มาต่อกันที่ชั้น 2 นะครับ ไปดู "ส่วนพิเศษ" ที่เป็น Stock ปลาบ้าง (ชั้น 2 – 4) ชั้นนี้จะเป็น Stock เก็บปลาเล็ก เตรียมนำส่งให้กับลูกค้าในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และอีกหลายๆ ประเทศ และจากที่มีการพูดคุยกันล่าสุด NiWan บอกว่า เวลานี้เขามีลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว พื้นที่การวางตู้ในชั้น Stock แบ่งออกเป็นด้านซ้ายและขวา พื้นที่ตรงกลางปล่อยโล่งไว้เป็นที่นั่งคุย นั่งดูปลา เห็นจำนวนตู้มีน้อยนิดแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วมีปลาเป็นร้อยตัวเชียวนะครับ (ฝั่งขวาเป็นตู้แยกเดี่ยว และฝั่งซ้ายเป็นตู้เลี้ยงรวม) ในระหว่างที่พาทัวร์นั้นเอง ผมก็เดินดูไป เก็บภาพไป เหลือเพียงคุณอ้นกับ NiWan คุยกันสองต่อสอง รู้เรื่องมั่ง ไม่รู้เรื่องมั่ง ก็หัวเราะเฮฮาสนุกสนานกันไป โชคดีที่ตอนหลังคุณป้องเข้ามาแจมด้วย (ภาษาแข็งแรงกว่า) ก็เลย พูดคุยกันได้อรรถรสมากขึ้น แหม ไหนๆ ก็ได้เจอกับนักคัดปลามือหนึ่งแล้ว คงต้องขอความรู้หน่อยสิน่า
สงสัย NiWan จะลงทุนไปที่ชั้นล่างไปหน่อย ก็เลยไม่เหลืองบประมาณในการขยับขยายตู้ด้านบน ตู้เดี่ยวแยกเลี้ยงปลาตัวเดียวของเขาเล็กมาก (เมื่อเปรียบเทียบกับ Show Room ข้างล่าง) น่าสงสารปลาน้อยเหล่านี้จริงๆ ช่องนึงกว้างประมาณ 10-12 นิ้วเท่านั้นเอง ในขณะที่ตัวปลามีขนาด 6 นิ้วแล้ว (เลี้ยงน้ำครึ่งตู้ ระบบกรองใช้ Power Head ติดฟองน้ำ) แสงไฟก็มีน้อย เก็บภาพมาฝากได้ลำบาก จึงถ่ายอาศัยการถ่าย Flash ช่วยครับ
ตู้ที่เลี้ยงรวมของชั้น Stock ในแต่ละตู้จะมีปลาอยู่ประมาณ 20-30 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของตู้ และขนาดของปลา ถ้าปลาเล็กในตู้ใหญ่ ก็อาจจะถึง 40 ตัว แต่ถ้าปลาใหญ่ในตู้เล็ก ก็ลดหลั่นลงมาหน่อย ตามสัดส่วน เพื่อนผู้อ่านสังเกตเห็นรึเปล่าครับว่าแต่ละตู้ก็มีจะหลอดไฟใต้น้ำอยู่ข้างหน้า (เหมือนที่เจอมาในเล่มที่แล้ว) เพื่อให้ลูกค้า ผู้มาดูปลา สามารถส่องดูเหลือบสีได้ชัดเจนมากขึ้น โดยส่วนตัวผมว่าวิธีนี้ไม่ค่อยเหมาะ มันดูไม่เข้าท่ายังไงชอบกล แต่ NiWan ก็แอบกระซิบมาว่า “นี่ล่ะ วิธีการดูเหลือบสีของปลาที่แท้จริง”… ก็ต้องรับฟังมาตามระเบียบ
TIPS : NiWan ยังให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า การติดหลอดไฟไว้ที่ด้านหน้าตู้แบบนี้ ถือเป็นการ Tanning (อาบแดด) โดยตรงวิธีหนึ่ง มีผลทำให้สีเกล็ดปลาเข้มขึ้น ตัดขอบเร็วขึ้น แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ ทำให้ปลาตาตกเร็วกว่าปกติ แต่ที่นั่นเขาไม่ค่อยสนเท่าไหร่กับเรื่องนี้ เอาสีให้แดงแป๊ดดด อย่างเดียวเป็นพอ… ก็เอาข้อมูลมาฝากกันครับ แต่ผมคงไม่เล่นด้วยเพราะ "ตาตก" สำหรับผม เรื่องนี้เรื่องใหญ่เลย !
NOTE : มีคำถามคาใจจากผู้เลี้ยงบ้านเรามากมาย ว่าเกรดปลาที่ส่งมาในเมืองไทย เป็นเกรดเดียวกับที่ส่งเมืองนอกรึเปล่า อย่างเช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือแม้ประเทศกำลังซื้อสูงอย่างญี่ปุ่น คำตอบที่ได้รับจากเขาก็คือ "ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้ ปลาเกรดเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน ต่างกันที่ราคาเท่านั้นเอง" … ได้ฟังแบบนี้แล้วค่อยสบายใจหน่อย คราวนี้ก็อยู่ที่โชค ฝีมือของผู้เลือก และวิธีการเลี้ยงดูแล้ว ว่าแต่ละคน ใครจะได้ปลาสวยชั้นดีไป และเลี้ยงได้แดงมากน้อยขนาดไหน ส่วนตัวผมเองยอมรับว่าไม่ได้ถนัดสีแดง ก็ขออนุญาตถอยห่างออกมา ไม่กล้าเข้าเทียบชั้น ขอเป็นแค่ตากล้องถ่ายภาพปลามังกรสวยๆ แบบนี้ต่อไปดีกว่าครับ
พรุ่งนี้ติดตามตอนจบของ NiWan นะครับ