เคยมีใครหลายๆ ท่านถามผมว่า “เห็นคุณแนนอยู่ในแวดวงปลามังกรมานาน คุณแนนมีความคิดที่จะทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามังกรบ้างไหม ?”
คำตอบที่ผมมักจะตอบให้เพื่อนๆ เหล่านั้นแล้วก็ยังตอบมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็คือ “ผมเกิดจากการเป็นนักเขียน เป็นคนที่ชอบเขียน ชอบบอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่ได้พบเจอด้วยภาพประกอบสวยๆ ให้เพื่อนๆ ในวงการเดียวกันได้รับชม เป็นความรู้ ความเข้าใจ และเป็นแนวทางในการเลี้ยงปลา และจุดยืนของผมก็เป็นแบบนี้เรื่อยมา แต่ก็เคยคิดอยู่เหมือนกันว่ามาถึงขนาดนี้แล้วก็น่าจะลองทำฟาร์มบ้าง แต่ขอเรียนตามตรงว่าประสบการณ์ผมยังน้อยมาก หากเทียบกับผู้เลี้ยงมากประสบการณ์จากเมืองนอก ผมเป็นเพียงแค่เจ้าหนูน้อยเท่านั้นเอง ดังนั้นจากการศึกษาปัจจัยต่างๆ อย่างละเอียดในการทำการดังกล่าวแล้ว ทำให้ผมเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ แม้ผลที่ได้รับเมื่อถึงจุดหมายปลายทางจะยิ่งใหญ่แบบที่สิ่งที่ทำในปัจจุบันเทียบไม่ได้ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะวันนี้ วันไหน วันต่อๆ ไป ใครๆ ก็จะยังได้เห็นว่า Nanconnection จะเป็นผู้เลี้ยง เป็นนักคัดนักเขียน และผู้ที่ขยันเก็บภาพปลาสวยๆ มาฝากเพื่อนสมาชิกตลอดไป”
และแนวทางนั้นผมก็ได้ปฏิบัติต่อเนื่องมายาวนานถึงวันนี้ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ชอบเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนสมาชิกได้ฟัง ดังนั้นในเวลาที่ผมว่างก็จะมักหาข้อมูลใหม่ๆ มาฝากอยู่เสมอ เพราะเราเองยังเป็นคนที่รู้น้อย จึงต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอยู่เสมอทั้งจากเมืองไทย และเมืองนอก โดยเรื่องที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องของการ “เพาะพันธุ์ปลามังกร”… หากเพื่อนสมาชิกท่านใดที่ติดตามผลงานผมมาโดยตลอด รวมถึงการติดตามข้อมูลในแวดวงปลามังกรในเมืองไทยอย่างใกล้ชิด จะทราบว่าในประเทศเรา นอกจากผู้ที่ทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เช่น กรมประมงใสจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ สุวิทย์ อโรวาน่าฟาร์มแล้ว ดูเหมือนว่าการทำการเพาะพันธุ์ปลามังกรยังห่างไกลเหลือเกินสำหรับ “ผู้เลี้ยง” อย่างเรา
แม้จะมีผู้เลี้ยงมายมายทั้งที่ซุ่มเงียบ หรือ เปิดตัว ทำการศึกษาและดำเนินแผนการเพาะพันธุ์อยุ่ ด้วยการพยายามกว้านซื้อปลาใหญ่จำนวนมากมายทุกสายพันธุ์โดยเฉพาะ ทองอินโด ปลามังกรแดง และ ทองมาเลย์ ตามที่ได้เห็นประกาศจากในเวบไซท์ หรือหนังสือนิตยสารทั่วไป จนกระทั่งได้ทราบความคืบหน้าต่างๆ มากมายเช่น ปลาได้เริ่มจับคู่แล้ว แบ่งส่วนจัดโซนนิ่งแล้ว หรือบางตัวเริ่มไข่ ตัวผู้อมไข่ และอื่นๆ ที่สร้างความหวังและกำลังใจ ให้กับเพื่อนสมาชิกในเวบไซท์ต่างๆ เหล่านั้นโดยคาดหวังว่าวันหนึ่งเราจะมีผู้เลี้ยง หรือใครซักคนที่สามารถทำการเพาะพันธุ์ปลามังกรได้จากการลงภาพแบบติดตามใกล้ชิดให้ดูอย่างต่อเนื่อง… แต่แล้วจนถึงวันนี้เท่าที่ทราบและติดตามก็ยังไม่มีท่านใดทำได้สำเร็จ แต่แน่นอนว่าท่านๆ เหล่านั้นก็ยังมีความหวัง ความตั้งใจที่จะดำเนินการต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จากข้อมูลข้างนี้จึงหมายถึงว่า การเพาะพันธุ์ปลามังกรในบ้านเราเวลานี้ยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงอีกมาก…
จนมาวันหนึ่ง ในขณะที่ผมได้กำลังอ่านบทความในเวบไซท์หนึ่งก็ได้เห็นว่ามีสมาชิกท่านหนึ่งของเวบไซท์นั้นทำกระทู้ขึ้นมาว่า “ขอนำภาพปลาอโรวาน่าที่สามารถเพาะพันธุ์ได้มาให้ชมกัน” ต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่ฮือฮามากครับ เพราะสมาชิกท่านนี้ (ใช้ชื่อว่า Mike) ไม่มีที่มาที่ไป ? ไม่มีใครรู้จัก ? ไม่ได้เป็นคนใน ? หรืออยู่ในแวดวงสังคมมังกร ? แล้วเขาเป็นใครหนอ ? … ไม่เป็นไร เรื่องนี้ไม่ได้สนใจ ขอไปดูรายละเอียดข้างในก่อน ในกระทู้ดังกล่าวเป็นภาพปลามังกรมากมายโดยให้คำอธิบายว่า ปลาใหญ่เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ส่วนตัวเล็กๆ เป็นลูกปลาที่ได้จากการทำการเพาะพันธุ์เหล่านั้น ที่ผมกล่าวว่าเป็นฮือฮาไม่ใช่เรื่องของคุณภาพปลา แต่เป็นเรื่องของ “การได้มา” มากกว่าว่าเขาได้มาได้อย่างไร ? ทำอย่างไร ? และภาพที่นำมาลงนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ? เรียนตามตรงว่า ณ เวลานั้นผมเองก็เกิดความสงสัยอยู่เหมือนกันว่า แต่เพราะผมเป็นหนึ่งในคนที่พบเห็นภาพปลามามากมาย ทั้งของตัวเอง ของเพื่อนๆ และของเมืองนอก ก็ยังไม่เคยเห็นภาพชุดนี้ผ่านตาเลย ดังนั้นหนึ่งใจที่ยังสงสัย แต่อีกใจก็ยังอยากจะติดตามค้นหาว่าเขาเป็นของจริงหรือไม่อย่างไร ?
… ภาพที่ไม่เคยเห็น + ชื่อที่ไม่คุ้นชื่อ และเป็นที่รู้จัก นั้นยังคงได้รับการโพสลงอย่างต่อเนื่องนานนับเดือน โดยมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังได้รับการปิดกั้น ไม่เปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกแต่อย่างใด และยิ่งความถี่ในการทำกระทู้ + ภาพประกอบในความสำเร็จในการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ปลาระดับสูงอย่างทองอินโด และ ทองมาเลย์ได้ ยิ่งทำให้คนเกิดความสนใจ ใคร่อยากได้รู้จัก ได้เข้าชม ได้ศึกษาพูดคุยแบบถึงเนื้อถึงตัวมากขึ้น จนวันหนึ่งคนๆ นี้ก็ได้เปิดตัวขึ้น… เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เขาเป็น “ของจริง” ไหม ? มีเทคนิคอย่างไร ไว้คอยติดตามชมต่อนต่อไป ตอนนี้ผมต้องขอตัวทำงานก่อน ผู้บริหารเริ่มเล็งจนเหล่แล้ว ~~!!