั้นส่วนใหญ่จะเป็นบ่อเก็บน้ำ และบ่อเปล่าที่ไม่มีปลา ส่วนบ่อที่มีปลาจะอยู่ด้านซ้ายทั้งหมด อย่างบ่อที่เห็นอยู่นี้ก็เป็นบ่อพ่อแม่พันธุ์ของปลา Golden Head ถ้าเปรียบเทียบกับบ่อ RTG ที่เห็นอยู่ก่อนหน้าจะพบว่าบ่อนี้ใสสะอาดกว่าแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันก็ตาม ดังนั้นจึงทำให้เห็นตัวปลาค่อนข้างชัดเจน จากการสอบถาม Mr. William ก็ได้ข้อมูลว่าบ่อปลาสำหรับการเพาะพันธุ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร ยาว 10 เมตร ส่วนความลึกจะเป็นระดับขั้นไปไม่เสมอกันทั้งหมด มีตั้งแต่ส่วนที่ลึก 1 เมตร ไปจนลึกถึง 4 เมตร (ดูเผินๆ แล้วไม่น่าจะถึง แต่ก็เป็นข้อมูลจากเจ้าของฟาร์มโดยตรง)
ปลาที่พวกผมเห็นอยู่นี้ Mr. William บอกว่าเป็นพ่อแม่ของลูกปลา Golden Head ที่เราเพิ่งจะชมกันใน Show Room ผมยอมรับว่าพ่อแม่ปลาของเขามีความสวยงามจริง เกล็ดข้ามหลังหมด สีสรรสวยงาม และก็เป็น Golden Head ทุกตัว เจ้าของฟาร์มกล่าวว่าในบ่อนี้มีปลาประมาณ 40 ตัว และพ่อแม่ปลาที่เห็นก็มีอายุประมาณ 6 ปีแล้ว (ผมยังรู้สึกขัดใจในเรื่องของขนาดอยู่ อืม… 20 – 22 นิ้วถือว่าเล็กไปหน่อยครับสำหรับปลา 6 ปี) และปีนึงจะให้ลูกประมาณ 2-3 ครั้ง ส่วนมากน้อยแค่ไหนตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่สภาพความสมบูรณ์ของตัวปลาในเวลานั้น (เพื่อนๆ สามารถติดตามชมภาพ “การง้างปาก” หรือ Harvesting ได้ที่เวบไซท์ของฟาร์มนะครับ www.dragonfish.com )
10. ส่วนบ่อนี้เป็นบ่อของพ่อแม่พันธุ์ Golden Head
สอบถามถึงเรื่องอาหารที่ใช้บ้าง ฟาร์ม DFI แห่งนี้ใช้ “เนื้อกุ้งตาย” เป็นอาหารสำหรับปลาทุกตัวในฟาร์มไม่เว้นแต่ปลาเล็ก ไม่ได้ใช้ “กุ้งฝอย” หรือ “หนอนนก” เหมือนอย่างในบ้านเรา ยิ่งอย่างหลังนี่ผมยังไม่ได้เห็นในสิงคโปร์แห่งนี้เลย… น่าแปลกนะครับที่ฟาร์มปลาแห่งนี้ไม่มีปลาแดง Super Red มาให้ชม (แปลกใจตั้งแต่ใน Show Room แล้ว) Mr. William บอกเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่มีพ่อแม่พันธุ์” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นานผมเคยเห็นปลาแดงที่ระบุชื่อในใบรับรองสายพันธุ์ว่า Chili Red จาก DFI มีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย !?
11. เป็น Golden Head กันถ้วนหน้าเลยนะครับ (แต่ขนาดปลาเล็กไปหน่อย)
ก่อนออกจากที่นี่ Mr. William ได้พาพวกผมไปดูบ่อปลาของ Rose Gold ดูปลาจาก Top View แล้วแทบไม่ต่างอะไรกับทองมาเลย์ Golden Head นัก ข้ามหลังเหมือนกันหมด สีสันก็ดีเนื้อเกล็ดเป็นมันเงางาม พูดง่ายๆ ก็คือสวยหมดเลย… ที่ DFI แห่งนี้ผมได้ประทับใจกับบรรยากาศของฟาร์ม ได้ชมเหล่าพ่อแม่พันธุ์ของปลามังกรสายพันธุ์ต่างๆ แต่ว่าจำนวนพ่อแม่ปลาที่ให้ดูมีน้อยไปหน่อย (แต่ลูกปลามีเต็มเลย สะใจจริงๆ) เมื่อเห็นว่าเราใช้เวลากันที่นี่นานพอสมควรแล้ว เขาก็บอกให้เราเร่งมือนิดหนึ่งเพราะยังมีหลายฟาร์มที่เราต้องเยี่ยมชม ว่าแล้วจึงบอกลา Mr. William และขอถ่ายภาพร่วม ปิดท้ายการชมฟาร์ม Dragon Fish Industry ด้วยการชักภาพหมู่กับเพื่อนๆ ทั้งคนไทย และสิงคโปร์ รวมถึง Mr. William ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มด้วย
NOTE : ห้องอนุบาลปลาเล็ก ที่นี่ถือเป็น Secret Area ที่ไม่ว่าลูกค้ารายไหนก็ไม่สามารถเข้าไปได้ มีการล๊อคกุญแจอย่างแน่นหนาและมีสุนัขตำรวจหลายตัวเฝ้าอยู่อย่างใกล้ชิด ตอนที่ผมไปเข้าห้องน้ำสังเกตเห็นอ่างปลาหลายใบวางเรียงรายอยู่และยังมีตู้ปลาอีกบางส่วน (ที่สังเกตเห็นเพราะส่วนนั้นเป็นห้องไม้ ตีตารางเป็นช่อง ไม่ได้เป็นห้องทึบเหมือนใน Show Room คงเพราะต้องการให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น) แต่ว่าไม่สามารถถ่ายรูปได้เพราะไม่ได้เอากล้องไป หรือถึงเอาไปก็คงถ่ายไม่ได้อยู่ดีเพราะสุนัขเห่าเสียงดังรุนแรงอยู่อย่างไม่ขาดสาย… โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยกลัวหมา แต่ได้ยินต่อเนื่องแบบนี้เข้าก็เกรงๆ เหมือนกันครับ
Nanconnection
12. ปิดท้ายด้วยการถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนๆ และ Mr. William เจ้าของฟาร์ม DFI