จากบทความในนิตยสาร Aqua เล่มที่ 14 นะครับ – สำหรับเก็บงานเขียนใน Aro4u และเพื่อนสมาชิกที่ยังไม่เคยอ่าน รวมถึงท่านที่เห็นภาพสีไม่ครบถ้วนจุใจทุกท่านนะครับ
พี่ต๊าเป็นเพื่อนสมาชิกที่ผมเพิ่งจะรู้จักไม่ได้นานนัก และก็เหมือนกับเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่มาของการรู้จักกันก็คือโลกของอินเตอร์เนทโดยการที่พี่ต๊าเมลมาสอบถามข้อมูลและขอคำแนะนำเกี่ยวกับปลามังกร และผมเองก็ตอบคำถามเหล่านั้น (เท่าที่รู้) ให้พี่ต๊ากลับไปอย่างสม่ำเสมอ ผมกับพี่ต๊าแม้จะเมลคุยกันบ่อยแต่ก็ไม่เคยเจอกัน แต่มาวันหนึ่งด้วยเหตุผลบังเอิญจึงทำให้เราได้พบกันครั้งแรก (ไปรับปลาปอมปาดัวร์ให้เพื่อน) ได้ยินมาจากเพื่อนผมว่าบ้านพี่ต๊าอยู่แถวคลองสานซึ่งถือได้ว่าไม่ไกลจากผมนัก แต่ก็ไม่เคยไปดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางจึงต้องใช้บริการรถ Taxi Meter ได้ผลครับ เดินทางไปถามทางไปไม่นานก็ถึง พอไปถึงที่หน้าบ้านพี่ต๊าก็เปิดประตูออกมาต้อนรับพร้อมเชิญให้เข้าบ้านไปดูปลาที่จะให้เลย
ในวันที่ผมไปเที่ยวบ้านพี่ต๊านั้นปลามังกรที่ผมเห็นมี 4 ตัวโดยแบ่งออกเป็นปลาแดง 2 ตัวๆ นึงประมาณ 15” อีกตัวก็ 11” และปลาทอง 2 ตัว ทองอินโดก็ 18” และทองมาเลย์ 16” เรามาดูกันเป็นตัวๆ ไปเลยดีกว่าครับ สำหรับเจ้าตัวแรกเป็นปลาแดงขนาด 11” เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า “วาสนา” ครับ เจ้าวาสนาเป็นปลาที่ไม่ทราบที่มาที่แน่ชัดว่ามาจากฟาร์มไหน ? แต่จากข้อมูลที่ได้จากพี่ต๊าก็ทราบว่าได้มาจากร้านปลาร้านหนึ่งในตลาด Seven Days สวนจตุจักร โดยพี่ต๊าไม่ได้ไปดูปลาตัวนี้ด้วยตัวเองแต่เป็นทางร้านโทรแจ้งมาบอกว่ามีปลาแดงเกรดพิเศษเข้ามาตัวนึง เมื่อพี่ต๊าเข้าไปดูแล้วก็เกิดความชอบใจจึงตัดสินใจรับมันมาเลี้ยงเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านอีกตัวนึง
ตอนที่ถ่ายภาพมานี้เป็นครั้งที่ผมเห็นเจ้าวาสนาครั้งแรกที่สำคัญคือมันเพิ่งจะมาไม่นาน (ประมาณ 1 สัปดาห์) แต่ทว่าจากการถ่ายรูปโดยใช้แฟลชก็สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่าสีสันของมันดีมาก สีแก้ม สีปาก และเครื่องครีบแดงก่ำชัดเจน ที่สำคัญคือแผ่นเกล็ดแต่ละอันมีการตัดขอบเป็นสีแดงแล้ว ปลาตัวนี้พูดได้คำเดียวครับว่าสวยมาก อนาคตดีอย่างที่ไม่ต้องลุ้นเลย… แค่รออย่างเดียวก็พอ และเพราะสวยแบบนี้และร้านที่ขายยังว่าเจ้าวาสนาเป็นปลาแดงเกรดพิเศษ ดังนั้นราคาค่าตัวมันจึงไม่ค่อยธรรมดา => 7x,xxx บาทครับ ราคาปลาขนาดนี้น้อยรายนักนะครับที่กล้าตัดสินใจซื้อมาครอบครอง
ตู้ที่เลี้ยงเจ้าวาสนานี้เป็นขนาด 60”x30”x24” ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่กำลังดีครับ ระบบกรองใช้เป็นแบบกรองข้างตู้และวัสดุกรองที่ใช้ก็ยังเหมาะสมกับปลาแดงอีกด้วยนั่นก็คือ Substrate และ Ceramic Ring นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจ้าวาสนามีสีสันแดงดีอย่างที่เห็นใสภาพไงล่ะครับ มาถึงเรื่องของอาหารบ้าง… หลายคนที่เลี้ยงปลาแดงมักจะมีสูตรในการให้อาหารด้วย “กุ้ง” ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน ? กุ้งฝอย… กุ้งสด… เนื้อกุ้ง… กุ้งติดเปลือก… กุ้งแม่น้ำ… กุ้งทะเล หรืออะไรก็ตามแต่โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้สีสันของปลาแดงขึ้นได้ แต่สำหรับเจ้าวาสนาพี่ต๊ะให้มันกินจิ้งหรีดอย่างเดียวเลยครับ และมันเองก็ไม่มีทีท่ารังเกียจด้วยกลับกินดีทำท่าว่าจะชอบมากซะด้วย แบบนี้ถูกแล้วล่ะครับ… เมื่อปลากินดี ได้กินของที่ชอบ สีมันก็จะดีเองโดยไม่ต้องไปพึ่งอาหารชนิดอื่น แต่ว่าถ้าปลาชอบกินกุ้งอยู่แล้วก็ถือว่าดีครับ แล้วก็อย่าไปเปลี่ยนเมนูโปรดของมันล่ะครับ เพราะนอกจากสีจะไม่ดีแล้วเจ้าปลาของอาจจะพาลไม่ยอมกินอาหารอย่างอื่นไปด้วยจะยุ่งนะครับ
คราวนี้มาดูตัวต่อไปบ้าง… นี่ก็คือเจ้า “ซองแดง” ที่ถือเป็นลูกพี่ใหญ่ของบ้านนี้ จริงๆ แล้วเจ้านี่ไม่ได้ชื่อซองแดงหรอกนะครับแต่เป็น “อั่งเปา” ต่ะหาก แต่ว่าชื่อนี้มีคนใช้กันเยอะแล้วผมจึงแนะนำให้เปลี่ยนเป็นซองแดงไงล่ะครับ ที่มาของเจ้าซองแดงก็ค่อนข้างลึกลับเหมือนกับวาสนาคือไม่ทราบว่ามาจากฟาร์มอะไร ? ที่ไหน ? รู้แต่เพียงว่าเจ้าปลาแดง 2 ตัวนี้พี่ต๊าซื้อมาจากร้านเดียวกัน แต่เจ้านี่ถูกกว่ามากเพราะเป็น Super Red ธรรมดาราคาค่าตัวก็ 37,xxx บาท ตอนที่ได้มาเจ้าซองแดงมีขนาดประมาณ 6” สีสันในเวลานั้นจัดได้ดีมากเลยครับ ผ่านมาประมาณเกือบ 2 ปีแล้วสีสันก็ยัง ok อยู่เพียงแต่ว่าถ้าเทียบปอนด์ต่อปอนด์แล้วยังห่างชั้นกับวาสนามากนัก สำหรับเจ้าซองแดงสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือหุ่นทรง ของมันที่ดูแล้วได้สัดส่วนมาก เริ่มจากหัวทรง Spoon Head ซึ่งถือเป็นจุดเด่นพิเศษของปลาแดงเลยทีเดียว ตัวสั้นหนาแต่มีอกทำให้ดูบึกบึนมีกำลัง ครีบเครื่องใหญ่สีแดงก่ำ หางใหญ่เป็นพวง ครีบอกโค้งมนเป็นรูปคันธนู สีเกล็ดตัดขอบได้ดี ที่สำคัญคือแม้จะเป็นปลาใหญ่แต่ตาก็ไม่ตกนะครับ
ที่อยู่ของเจ้าซองแดงก็คือตู้ขนาด 60”x30”x24” เช่นเดียวกับวาสนา นั่นก็เพราะเจ้าสองตัวนี้อยู่คอนโดเดียวกันไงล่ะครับ เจ้าซองแดงอยู่ชั้นบนส่วนเจ้าวาสนาอยู่ชั้นล่าง แม้เจ้าซองแดงจะมีดีหลายอย่างแต่ว่าก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหารบกวนใจพี่ต๊าตลอดมานั่นก็คือ เจ้าซองแดงเป็น “โรคเชื้อรา” หรือที่เรียกว่า “ฟังกัส” บ่อยมาก… ว่าแต่ว่าเพื่อนๆ รู้จักกันรึเปล่าครับโรคเชื้อรา ? หลายคนก็รู้จัก หลายคนก็ไม่เคยเห็น เอาเป็นว่าผมจะอธิบายให้ฟังกันนะครับ โรคเชื้อราเป็นโรคปลาชนิดนึงที่เกิดจากติดเชื้อจากเชื้อราซึ่งโดยมากมาจากปัญหาเรื่องน้ำที่เลี้ยงเช่น น้ำสกปรก ขุ่น หรือขาดการดูแลรักษา ฝาตู้ปลา (หรือสภาพแวดล้อมอื่น) เป็นไม้และเมื่อมีความชื้นทำให้เป็นสาเหตุในการเกิดเชื้อรา และเมื่อเชื้อราสัมผัสลงน้ำจึงทำให้ปลาได้รับเชื้อนั้นด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของเจ้าซองแดงก็คงจะมีสาเหตุมาจากอย่างหลัง เพราะว่าบ้านที่พี่ต๊าใช้อาศัยเป็นไม้และที่สำคัญคือช่วงนี้ยังคงเป็นช่วงหน้าฝนทำให้อากาศชื้นอยู่ตลอด ดังนั้นจึงอาจเป็นผลทำให้เจ้าซองแดงติดเชื้อราและเป็นๆ หายๆ แบบนี้
อาการที่เกิดขึ้นกับปลาจะมีลักษณะเปื่อยเป็นด่างขาวยุ่ยไม่ม่ว่าจะเป็นเครื่องครีบ ปาก หาง ลำตัว เกล็ด หัว เป็นได้ทุกส่วน การเปื่อยที่ว่าจะแตกต่างจากอาการบาดเจ็บนะครับ ถ้าเป็นพวกหางขาด ครีบขาด จะไม่มีรอยด่างขาวเหมือนกับของเชื้อรา โรคนี้ไม่รุนแรงถึงขนาดทำให้ปลาตายได้แต่จะสร้างความรำคาญให้กับตัวปลาเป็นอย่างมากครับ มีอาการคัน สบัดตัว กัดหางตัวเอง ว่ายกระตุก ไถตู้ถูพื้น และอีกหลายอาการซึ่งภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ไม่น่าดูสร้างความกังวลใจและไม่สบายใจให้กับผู้เลี้ยงอย่างมาก โรคไม่ร้ายแต่ทำลายความสง่างามของปลา จาก “มังกร” เป็น “มังกือ” ใครก็ทนไม่ได้ครับ
เมื่อพูดถึงเรื่องลักษณะและอาการของโรคแล้ว ต่อไปก็เป็น “การรักษา” นะครับ สำหรับโรคเชื้อรา โดยปกติแล้วเราไม่สามารถที่จะรีรอที่จะปล่อยไว้เฉยๆ ให้อาการดีขึ้นหรือหายด้วยตัวเองได้ การเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ การเติมเกลือ การใส่ยาเหลืองถือเป็นวิธีที่ดีแต่ก็ไม่ถูกต้องนักไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ 100% วิธีที่ถูกต้องถือการใช้ “ยาฟังกัส” ในการรักษา อัตราการใช้ยาตัวนี้เพื่อการรักษาจะอยู่ที่ 1 เม็ดต่อน้ำ 100 ลิตร โดยปกติถ้ารักษาถูกโรคอาการจะดีขึ้นหรือเป็นปกติภายใน 3-5 วัน และเมื่อหายแล้วอย่าเพิ่งหยุดใช้ยา ผมแนะนำให้ใส่คุมอาการไปก่อนแต่ลดอัตราการใช้เหลือเพียง 1 เม็ดต่อน้ำ 200 ลิตร
NOTE : ยาฟังกัสโดยปกติมีลักษณะเป็นแคปซูลซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์เกี่ยวกับปลาทั่วๆ ไป ตัวยามีหลายชนิดหลายเกรดแต่สำหรับปลามังกรแนะนำให้ใช้อย่างดีหน่อย ราคาอาจจะแพง (เม็ดละ 10 บาทขึ้นไป) แต่เพื่อคุณภาพในการรักษาลงทุนนิดนึงนะครับปลาจะได้หายเร็วๆ ในการรักษาเมื่อใส่ยาในน้ำแล้วจะทำให้น้ำมีสีเขียวซึ่งจะทำให้ดูปลาไม่ชัด ตู้ไม่น่ามองอยู่ช่วงหนึ่งนะครับ แล้วซักพักเมื่อหยุดใช้ยามันก็จะค่อยๆ ใสกลับคืนมาเอง
พี่ต๊าเองก็เป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์เลี้ยงปลามังกรมาไม่น้อย ดังนั้นเรื่องวิธีการรักษาจึงทำได้อย่างถูกต้องและหายดีทุกครั้งไป แต่เจ้าซองแดงมีปัญหาตรงที่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นโรคนี้เรื้อรังเพราะหลังจากที่หายได้ชั่วระหนึ่งมันก็จะกลับมาเป็นอีก จึงทำให้มันต้องอยู่ในน้ำยารักษาโรคเสมอๆ และการที่ปลาโดนยาบ่อยๆ แน่นอนครับว่าต้องไม่ใช่เรื่องดีแน่มันต้องมีผลข้างเคียงซึ่งมาอาจมาได้ในหลายรูปแบบ แต่สำหรับของพี่ต๊าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ “เหงือก” เริ่มมีอาการหุบเข้าเล็กน้อยแต่ยังไม่ถึงขั้นอันตรายจนแก้ไขไม่ได้ เรื่องนี้สร้างความหนักให้กับพี่ต๊ะเป็นอย่างมากครับ เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เลิกใช้ยาปลาก็เป็นฟังกัสไม่เลิก แต่ถ้าขืนยังใช้ต่อไปเหงือกปลาจะต้องหุบแน่ๆ แล้วก็คงต้องรับการศัลยกรรมอย่างแน่นอน
คุณหมอนันทริกา ซันซื่อ เคยบอกกับเพื่อนผมคนนึงว่า “ยาฟังกัส” ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป เพราะว่าจะมีบางส่วนตกค้างอยู่ในตัวปลาซึ่งไม่สามารถย่อยสลายหรือระบายออกได้ เคยมีอยู่รายหนึ่งที่ปลาตายโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อคุณหมอผ่าซากปลาดูก็พบว่าทั้งในช่องท้อง สมอง เป็นสีเขียวเข้มน่ากลัว คุณหมอเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไรจึงได้สอบถามไปยังผู้เลี้ยงแล้วก็ได้ความว่าเจ้าปลาตัวนี้เป็นโรคเชื้อรามาก่อน และเป็นชนิดเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ อยู่ตลอดจึงต้องใช้ยาฟังกัสเป็นประจำ เมื่อได้คำตอบจากผู้เลี้ยงเช่นนี้จึงทำให้คุณหมอแน่ใจว่าสาเหตุการตายของปลาตัวนี้คือการสะสมรับตัวยามากเกินไป น่ากลัวมากนะครับ
ผมได้เล่าเรื่องนี้ให้กับพี่ต๊าฟังทำให้พี่ต๊ะขนลุกซู่ ตกใจ หน้าตาตื่น เขาว่าไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาก่อน เพิ่งจะได้ยินมาจากผม แล้วก็ปรึกษาว่าแล้วแบบนี้จะทำยังไงดี ? เขาเองก็ไม่อยากให้ปลาตาย เจ้าซองแดงถือเป็นพี่ใหญ่ของบ้านนี้และเป็นตัวที่เขารักมาก ผมบอกกับพี่ต๊าว่าเรื่องนี้ไม่ต้องห่วงครับ มันมีทางแก้ของมันเพียงแต่การแก้ไขครั้งนี้อาจต้องลงทุนหน่อยนั่นก็คือการใช้ “หลอดฆ่าเชื้อโรค” หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าหลอด UV
=> เพื่อนๆ ที่ได้อ่านบทความใน Aro4u มาโดยตลอดคงจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลอด UV แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่ทราบผมขอรื้อฟื้นนิดนึงนะครับ หลอด UV มีหน้าที่ในการฆ่าเชื้อโรคตู้เลี้ยงปลาเพื่อบำบัดน้ำให้ใสสะอาดปราศจากเชื้อโรค และเมื่อเป็นแบบนี้แล้วถ้าเอามาใช้กับตู้ที่เลี้ยงซองแดงอาจจะสามารถจัดการกับปัญหาโรคเชื้อราเรื้อรังที่เกิดขึ้นได้ แนะนำไปแบบนี้จึงทำให้พี่ต๊ามีรอยยิ้มขึ้นเพราะเกิดความหวังในการรักษา… คราวนี้ล่ะ เจ้าซองแดงเอ๋ย แกจะได้หายขาดแล้วอยู่กับฉันไปนานๆ
โปรดติดตามชมตอนต่อไปนะครับ