เท่าที่เคยได้ยินจากผู้ที่เลี้ยงปลามังกรมานานนั้น ท่านเคยบอกไว้ว่าในอดีตบ้านเราไม่มีปลาจำพวก “เกรดพิเศษ” เข้ามาขายกันมากแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่การแบ่งแยกปลาก็ยังไม่มีให้เห็นเลย เต็มที่ก็ใช้เพียงคำว่า “ปลาคัด” คือปลาที่มีความสวยมากกว่าตัวอื่นๆ เท่านั้นเอง และปลาคัดที่ว่าก็คัดโดยผู้ขายเอง ไม่ใช่จากฟาร์มที่ระบุชื่อในใบรับรองสายพันธุ์เหมือนที่เห็นกันในทุกวันนี้ ถามว่า “ปลาเกรดพิเศษ” คืออะไร ? คำตอบก็คือปลาที่มีลักษณะความสวยงามโดดเด่นกว่าทั่วๆ ไป โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในปลามังกร 2 สายพันธุ์ก็คือ ทองมาเลย์ กับ Super Red
ปัจจุบันนี้ทองมาเลย์โดยทั่วๆ ไป หากเป็นสายพันธุ์แท้ เนื้อเกล็ดจะมีความเงางามอยู่แล้ว แต่การเปิดของเกล็ดอาจจะมาเพียง 4 แถวครึ่งหรือ 5 แถวเต็ม เท่านั้น ในเรื่องการเปิดของเกล็ดละเอียดอาจจะยังไม่เด่นชัดนัก (พูดรวมถึงทั้ง 2 สาย : Gold Base กับ Blue Base) แต่ถ้าเป็นเกรดพิเศษแล้วล่ะก็จะมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นมาอีกตัวอย่างเช่น เกล็ดเปิดสูงขึ้น มีการเปิดของเกล็ดละเอียดใต้ครีบหลังบางส่วนหรือเปิดหมด เนื้อเกล็ดเปล่งประกายเงางามมากขึ้น เกล็ดตัดขอบเป็นแว่นๆ ชัดเจน สีตัวเป็นสีทองตั้งแต่เยาว์วัย หรือแม้แต่ข้ามหลังตั้งแต่เล็ก ตัวปลามีสีเข้มจัดกว่ามากเมื่อเทียบกับเกรดธรรมดา นอกจากนี้ยังมีลักษณะของ “หัวทอง” หรือ Golden Head อันหมายถึงที่บริเวณหัวครึ่งหน้าผากของปลากระเทาะแตกเป็นสีทองให้เห็น พวกนี้ก็ถือเป็นทองมาเลย์เกรดพิเศษเช่นกัน
ส่วนในปลาแดง ถ้าเป็นเกรดธรรมดาทั่วๆ ไป เนื้อตัวของปลาในวัยเล็ก 4-5” จะเป็นสีขาว เงา หรืออาจมีเหลือบม่วงบ้างเล็กน้อย ครีบเครื่องจะเป็นสีแดงสด ไม่ส้มหรือเหลืองเหมือนกับ Banja Red หรือ Red B กรณีที่เป็นปลามีแววหน่อย คือหมายถึงเป็นว่าที่ปลาอนาคตดี สีแก้มก็จะมีให้เห็นเป็นสีส้มเรื่อๆ สีปาก และหนวดแดงชัดเจน แต่ถ้าเป็นเกรดพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่ขนาดใหญ่หน่อยแล้ว คือตั้งแต่ 7” ขึ้นไป คุณสมบัติของปลาแดงเกรดพิเศษก็คือ การตัดขอบแดงของเกล็ดจะต้องชัดเจน ปากแดง แก้มแดงชัด (โดยสีแดงควรจะกินเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2/3 ของแก้ม) หนวดมีสีเข้ม ครีบเครื่องทุกส่วนสัดเป็นสีแดงโดยไม่ต้องใช้แสงไฟช่วย เนื้อในของเกล็ดอาจจะเป็นสีม่วง น้ำเงินเข้ม หรือเขียว ลูกตาเป็นสีเข้ม ส่วนใหญ่ก็จะประมาณนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วปลาแดงเกรดพิเศษมักจะมีที่มาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศต้นตำรับ ตัวอย่างเช่นปลาแดงจากมาเลเซีย หรือจากสิงคโปร์ ดังนั้นในวันนี้หากจะกล่าวว่าปลาแดงที่มีเชื้อสายมาจากประเทศอินโดนีเซีย หรือประเทศต้นตำรับของปลาสายพันธุ์นี้เป็น “ปลาเกรดพิเศษ” แล้วล่ะก็ ก็คงจะไม่แปลกหรือผิดความหมายไป
ความพิเศษของปลานอกจากจะสังเกตได้จากลักษณะอันโดดเด่นที่เห็นได้ด้วยตาเปล่านี้แล้ว ยังมีแบบที่มองไม่เห็นด้วยนะครับ นั่นก็คือ “ชื่อของปลา”… บางทีว่าพิเศษ แต่กลับดูแล้วก็ไม่เห็นความแตกต่างจากเกรดธรรมดาเท่าไหร่ แต่พอได้ยินชื่อแล้วทำให้ฟังดูพิเศษน่าสนใจก็มี ตัวอย่างเช่น
– Sparkling Gold Crossback (ทองเป็นประกายข้ามหลัง)
– Golden Head (มังกรหัวทอง)
– AAA Pahang Gold Crossback (ทองมาเลย์จากแม่น้ำปาหัง)
– 24k Platinium Crossback Arowana (มังกรทองแท้ 24 K แพลททิเนียม)
– Full Gold Crossback (มังกรทองทั้งตัว)
– Wild Blue Crossback (มังกรม่วงดิบ)
– Electric Blue Crossback (อันนี้ไม่รู้จะแปลยังไง ?)
– High Quality Super Red (ปลาแดงคุณภาพสูง)
– Violet Fusion Super Red (มังกรแดงเนื้อเกล็ดสีม่วง)
– Merlion Pure Red (แดงบริสุทธิ์เมืองสิงคโปร์)
เป็นไงบ้างครับ แต่ละชื่อฟังดูแล้วเลิศหรูวิลิสมาราถึงขนาดไม่กล้าฟังราคากันเลยรึเปล่า ? นอกจากชื่ออันไพเราะที่มาจากใบระบุสายพันธุ์แล้ว ก็ยังมีชื่อที่มาจากคำบอกของผู้ขายปลาอีกด้วย ตัวอย่างเช่นปลาตัวนี้มีที่มาจากที่นั่น ที่นี่ มีชื่ออย่างนี้อย่างนั้น เลี้ยงไปแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างโน้น แต่นี่ยังไม่เท่าไหร่นะครับ การใช้คำว่า Blood Red หรือ Chilli Red รวมถึง “ปลาป่า” ยังมีให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ แล้วท่านทราบอะไรมั้ยล่ะครับ ? Blood Red, Chili Red และ “ปลาป่า” ที่ว่า ตอนนี้มันกลายเป็นอะไรที่ “พิเศษ” เหนือ Super Red ธรรมดาไปหมดแล้ว !
มาต่อกันตอนหน้านะครับ