เรื่องราวของบทความนี้เกิดขึ้นตอนที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านของเพื่อนรักนักเลี้ยงปลาคนนึงครับ… ซึ่งก็คือพี่แวน โดยที่พี่แวนมีรบกวนขอให้ผมช่วยไปดูอาการเหงือกปลามังกรเงินให้หน่อยเนื่องจากมีปัญหา ไม่แน่ใจว่าเป็นโรค “เหงือกหุบ” รึเปล่า ? แต่เห็นที่เหงือกอ่อนมีรอยช้ำยับและทรุดตัวลงเร็วทุกวัน พี่แวนบอกว่าเริ่มเป็นตอนต้นสัปดาห์แต่แค่เพียง 3-4 วัน สภาพเหงือกเป็นอย่างที่ผมเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง…
จริงๆ ก่อนหน้านี่ผมได้เห็นสภาพเหงือกมาก่อนแล้วเพราะว่าพี่แวนส่งรูปให้ดูผ่านทาง Email Address จึงทำให้ผมได้เห็นอาการปลาและวางแผนได้ถูกต้องได้ว่ากับสภาพอาการเหงือกที่เห็นจะต้องใช้การวิธีรักษาวิธีไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด แรกๆ ตอนที่ได้เห็นรูปครั้งแรกก็งงมาก… เพราะโดยปกติแล้วอาการของโรคเหงือกมักจะเป็นคู่กัน 2 ข้างไม่ว่าจะเป็นโรคเหงือกอ้า เหงือกพับ เหงือกหุบและเหงือกบุ๋ม แต่กับปลาของพี่แวนกลับเป็นแค่ข้างเดียว ผมจึงสอบถามเรื่อง “น้ำ” ในตู้จากพี่แวนว่าเป็นยังไง ? มีการเปลี่ยนถ่ายเป็นประจำรึเปล่า ? ปล่อยให้สกปรกหรือไม่ ? มีค่าของเสียมากเกินไปรึเปล่า ? เพราะโดยปกติแล้วโรคเหงือกทั้งหลายแหล่มักมีที่มาจากปัญหาเรื่องน้ำเลี้ยงในตู้ปลา แต่พี่แวนก็ว่าไม่มีปัญหาอะไร Tankmate ตัวอื่นๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร น้ำก็เปลี่ยนเป็นปกติ อาหารก็ให้เป็นปกติ ไม่มากไม่น้อยเกินไปและทุกครั้งปลาก็กินหมดไม่เหลือเศษตกค้างให้เน่าเหม็นภายในตู้ พี่แวนก็แปลกใจว่าทำไมถึงเกิดขึ้น ? แต่ไม่เป็นไรครับ ยังไงเรื่องมันก็เกิดขึ้นแล้วยังไงก็ต้องรักษาเพื่อให้เหงือกกลับมาสวยใหม่เหมือนเดิม…
NOTE : ตู้ที่พี่แวนเลี้ยงปลาปลามังกรเงินตัวนี้ (ขอแนะนำว่าชื่อเจ้า Peter นะครับ) เป็นขนาด 84”x30”x30” ระบบกรองใช้เป็นกรองนอกตู้ขนาดใหญ่ตัวเดียว (Eheim 2260 ประสิทธิภาพในการกรองน้ำ 1,900 ลิตรต่อชั่วโมง) วัสดุกรองที่ใช้คือ Substrate และ Ceramic Ring ครับ… สมาชิกทั้งหมดภายในตู้มี มังกรเงินขนาด 27” 1 ตัว… อะราไพม่าขนาด 15” 2 ตัว… ปลาเสือตอลายใหญ่ขนาด 10” 2 ตัว และลายคู่ขนาด 6” 1 ตัว… Red Tail และ Tiger Catfish ขนาด 1 ฟุตอย่างตัว… ปลานกแก้วและปลาจรเข้ Florida อย่างละ 1 ตัว… รวมแล้วในตู้นี้ก็ 10 ชีวิตครับ
จริงๆ แล้วถ้าอาการนี้เป็นในระยะเริ่มต้นคือหมายถึงเริ่มสังเกตเห็นอาการอาจใช้วิธีการเพิ่มหัวทรายให้ออกซิเจนและใส่เกลือช่วยในการรักษาได้ แต่อาการเหงือกของพี่แวนไปถึงขั้นช้ำและยับแล้วล่ะครับจึงไม่สามารถที่ใช้วิธีการดังกล่าวรักษาได้และถ้าปล่อยไว้ก็จะมีแต่ทำให้อาการแย่ลง… จนอาจถึงขั้นเน่าและลุกลามจนกินเข้าไปในเหงือกหลัก ถึงขั้นนั้นแล้วปลาของเราก็จะไม่หลงเหลือความสวยงามให้เห็นแล้วล่ะครับ ผมดูจากรูปที่พี่แวนส่งมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็ตัดสินใจว่าคงต้องทำการศัลยกรรม โดยจะตัดเหงือกข้างที่ช้ำออกไปแล้วให้ขึ้นใหม่ วิธีที่ผมเสนอไปก็ตรงกับความต้องการของพี่แวนเช่นกัน พอดีพี่แวนเป็นนักเลี้ยงปลามังกรเช่นกันและมีการศึกษาหาความรู้มาโดยตลอดฉะนั้นเรื่องโรค หรือเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับปลามังกรก็เรียกได้ว่าพี่แวนมีความรู้พอตัวเลยทีเดียวครับ ฉะนั้นอาการโรคที่เกิดกับเจ้า Peter ผมกับพี่แวนจึงเป็นอันเข้าใจและเห็นพ้องตรงกันว่าต้องศัลยกรรมเท่านั้นจึงจะหาย… แต่ทว่าเรื่องการตัดแต่งแม้พี่แวนจะมีความรู้แต่ก็ไม่เคยทำ จึงต้องเป็นหน้าที่ของผมไงล่ะครับ (พูดง่ายๆ คือเรียกผมไปใช้งาน 5555) เมื่อสรุปวิธีการรักษาได้แล้วคราวนี้ก็ถึงเวลานัดแนะวันเวลาที่แน่นอนที่จะเข้าไปทำการศัลยกรรม… พี่แวนเป็นคนรูปหล่อหน้าตาดีแต่ใจร้อนนิดๆ ครับ คืออยากให้ปลาหายเร็วๆ (แบบนี้ถือว่าดีนะครับ… เป็นคนรักและห่วงสัตว์เลี้ยง) การเข้าหาจึงเพียงแค่ 2 วันหลังจากที่ได้คุยกัน
บ้านผมกับบ้านพี่แวนไม่ได้อยู่ใกล้กันเลยครับ… สาธุประดิษฐ์กับโชคชัย 4 แต่แม้ไกลแค่ไหนพี่แวนก็มารับครับโดยนัดกันตั้งแต่เช้าตรู่เลย ผมเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้นั่นก็คือ ถุงจับปลาขนาดใหญ่ ยาสลบ ถุงมือยางและกรรไกร เรียบร้อยแล้วก็เริ่มออกเดินทางโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็ไปถึง พอถึงบ้านพี่แวนผมก็ตรงไปดูอาการปลาที่ตู้เลย แต่สิ่งที่ผมตกตะลึงไม่ใช่อาการของโรคนะครับแต่ไปตะลึงกับขนาดของปลามากกว่า… โอ !! ปลา 27” นี่มันใหญ่จริงๆ จะไหวมั้ยนี่ ? งานใหญ่ครับงานนี้… ดูจากลักษณะเหงือกของปลาตัวจริงก็ไม่ถือว่าหนักหนาจนรักษาไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถปล่อยวางใจให้หายเองได้ ดูอาการเสร็จแล้วมองหน้าพี่แวนส่งสัญญาณว่าพร้อมแล้วก็เริ่มงานศัลยกรรมเลย…
ผมมักจะบอกเพื่อนๆ เสมอว่า ขั้นตอนในการทำการศัลยกรรมจะมี 4 ขั้นตอนก็คือ… การจับต้อนปลา… การวางยาสลบ… การศัลยกรรม และสุดท้าย… การทำให้ปลาฟื้น ทุกขั้นตอนมีความเสี่ยงทั้งหมด จับปลาไมได้ ปลาไม่ให้ความร่วมมือ ว่ายหนีหัวซุกหัวซุน พุ่งไปมาเป็นจรวดก็ไม่ไหวครับ ปลาจะเหนื่อยและช้ำในซะก่อน… การวางยาสลบก็จะมีผลต่อการฟื้นตัว ถ้าวางน้อยเกินไปก็ทำไมได้ ปลาว่ายดิ้นหลุดมือ วางมากเกินปลาอาจไม่ฟื้นครับ… การทำการศัลยกรรม ถ้าตัดแต่งเป็น ปลาก็จะมีโอกาสหายเป็นปกติหรืออย่างน้อยที่สุดก็ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้าทำไม่เป็นปลาก็เละ ไม่หายแถมยังดูไม่ได้ยิ่งกว่าเดิม… สุดท้ายการทำให้ปลาฟื้น ก็อย่างที่ได้กล่าวไปครับคือขึ้นอยู่ปริมาณยาสลบที่ใช้และความแข็งแรงของตัวปลา ฟื้นตัวแล้วอาจจะกินได้เลย หรือฟื้นแล้วนิ่งซึม ไม่กิน ไม่ว่าย เป็นเดือนๆ… เป็นไงครับ ทุกขั้นตอนทั้งหมดมีความเสี่ยงอย่างที่ผมว่าจริงรึเปล่า ? เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงต้องใส่ใจรายละเอียดทั้งหมดให้ดีนะครับ แล้วลองมาดูวิธีการศัลยกรรมในแบบของผมซึ่งผมจะเขียนบรรยายเป็นขั้นตอนให้เพื่อนๆ ทราบในส่วนต่อไป…
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเจ้า Peter อยู่ในตู้ขนาด 84”x30”x30” ซึ่งถือว่าเป็นตู้ที่มีขนาดใหญ่มาก… ปลาใหญ่ก็จับต้อนยากอยู่แล้วยังต้องมาเจอตู้ที่ใหญ่อีกด้วยจึงทำให้งานนี้ยาก… ต้องใช้ความระมัดระวังไม่น้อย (ผมยิ่งตัวเล็กๆ อยู่ด้วย… เหนื่อยเลยครับ) วิธีที่การจับต้อนปลาที่ปลอดภัยอันดับแรกก็คือการลดปริมาณน้ำในตู้ลง ตอนที่ผมไปพี่แวนลดน้ำไว้แล้ว 1/3 ของตู้ ผมบอกว่าปริมาณน้ำยังมากเกินไปอยู่อยากให้พี่แวนลดลงไปอีกหน่อยให้เหลือซักครึ่งตู้จะปลอดภัยกว่าเพราะผมเองไม่ได้คุ้นเคยกับปลาตัวนี้ ไม่ได้เลี้ยงดูมันจึงไม่รู้จักนิสัยมัน… เสียเวลาหน่อยแต่เพื่อความปลอดภัยมันคุ้มค่ากว่ากันเยอะครับ หลังจากที่ลดน้ำจนถึงปริมาณที่บอกไว้แล้วผมก็เริ่มการต้อนปลาทันที…
เนื่องจากว่าเจ้า Peter นี้เป็นปลาใหญ่… ฉะนั้นถุงที่ใช้จับต้อนปลาจึงต้องเป็นขนาดใหญ่ตามเพื่อทำให้จับปลาได้ง่ายขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือปลามังกรไม่ว่าจะสายพันธุ์ก็ตามแต่เป็นปลาที่แข็งแรงและมีกำลังมากทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถุงที่ใช้ควรมีเนื้อหนาและเหนียวหน่อยเพื่อที่จะได้มีแรงต้านเพียงพอเวลาที่ปลาตกใจกระโดดพุ่งชนถุง ถ้าใช้ถุงอย่างบาง (หรือถุงขยะ) จะแตกทะลุง่าย… ถ้าปลาพุ่งชนแตกในตู้ก็ยัง Ok รอดตัวไปแต่ถ้าในระหว่างการยกลงปลาพุ่งชนถุงแตกล่ะก็เป็นเรื่องเลย สำหรับเจ้า Peter ผมก็ค่อยๆ ต้อนจับโดยมือนึงกางถุงรอไว้แล้วอีกมือใช้กระชอนต้อนปลาเข้าถุง การต้อนปลาวิธีที่ถูกต้องคือต้อนบริเวณหัวปลานะครับเพื่อบังคับทิศทางได้ ถ้าต้อนที่บริเวณอื่นเช่นหางหรือลำตัวจะไม่มีผลให้จับง่ายขึ้นเท่าไหร่นัก… การจับเจ้า Peter เรียกว่าโชคดีด้วยที่มันให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยตื่นตกใจ มีว่ายหนีไปมาเล็กน้อยแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้ปวดหัวเหนื่อยใจ ผมใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถจับมันได้…
NOTE : เป็นเพราะว่าตู้นี้มีสมาชิกในตู้เป็นจำนวนมาก เวลาลดน้ำเหลือครึ่งตู่จึงเป็นการลดเนื้อที่การว่ายน้ำของพวกมันด้วย ดังนั้นจึงตื่นเต้นเป็นการใหญ่โดยเฉพาะเจ้าฝาแฝดอะราไพม่า ที่กระโดดพุ่งไปพุ่งมาอย่างน่ากลัว (เกือบกระแทกหน้าผมแน่ะ… ถ้าโดนสงสัยสลบคาคานตู้แน่ครับ) แต่ทว่าครั้นจะโยกย้ายออกก็ทำได้ยากเพราะไม่มีถังหรือภาชนะอื่นรองรับ อีกอย่างการจับเจ้ามังกรเงินตัวนี้ก็ไม่ได้ใช้เวลานานนัก ค่อยๆ ใจเย็นๆ ก็แล้วกัน…
เมื่อจับได้แล้วต่อไปก็เป็นวิธีการวางยาสลบ… การวางยาสลบที่ถูกต้องควรใช้วิธีหยดยาในถุงนะครับเพื่อลดปริมาณในการใช้เพราะถ้าหากหยดยาลงไปในตู้จะเป็นการสิ้นเปลืองยามากเกินไป แต่เหตุผลที่สำคัญในการหยดยาลงในถุงก็เพื่อสามารถควบคุมอาการปลาได้ เวลาปลาสำลักหรือดิ้นก็จะอยู่ภายในถุง (สำหรับเจ้า Peter เพื่อการทำศัลยกรรมตกแต่ง ผมใช้จำนวนยาสลบไปประมาณ 40 หยดครับ)… หลังจากหยดยาสลบไปแล้วผมก็ใช้หัวทรายใส่ลงไปในถุงเพื่อให้หัวทรายกระจายอากาศในน้ำ วิธีนี้จะทำให้ยาสลบออกฤทธิ์เต็มที่และทำให้ปลาสลบเร็วขึ้น เป็นอย่างที่คาดไว้ครับเพราะใช้เวลาเพียงไม่นานเจ้า Peter มังกรเงินยักษ์ใหญ่ก็สลบไสลพร้อมรับงานศัลยกรรม
NOTE : การหยดยาสลบในถุงควรให้น้ำยาสลบหยดลงไปที่ “น้ำ” พยายามอย่าให้โดนขอบถุงเพราะเป็นการเสียยาเปล่า (ระวังปลากระโดดพุ่งสวนขึ้นมาในถุงด้วยนะครับ) ที่สำคัญเลยคือพยายามอย่าให้โดนตัวปลา เพราะหากโดนตัวปลาเข้าซักพักนึงน้ำยาสลบจะทำให้เกล็ดปลาเป็นรอยด่างดูแล้วน่ากลัวมาก และรอยด่างดังกล่าวก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะฟื้นกลับคืนมาเหมือนเดิม
เมื่อปลาสลบแล้วต่อไปก็ขั้นตอนของการศัลยกรรม… ผมค่อยๆ ยกถุงเจ้า Peter ลงมาจากตู้ หนักมากครับยังดีที่ได้พี่แวนช่วยประคองถุง ปลาสลบแล้ว อุปกรณ์พร้อมแล้ว เริ่มทำการศัลยกรรมได้เลย ! แต่ก่อนหน้านั้นผมอยากให้เพื่อนๆ ได้เห็นโฉมหน้าของอาการ “เหงือกหุบ” ชัดๆ ก่อนนะครับ ถ้าเพื่อนๆ สังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าเหงือกของเจ้า Peter มีอาการช้ำและยับอย่างเห็นได้ชัดเจน ละอองสีที่เหงือกไม่หลงเหลือแล้วต่างกับอีกข้างที่ยังเรียบสวยและมีละอองสีอยู่ สิ่งที่ผมกำลังจะทำต่อไปนี้ก็คือการตัดแต่งเหงือกโดยตั้งใจตัดเฉพาะเหงือกอ่อนออกและตัดทั้งใบไม่ให้เหลือไว้ เพราะถ้าเหลือไว้เหงือกใหม่ที่ขึ้นมาอาจติดเนื้อเยื่อเก่าซึ่งจะทำให้ไม่สวยได้ แล้วผมก็เริ่มลงมือตัดแต่งเหงือกเลย… ในปลาใหญ่การตัดแต่งอะไรก็ตามทำได้ค่อนยากนะครับเพราะอวัยวะต่างๆ มีความเหนียวและแข็งมาก แม้กระทั่งเหงือกอ่อนที่เห็นนี่ก็เช่นกัน… เห็นแบบนี้แต่เหนียวและหนามากครับ ผมค่อยๆ ตัดแต่งอย่างใจเย็นและระมัดระวัง… ใช้เวลาไม่นานนักงานก็เสร็จสมบูรณ์ (ในขณะเดียวกันพี่แวนช่วยผมถ่ายรูปไปด้วยแล้วก็ดมยาดมไปด้วย) เหงือกของเจ้า Peter เมื่อถูกตัดแล้วมีเลือดไหลออกค่อนข้างมากครับ แต่ไม่เป็นไรเอาน้ำล้างๆ ให้หมดแล้วทายาเหลืองฆ่าเชื้อโรคและสมานแผลเท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยเสร็จงานศัลยกรรม ต่อไปก็เป็นขั้นตอนของการทำให้ฟื้นนะครับ…
NOTE : การทำศัลยกรรมบริเวณ “หัวปลา” หากเป็นไปได้ควรสวมถุงมือยางทุกครั้งนะครับเพื่อช่วยให้จับล๊อคบริเวณดังกล่าวได้อย่างถนัดมือมากขึ้น ส่วนเหตุผลที่ผมเลือกทำศัลยกรรมปลาในถุงไม่ได้เคลื่อนย้ายปลาลงในอ่างเหมือนทุกครั้งก็เพราะเจ้า Peter มีขนาดใหญ่เกินไป หากทำการตัดแต่งเสร็จแล้วในขณะที่เคลื่อนย้ายปลาลงตู้ เกิดมันฟื้นตัวหรือมีอาการดิ้นแล้วลื่นหลุดมือไปจะบาดเจ็บหนักได้ครับ… แล้วยิ่งในปลาใหญ่ก็ยิ่งประคองตัวลำบาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยผมจึงเลือกทำในถุงดีกว่า
ขั้นตอนในการทำให้ฟื้นก็เหมือนเดิมครับคือการนำปลาไปจ่อที่หัวทรายเพื่อให้ฟองอากาศสัมผัสกับบริเวณปาก คาง เหงือก (ส่วนหัวและใบหน้าของปลา) โดยวิธีนี้จะทำให้ปลาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากไม่รู้วิธีแล้วปล่อยปลาลงในตู้… ในกรณีที่ปลาสลบหนักปลาอาจจะช่วยตัวเองไม่ได้และจมน้ำตาย แต่ถ้าปลาพอประคองตัวได้แล้วก็ไม่เป็นไรครับ ยังไงก็ตามในความคิดเห็นส่วนตัวของผม เสียเวลาและเมื่อยมือนิดหน่อยให้วิธีนี้ดีกว่า… เร็วและปลอดภัยที่สุดครับ เจ้า Peter ก็เช่นกัน ผมประคองมันจ่อหัวทรายแค่เพียง 1-2 นาทีเท่านั้นมันก็ฟื้นตัวและว่ายกลับมาเป็นปกติ พอเจ้า Peter ฟื้นแล้วผมกับพี่แวนก็ช่วยกันปิดฝาแล้วก็เติมน้ำในระดับกลับมาเท่าเดิม เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นงานศัลยกรรมแล้วล่ะครับ… ในช่วงต่อไปผมจะพาเพื่อนๆ ไปชมปลามังกรทองมาเลย์ตัวสวยและปลาแดงตัวใหญ่ของพี่แวนที่ชั้น 2 ของบ้านนะครับ
Nanconnection