DAY 4
… Visit PT. Sinar Ambawang …
หลังจากที่ดูปลาสวยใน Stock ที่บ้านอาเป็งแล้ว เขาก็เชิญพวกเราไปดูฟาร์มปลาในแบบของจริงกัน อาเป็งบอกว่าการเดินทางไปฟาร์มไปได้ 2 ทางคือ ทางรถ และ ทางเรือ แต่ทางรถจะค่อนข้างลำบาก วกวน และหนทางไม่ดี (ยิ่งถ้าหน้าฝนอย่างเช่นตอนนี้ ก็ยิ่งเหนื่อย) โดยปกติแล้วเขาจะเลือกเดินทางไปเรือมากกว่า แต่ยังไงก็ตาม ก่อนจะขึ้นเรือ ก็ต้องนั่งรถไปยังท่าน้ำเสียก่อน ว่าแล้วเขาก็พาพวกเราไปที่นั่นด้วยกัน… เป็นอย่างที่อาเป็งว่าไว้ การเดินทางด้วยรถ ถนนหนทางแย่จริงๆ ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ ถ่ายรูปไม่ได้เลย โยกเยกตลอดทาง
อาเป็ง มีพันธมิตรสำคัญอยู่ 2 ฟาร์มครับคือ PT. Dian Ardika และ PT. Wajok Intilestari ในการเดินทางไป PT. Sinar Ambawang ซึ่งเป็นฟาร์มของ อาเป็ง เองนั้นต้องผ่านทางเข้าของ PT. Dien Ardika ครับ หากไม่ผ่านจะไม่สามารถขึ้นเรือได้ ดังนั้นผู้ที่เข้าฟาร์มปลาในอินโดนีเซียส่วนใหญ่แล้ว จะต้องมีผู้พาเข้าไป ไม่สามารถสุ่มสี่สุ่มห้าเข้าเองโดยพลการ (มีทั้งสุนัขดุ มีทั้งอาวุธ และอื่นๆ อีกครบครัน) หลังจากที่เอารถเข้าไปจอดใน PT. Dien Ardika แล้ว อาเป็งให้ข้อมูลว่า ที่นี่จัดเป็นฟาร์มใหญ่อีกฟาร์ม แต่เดี๋ยวจะพามาดู ส่วนตอนนี้ไป Ambawang ก่อน โดยต้องไปรอเรือที่ท่าน้ำ ซึ่งอยู่ด้านหลังของ Dien Ardika ครับ
ในระหว่างที่รอเรือ ผมก็เก็บภาพไป ยืนคุยกับอาเป็ง และคุณ Edu ไป ซักพัก เรือจาก Ambawang ก็มารับ โดยคนที่มารับก็คือ คุณอาของอาเป็ง (น้องชายพ่อ) บอกตามตรงว่าตอนขึ้นเรือหวาดเสียวอย่างแรง กลัวตกลงไปเหมือนกัน เพราะแม่น้ำนี้ลึกมากๆ ผมเองก็ว่ายน้ำไม่ค่อยแข็งแรงด้วย หล่นลงไป… สภาพไม่งามแน่ แต่สุดท้ายก็ขึ้นฝั่งได้โดยปลอดภัยด้วยความเชื่อเหลือของทุกๆ คน ระยะทางจากท่าน้ำของ PT. Dien Ardika ไป Ambawang ถือว่าไม่ไกลนัก ประมาณ 10 นาทีก็ถึง ผมกำลังรื่นเริงกับการเก็บภาพบรรกาศอยู่แล้ว โถ ! ครู่เดียวก็ถึงซะแล้ว (เรือลำนี้ เป็นเรือเร็วครับ ตลอดเวลา 10 นาทีโต้ลม นี่ก็เล่นเอา "หัวตั้ง" ไปตามๆ กัน)
บอกตามตรงว่าถ้าไม่เห็นป้ายชื่อที่หน้าประตูท่าน้ำ ก็ไม่รู้เลยว่าที่นี่คือฟาร์มเลี้ยงปลามังกร ดูเหมือนบ้านพักอาศัยมากกว่า เพราะด้านหน้าเป็นบ้านพักของคนงาน (ด้านนอกร้อมรั้วไว้สูง) พอเข้าไปปุ๊ปก็มีเหล่าสุนัขออกมาต้อนรับเต็มไปหมด ตัวไม่ใหญ่นัก แต่หน้าตาเอาเรื่อง อาเป็งจึงบอกให้ลูกน้องเก็บหมาให้หมด แล้วเขาก็พาเราเข้าไปดูบรรยากาศภายในฟาร์ม
ก่อนเข้าไป ที่ด้านหน้าผมเห็นบ่ออยู่บ่อหนึ่ง ในใจเข้าใจว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลามังกร แต่พอเข้าไปดู… อ่า ไม่ใช่นี่นา ? กลับกลายเป็นบ่อเลี้ยงกบครับ มีเป็นพันๆ ตัวเลย เห็นแล้วตกใจ (เพราะไม่มีเสียงร้องของกบ อ๊บๆๆ ให้ได้ยิน) อาเป็งบอกว่า กบพวกนี้เป็นเหยื่อปลา บางทีก็เพาะพันธุ์เอง แต่ส่วนใหญ่จะสั่งซื้อเสียมากกว่า… เป็นเพราะมีจำนวนมากเกินไป เลยทำให้มีบางส่วนที่ตาย แล้วก็เป็นอันรู้กันวา เวลากบตายจะส่งกลิ่นรุนแรง และอีกไม่นานก็จะมีตัวตายเพิ่ม อาเป็งบอกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่คัดทิ้งนะ เอาไปโยนให้ปลากินได้ ไม่มีปัญหาอะไร
ที่ฟาร์ม PT. Sinar Ambawang แรกเริ่มเดิมทีมีบ่อปลาอยู่เพียงบ่อเดียว โดยแบ่งย่อยออกเป็น 3 บ่อ (แต่ตอนนี้มีรวมแล้วประมาณ 10 กว่าบ่อ) คือ บ่อใหญ่ บ่อกลาง และบ่อเล็ก ส่วนแรกที่ผมจะพาเพื่อนผู้อ่านไปดูก็คือ บ่อใหญ่ ซึ่งถือเป็นบ่อแรกของฟาร์มนี้เลย อายุบ่อไม่น้อยกว่า 20 ปีครับ (รวมถึงพ่อแม่ปลาก็มีอายุเท่านี้ด้วย ปลาเกือบ 20 ปีรุ่นแรกๆ จะอยู่ในบ่อนี้หมด) เห็นใหญ่โตมโหฬารแบบนี้ อาเป็นบอกว่ามีพ่อแม่ปลาเพียง 50 ตัวเท่านั้นเอง บอกตามตรงว่า ผมล่ะอยากเห็นปลาในบ่อนี้จัง (ขนาดบ่อเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ ยาว 50 เมตร กว้าง 12 เมตร และ ลึก 3 เมตรครับ… ประมาณสระว่ายน้ำได้เลย)
ผมกำลังจะขออาเป็งให้ช่วยโยนอาหารลงไปในบ่อปลาหน่อย แต่อาเป็งบอกว่า คนงานมาบอกให้ทราบเมื่อซักครู่นี้ว่าเพิ่งจะให้อาหารไปตอนเช้านี่เอง… ถ้าโยนลงตอนนี้ จะเสียเหยื่อเปล่า เพราะปลาไม่กิน เขาเลยชวนผมไปดูปลาที่บ่อกลางก่อน ซึ่งบ่อนี้มีศาลากลางน้ำด้วย ง่ายต่อการดูปลา และให้อาหาร บ่อนี้อาเป็งบอกว่ามีพ่อแม่ปลาอยู่ราว 60 ตัว อายุจะน้อยกว่าในบ่อใหญ่ คือประมาณ 8-10 ปี (สำหรับผม แบบนี้ไม่ถือว่าน้อยแล้ว)
ไปถึงที่ อาเป็งก็เตรียมเอาเหยื่อที่ซื้อมาด้วย (แมลงสาบอินโด) เปิดปากถุงแล้วโยนลงไปให้ปลากิน ตรงนี้ผมยืนถ่ายรูปห่างมาก… บอกตามตรงว่าผมเคยมีปัญหาส่วนตัวกับแมลงสาบ และทุกวันนี้ก็ยังเคลียกันไม่ลงตัว ไม่ค่อยถูกกันครับ 5555 กำมือแรกโยนลงไป… เงียบฉี่ ~~
อาเป็งกับผมมีความคิดเห็นตรงกัน สงสัยปลาบ่อนี้ก็คงจะกินแล้วเช่นกัน อิ่มอยู่แน่จึงไม่ขึ้นมากินอาหาร แต่แล้ว ไม่นานนักก็ได้ยินเสียง ปุบ ๆ ปับๆ… ใช่แล้วล่ะครับ ปลาแดงตัวใหญ่กำลังว่ายน้ำขึ้นมากินเหยื่อ (เห็นไม่ค่อยชัดเท่าไหร่นัก เพราะสีน้ำเป็นสีน้ำตาล แบบสีเดียวกับแม่น้ำ แต่ก็พยายามถ่ายรูปมาให้ชมกันครับ) เห็นตัวปลาแล้วก็พอจะดูออกว่าใหญ่ไม่น้อย แต่ละตัวนี้ 20 กว่านิ้วทั้งนั้น… แต่เรียกว่ากินแบบเรียบๆ ไม่มันส์ และรุนแรงเหมือนปลาเล็ก
ตามที่ได้กล่าวให้ทราบคร่าวๆ ไปแล้วด้านบนว่าที่ PT. Sinar Ambawang แห่งนี้ มีบ่อปลาใหญ่ๆ ประมาณ 15 บ่อ ทุกบ่อจะมีปลาบ่อละประมาณ 40-50 ตัว ทั้งหมดเป็นปลาแดงครับ ไม่มีสายพันธุ์อื่นปะปะมา (ในจำนวนนี้ 2 บ่อไม่มีปลา ได้แต่เตรียมน้ำไว้และกำลังหารับซื้ออยู่ โดยมีคุณสมบัติคือต้องเป็นปลาใหญ่ที่มีขนาดตั้งแต่ 20 นิ้ว และอายุ 3 ปีขึ้นไป) บ่อเพาะพันธุ์ที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นของแท้ สไตล์ดั้งเดิม เพราะทุกบ่อล้วนแล้วเป็น "บ่อดิน" พื้นที่ในฟาร์มกว้างขวางสุดกู่ครับ จำไม่ได้ว่าประมาณ 25 ไร่รึเปล่า ? เข้าใจว่าประมาณนี้ครับ ใหญ่มาก เดินกันเหนื่อยเลย แต่อาเป็งบอกว่าเนื้อที่ของทางฟาร์มไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ในอนาคตอันใกล้เขามีแผนที่จะขยายฟาร์มให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก
NOTE : ในแต่ละบ่อจะมี “แนวกั้นไม้” อยู่ที่ขอบบ่อ สอบถามอาเป็งก็ได้รับคำตอบว่าเป็น "หวีกั้นน้ำล้น" ของบ่อครับ มีหน้านี้จำกัดระดับน้ำภายในบ่อ ไม่ให้สูงเกินระดับที่กำหนดไว้
น้ำที่ใช้ภายในบ่อ เป็นน้ำจากแม่น้ำ Ambawang (ที่พวกเราเพิ่งจะแล่นเรือผ่าน) แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที ต้องเอามาเก็บ ตรวจเช็คสภาพ แล้วกักไว้ในบ่อกลางก่อน จึงสามารถลำเลียงส่งต่อไปใช้ในแต่ละบ่อได้… ชมภาพประกอบไปด้วยนะครับ ท่อยาวที่เห็นนั่นคือท่อหลักที่ทำหน้าที่ “ดูด” น้ำมาจากแม่น้ำโดยตรง จากนั้นจึงค่อย "ปล่อย" เข้าสู่บ่อกลาง เพื่อกักเก็บไว้สำหรับการเปลี่ยนน้ำ เติมน้ำ ในแต่ละบ่อ
บ่อส่วนที่สองเพิ่งสร้างได้ไม่นานนัก ใช้สำหรับเก็บขุนปลาขนาดใหญ่แต่อายุยังน้อย (ประมาณ 3-5 ปี) ให้เข้าคู่กันเพื่อพร้อมรับการผสมพันธุ์ในอนาคต ตรงกลางมีทางน้ำไหลผ่านอยู่ ก็คือน้ำใน "บ่อกลาง" ที่ถูกกักเก็บไว้ บ่อกลางนี้กั้นระหว่างเนื้อที่ของบ่อแต่ละ Zone เพื่อง่ายแต่การลำเลี้ยงน้ำไปใช้ เติม เปลี่ยนถ่าย ในแต่ละบ่อ
มาดูส่วนสุดท้ายกันนะครับ ส่วนนี้เป็น “บ่อดิน” จริงๆ ไม่มีต้นไม้เลย พื้นที่รอบๆ บ่อที่เราเหยียบก็เป็นดิน แถมเป็นดินนุ่มๆ ยวบๆ ผมยังแปลกใจเลยว่า ทำไมดินแบบนี้ถึงรับน้ำได้ ? ถ้าฝนตกคงจะเละเทะเป็นแน่ ส่วนนี้ มีสุนัขเฝ้ามากมายนับสิบตัว น่ากลัวมาก เพราะแต่ละตัวล้วนหน้าตาเอาเรื่อง… เพื่อนผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าที่นี่ไม่มีปลาเล็กให้ดูหรือ ? คำตอบก็คือ ใช่ครับ ที่นี่ไม่ลูกปลา หรือปลาเล็กให้ดู พอได้ผลผลิตปุ๊บก็จะนำไปอนุบาลที่อื่น แล้วก็ส่งขายจำหน่ายต่อไป ปลาจากฟาร์มที่มีคุณภาพสูง มีชื่อเสียงยาวนาน ส่วนใหญ่จะมี Order รออยู่แล้ว
บ่อดินโซนสุดท้ายนี้ถือว่ามีเนื้อที่น้อยที่สุด เพราะมีประมาณ 4-5 บ่อเท่านั้น ไม่รู้ว่าบ่อนี้ถูกให้อาหารไปแล้วหรือยัง ? แต่พวกเราได้พยายามโยนอาหารลงไปทุกบ่อ… อยากเห็นพ่อแม่ปลา ว่างั๊น ส่วนนี้ก็เช่นกันครับ 3 นายแบบ (อาเป็ง คุณ Edu และคุณอ้น) ก็ลองให้อาหาร เพื่อเรียกปลาขึ้นมาดูหน้าดูตากันหน่อย ว่าคุณภาพปลาในฟาร์มนี้เป็นยังไงมั่ง แต่ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะบ่อไม่ใช่บ่อน้ำใส เป็นบ่อน้ำขุ่น (น้ำจากแม่น้ำ) เวลาน้ำนิ่ง จะไม่เห็นปลาเลย ถ้าปลาไม่หิว โอกาสจะได้เห็นมันขึ้นมาว่ายโชว์ตัวมีน้อยเหลือเกิน
NOTE : ช่วงที่ไปอินโดนีเซีย ตอนนั้นเป็นต้นหน้าฝนอยู่ แล้วก็มีฝนตกบ้างประปราย เพื่อเป็นการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสม ทางฟาร์มจึงต้องใช้ "แป้งขาว" ที่เห็นนี่ล่ะครับ โรยทั้งในบ่อ และข้างๆ บ่อ เพื่อให้เวลาฝนตกลงมาก็ชะเอาแป้งเหล่านี้ลงบ่อไปด้วย จะได้ปรับสภาพน้ำไปในตัว
นึกว่าจะไม่ได้เห็นเสียแล้ว หลังยืนดูลาดเลาอยู่นานสุดท้ายก็โชคดี ปลายอมขึ้นมาว่ายน้ำกินเหยื่อที่ผิวน้ำ จริงๆ พวกมันอิ่มแล้ว สงสัยคงเพราะเบื่อกบ เพราะเหยื่อที่ อาเป็ง โยนลงไปคือ "แมลงสาบ" ถึงจะอิ่มแล้ว แต่ถ้าเป็นของโปรดที่นานๆ จะได้กินที ก็คงต้องโผล่ขึ้นมาลองลิ้มชิมรสเสียหน่อย : ) พ่อแม่ปลาที่ผมและคุณอ้นเห็น บอกตามตรงว่า เป็น "สีส้ม" แต่ส้มเต็มตัวครับ เรียกว่าเนื้อสีเยอะมาก ผมสงสัยจึงถามอาเป็งว่า ทำไมปลาเป็นสีส้ม ? อาเป็งให้คำตอบว่า ปลาในบ่อส่วนใหญ่จะเป็นสีส้มแบบนี้ แต่พอเอาขึ้นมาเลี้ยงในตู้ ก็จะปรับสีเป็นสีแดงกันหมด แปลกดีเหมือนกัน แต่ก็… นั่นสินะ ผมไม่เคยเห็นพ่อแม่ปลาสีแดงจัดๆ ในบ่อเลย เว้นแต่ตอนที่ไปฟาร์ม Max Koi ที่สิงคโปร์ นั่นเป็นบ่อปูน น้ำใส เลี้ยงในที่ร่ม แต่ปลาในบ่อนั้นสีแดงจัดชัดดีจริงๆ !! … ส่งท้ายภาพสวยๆ ในบรรยากาศโดยรวมของฟาร์ม PT. Sinar Ambawang แห่งนี้นะครับ