ใบรับรองสายพันธุ์ปลา (Certification) ตามมาตรฐานสากลคือใบรับรองสายพันธุ์ปลาที่ทางฟาร์มออกให้กับผู้ซื้อเพื่อเป็นการรับรองสินค้าว่าเป็นสายเลือดแท้ถูกต้องตรงตามสายพันธุ์ ใบเซอร์ที่สมบูรณ์จะประกอบด้วย การระบุชื่อสายพันธุ์… Tag Number (หมายเลข Chip)… ชื่อฟาร์มที่เพาะพันธุ์ และ ตราประทับ (เป็นตัวนูน)… คำรับรอง… ลายเซ็นหรือลายมือชื่อเจ้าของฟาร์ม… และ วันที่ออกใบเซอร์ (เป็นวันเดียวกับวันที่ฝัง Chip) ใบเซอร์ในท้องตลาดบ้านเรามี 4 ชนิดคือ…
1. ใบรับรองจากฟาร์มโดยตรง เป็นใบรับรองที่ออกโดยฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาโดยตรง ตัวอย่างเช่น ใบเซอร์จากฟาร์มเซี่ยนเหล็ง… ฟาร์มกิมกัง… ฟาร์ม Panda… Dragon Fish Industry
2. ใบรับรองจากตัวแทน เป็นใบรับรองของ Trader ที่ไม่ได้เพาะพันธุ์เองแต่ทำหน้าที่ไปคัดเลือกซื้อปลาจากที่ต่างๆ แล้วออกใบระบุสายพันธุ์เอง ตัวอย่างเช่น ใบเซอร์ของ Wan Hu
3. ใบเซอร์ร่วม เป็นใบเซอร์ที่ออกร่วมกันระหว่างผู้นำเข้าและเจ้าของฟาร์ม ตัวอย่างเช่นใบเซอร์ของฟาร์ม Grand Arowana ที่ร่วมกันกันทำขึ้นระหว่าง Grand กับฟาร์มกิมกัง
4. ใบเซอร์ร้าน เป็นใบเซอร์ที่ออกโดยร้านค้าที่นำปลาเข้ามาจำหน่ายอย่างเช่นใบเซอร์จากร้าน Max และร้าน Arowana King ใบรับรองชนิดนี้เป็นตัวรับรองว่าผู้ซื้อได้ซื้อปลาไปจากร้านนั้นจริงและทางร้านก็แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในกรณีที่ปลามีปัญหาอย่างเช่น เลี้ยงไปแล้วกลับกลายเป็นผิดสายพันธุ์ หรือไม่ได้ความสวยงามตรงตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามใบเซอร์ร้านเป็นเพียงเอกสารรับรองระหว่างผู้ซื้อกับร้านเท่านั้นเพราะฉะนั้นรายละเอียดต่างๆ ในใบรับรองอาจไม่สมบูรณ์ชัดเจนอย่างของจากทางฟาร์มเพาะพันธุ์โดยตรง
ความสำคัญของใบเซอร์แรกๆ มีเพื่อเป็นการรับรองสายพันธุ์ปลาว่าเป็นพันธุ์แท้แน่นอนซึ่งเหมาะสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่มีความรู้และมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการถูกหลอกขาย
ตัวอย่างเช่นลูกค้าในต่างจังหวัดที่เข้ามาซื้อปลาในเมืองกรุงหรือแม้แต่ลูกค้าที่ซื้อปลาในต่างจังหวัดเอง สำหรับคนที่เลือกปลาไม่เป็นเลยหรือดูไม่ออกว่าแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร “ใบเซอร์” จะเป็นตัวช่วยกระชับความมั่นใจให้กับผู้ซื้อมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง… ใบเซอร์เป็นเพียงกระดาษแผ่นนึงที่เจ้าของฟาร์มหลายๆ ฟาร์มทำแข่งกันให้เลิศหรูดูมีคลาสเพื่อยกระดับสินค้าของตัวเอง ฉะนั้นสำหรับผู้ที่ดูปลาเป็นใบเซอร์เป็นแค่ “แผ่นกระดาษ” ใบนึงเท่านั้นเอง คุณค่าความสำคัญจริงๆ มันอยู่ที่ “ตัวปลา” มากกว่า แต่กรณีที่ผมยกตัวอย่างไปนี้เป็นมุมมองสำหรับผู้เลี้ยงมือเก่านะครับเพราะสำหรับนักเลี้ยงมือใหม่ที่ยังไม่มีความรู้ ไม่มีคนปกป้องผลประโยชน์ ไม่มีที่ปรึกษา… ใบเซอร์ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่เพราะเป็นสิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่าเราได้ซื้อปลาที่ถูกต้องตามสายพันธุ์
แม้แต่ผู้ขายหรือคนทำการค้าเองแล้ว ใบเซอร์มีความสำคัญต่อธุรกิจค่อนข้างมากทำให้การขายเป็นไปได้ง่ายขึ้น (ซื้อง่ายขายง่าย) ไม่ต้องคอยตอบพายุคำถามอันจู้จี้จุกจิกของลูกค้ามือใหม่ที่โดยพื้นฐานมักจะขี้สงสัย… แล้วถ้าคนขายไม่รู้จริงหรือตอบได้ไม่ชัดเจนก็จะเจอลูกค้าประเภทเข้ามาถามๆ แบบไม่มีการซื้อขายเสร็จแล้วก็จากไปอย่างไม่มีเยื่อใย โดยคำถามส่วนใหญ่ของมือใหม่ที่ผ่านเข้ามาในระหว่างดูปลาก็จะเป็น “ปลาตัวนี้มีใบเซอร์มั๊ย ? ถ้ามีเป็นของฟาร์มไหน ? มีเซอร์กับไม่มีต่างยังไง ? ราคาต่างกันมากมั้ย ? แล้วแบบไหนสวยกว่ากัน ?”… ตอบกันอ่วมเลยในแต่ละวัน แต่ยังไงก็ตามหากปลามีเซอร์ก็มักจะขายกับนักเลี้ยงมือใหม่ได้ง่ายกว่า ในขณะที่คนเคยเลี้ยงมาก่อนจะให้ความสำคัญกับตัวปลามากกว่า ลักษณะปลา ฟอร์มการว่าย เครื่อครีบ สีสัน แววอนาคต ฯลฯ ส่วนใบเซอร์จะถูกให้ความสำคัญรองลงมา (ปลาที่สวยไม่จำเป็นต้องมีใบเซอร์ แต่ปลาที่สวยแล้วมีเซอร์นั่นก็ถือเป็นกำไร 2 ต่อ)
อย่างที่ได้อธิบายชนิดของใบเซอร์ให้เพื่อนๆ ทราบแล้วด้านบน ใบเซอร์ในปัจจุบันนอกจากจะออกจากฟาร์มโดยตรงแล้ว “เซอร์ตัวแทน”… “เซอร์ร่วม” และ “เซอร์ร้าน” ก็เข้าแถวเรียงขบวนตามกันมาเช่นกัน อย่างเช่นใบเซอร์จากร้าน Max ที่เป็นเซอร์ร้านแต่ได้รับการอนุญาตให้ออกโดยฟาร์ม Xianlon จากประเทศมาเลเซียอย่างถูกต้อง ใบเซอร์เหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเซอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หลายคนยังไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์และความต้องการของทางร้าน การมีเซอร์ร้านก็เป็นอีกทางเลือกนึงที่ดีของผู้ซื้อซึ่งสามารถ Claim หรือเรียกร้องอ้างสิทธิ์ได้จากทางร้านที่ซื้อ (หมายถึงร้านที่ออกเซอร์ให้) ได้โดยตรงโดยไม่ต้องไปอ้าง “อ้าว ! ก็ซื้อจากร้านคุณแหละ… วันนั้นไง !!! เอ๊ะ ! วะ ! ทำไมจำไม่ได้ ราคาเท่านั้นเท่านี้แล้วก็เพิ่งจะซื้อไม่นานมานี้เอง …ว๊า เว๊ย !!! ให้เสียอารมณ์ บ่นอุบ วุ่นอกวุ่นวายใจ”… แต่หากเป็นร้านอื่นๆ การขายปลาพร้อมใบเซอร์มาตรฐานเช่นใบเซอร์ที่ออกโดยฟาร์มอาจเจอปัญหานี้… “ปลาจากฟาร์มที่คุณซื้อไม่ได้มีร้านผมขายร้านเดียว… แล้วนี่ก็ไม่ใช่ปลาร้านผม คุณคงจะซื้อร้านอื่นมา ไม่ทราบว่าจำผิดรึเปล่าครับ ?”… บอกปัดความรับผิดชอบ ฉะนั้นผมมองว่าเซอร์ร้านก็ Ok นะครับสำหรับทั้งมือเก่าและมือใหม่เพื่อยืนยันถึงความตั้งใจและ Spirit ของผู้ขายในการแสดงความผิดรับชอบของสินค้าตัวเองที่ขายไปแล้ว…
สรุปให้ฟังนะครับ… ปลาที่สวย ไม่ต้องมีใบเซอร์ก็ได้ (แต่ถ้าปลาสวยและมีเซอร์มี Chip ด้วยก็แจ๋วเลย) หากจะซื้อไปเลี้ยงก็คำนึงถึงตัวปลาก่อน ใบเซอร์มาหลัง หากจะซื้อไปขาย… ปลาก็สำคัญ เซอร์ก็สำคัญ มองทั้งสองอย่างควบคู่กันไป สำหรับมือใหม่อดใจซักนิดให้เวลาศึกษาหาข้อมูลซะก่อนแล้วผลที่ได้รับจะมีแต่คุ้มค่า จะเสียเงินพันเงินหมื่นจะซื้อ “ใบ” หรือจะซื้อ “ตัว” คิดกันให้ดีนะครับ… แถมท้ายนิดนึงว่าเมื่อก่อนนี้ปลาที่มีใบเซอร์มี Chip ฝังมาจะมีราคาแพงมากนะครับเพราะเป็นปลาจากฟาร์ม เป็นลูกปลาคัดพิเศษจากพ่อแม่พันธุ์ชั้นดีส่วนปลาไม่มีเซอร์จะราคาถูกว่า แต่ในปัจจุบันปลาในท้องตลาดมีเซอร์มี Chip กันมาก ทำให้ปลาที่ไม่มีเซอร์ถูกผู้ขายหลายรายโฆษณาปลาตัวว่าเป็น “ปลาป่า” โดยแสดงการโฆษณาเปรียบเทียบอย่างมืออาชีพให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนเช่นว่า ปลาป่าจะสวยกว่าปลาฟาร์ม ฟอร์มการว่ายก็ดีเด่นกว่า สีสันไม่ต้องพูด อูย… แดงสุดๆ แดงแบบไม่ต้องอายใคร (ทั้งที่มองดูแล้วไม่มีวี่แวว) หรือแม้แต่เขียวที่มีบางร้านว่ามี “เขียวไทยแท้” (แต่ไม่มีเซอร์) แล้วคุยโวว่าเขียวไทยสวยกว่าเขียวมีเซอร์จากร้านอื่น… เรื่องของการค้าขายเทคนิคใครก็เทคนิคมัน ยังไงผมขอฝากจุดนี้ไว้ให้ระวังด้วยนะครับ
Nanconnection
*** ที่เห็นแท่งดำๆ เล็กๆ ในใบรับรองสายพันธุ์ภาพแรก (Dream Fish) นั่นคือ Microchip ที่ฝังอยู่ในตัวปลานะครับ ขนาดทั่วๆ ไปก็ประมาณ 12 มม.