ปลาตัวไหนตัวผู้ / ปลาตัวไหนตัวเมีย ?
เป็นที่คาใจกันมานานเกี่ยวกับคำถามนี้ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมก็ยอมรับว่าเลี้ยงปลามังกรมานับ 10 ปี ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าปลาตัวไหนเป็นตัวผู้ และตัวไหนเป็นตัวเมียได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เพราะไม่ใส่ใจเนื่องจากเราอยู่ในฐานะผู้เลี้ยง ไม่ใช่ผู้ที่เพาะพันธุ์ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องรู้ แต่เพราะเราศึกษามาหลายสูตรเหลือเกิน ทั้งการดูโครงสร้าง การดูหุ่น ดูลักษณะ รวมถึงสูตรการคำนวณขนาดปลาที่บ่งบอกได้ถึงเพศปลาเลยก็มี แน่นอนครับ เมื่อได้ไปเยือน ตรีพร อโรวาน่าฟาร์ม จึงได้มีโอกาสถามคำถามนี้กับพี่ต่อ เพื่อเป็นความรู้ในภาษาที่เข้าใจง่ายจาก "คนทำฟาร์ม" ตัวจริง ผมถามพี่ต่อว่า…
“พี่ต่อครับ มาถึงคำถามยอดฮิตบ้าง ? มีเพื่อนๆ สนใจกันมากว่าวิธีดูเพศของปลาตัวผู้ และปลาตัวเมีย พี่ต่อดู และแยกยังไงครับ ?”
“คุณแนนฟังพี่ให้ดีนะครับ สำหรับปลามังกรนี่ก็เหมือนกับคนเรานี่ล่ะ จากประสบการณ์ที่พี่ทำฟาร์มมา พี่สังเกตเห็นว่าลูกปลามังกร เมื่อตัวเล็ก เลี้ยงรวมๆ กัน เราดูไม่ออกหรอกว่าตัวไหนเป็นตัวผู้ และตัวไหนเป็นตัวเมีย เพราะหน้าตามันเหมือนกันไปหมด และตั้งแต่เล็กจนโตก็ยังบอกได้ว่าดูยากไม่เปลี่ยนแปลง จนถึงวัยเจริญพันธุ์นี่ล่ะ ถึงจะได้เห็นชัดเจนมากขึ้นถึงขั้นที่สามารถแยกออกได้
หากพูดถึงปลาที่เป็นฝูงเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงขนาดซัก 8 นิ้ว เมื่อเลี้ยงร่วมกันไปพักหนึ่ง จะเห็นได้ว่าจะมีปลาอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีขนาดเล็กกว่าตัวอื่น (ส่วนใหญ่มีไม่มาก) กลุ่มที่ขนาดไล่เลี่ยกัน และ ขนาดใหญ่กว่าตัวอื่นหน่อย (ก็มีไม่มากเช่นกัน) จากประสบการณ์ที่ได้ดู ได้เห็น ได้สังเกตมาหลายรุ่น ผมสามารถบอกได้ว่า กลุ่มปลาที่มีขนาดใหญ่ตัวอื่นๆ นั่นเกือบทั้งหมดเป็น “ตัวเมีย” (ก็อย่างที่ผมบอกว่าเหมือนคนไงล่ะ เด็กผู้หญิงแรกรุ่นจะสูงใหญ่ และโตเร็วกว่าเด็กผู้ชาย… กับปลานี่ก็เหมือนกัน)
ตอนแรกปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ แต่เมื่อขนาดเริ่มเข้าสู่ 1 ฟุตขึ้นไป สำหรับปลาไซส์นี่จะเรียกว่าเข้าสู่วัยรุ่น รูปร่าง และโครงสร้างของปลาจะเริ่มเปลี่ยนไป ตัวผู้เริ่มมีฮอร์โมนในการผลิตน้ำเชื่อ และตัวเมียเริ่มสามารถสร้างไข่ได้ ดังนั้นในระหว่างที่ตัวปลามีการพัฒนาจากขนาด 12 ไปยัง 15 ถึง 18 นิ้วนั้น หากเป็น…
“ตัวผู้” รูปร่างก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หุ่นจะบึกหนา ได้สัดส่วน เล็กมายังไง โตมาก็ไม่ได้แตกต่างกัน สีสันจะดี เข้ม และสวยงามมากขึ้น ในขณะที่
“ตัวเมีย” รูปร่างออกยาว (เพราะมีการนำสารอาหารในร่างกายไปผลิตไข่) เป็นทรงกระบอก หลังและท้องขนานกัน หัวจะโต และขนาดปลาจะจำกัด จะหยุดโตเร็วกว่าตัวผู้ ดังนั้นในปลาที่มีอายุเท่ากัน ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้
แต่การดูปลาของผมไม่ได้จบที่เท่านี่ เพราะทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น และเพื่อให้ถูกต้องและมั่นใจมากขึ้น เมื่อได้เวลาที่พร้อมผสมพันธุ์ ผมจะนำปลาที่คาดว่าเป็นตัวผู้ และตัวเมีย ลงในบ่อ คุณแนนเชื่อไหมว่า คราวนี้ไม่ต้องให้ใครชี้แล้วว่าตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย เพราะตัวปลาจะบ่งกันเอง เราก็เพียงดูแค่ว่า การจับคู่ของตัวปลาเป็นการจับคู่ในลักษณะจะผสมพันธุ์ หรือ จับคู่เพื่อต่อสู้กัน แน่นอนว่า ทั้ง 2 ลักษณะนี้ไม่เหมือนกันแน่นอน คุณแนนก็คงจะเข้าใจ และจากที่ได้เล่าให้ฟังนี้ เชื่อไหมว่า ผมน่ะฟันธงถูกเกือบ 100% เลยทีเดียวล่ะสำหรับเรื่องการระบุเพศปลา”
เอาล่ะครับ จากที่พี่ต่อได้เล่าให้ฟัง ผมเชื่อว่าเพื่อนสมาชิกจะมี Idea มากขึ้น และหากท่านใดมีคำถามสำหรับตอนนี้ก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ครับ ผมยินดีตอบให้หากมีความรู้เพียงพอ หรือถ้าไม่พอ ก็ต้องขอรบกวนพี่ต่อช่วยตอบให้ด้วยนะครับ (หลังๆ เข้ามามีแต่อ่านอย่างเดียว ไม่ช่วยตั้งกระทู้แล้ว อิอิ)
ของฝากก่อนจากกัน => พี่ต่อเล่าว่า พี่ต่อสามารถเพาะปลาได้ในบ่อปูน (ที่เขาว่าทำกันยากเหลือทน !!) แต่การเพาะในบ่อปูนนั้นได้ผลผลิตที่น้อยกว่า และทำได้ยาก ต้องใช้เวลารอคอยมากกว่าการเพาะในบ่อดิน ดังนั้นหากเพื่อนสมาชิกท่านใดสนใจจะเพาะปลามังกร เริ่มต้นจะลองจากบ่อปูนก่อนก็ได้ครับ Confirm ว่าทำได้ แต่อาจจะไม่มีเสถียรภาพในการจับคู่ผลิต ต่างจากบ่อดินที่มีเสถียรภาพที่แน่นอนครับ… ง่ายๆ ว่า “เอามันส์” ลองเพาะในบ่อปูน “เอาคุ้ม + เอาเพลิน” เชิญลงในบ่อดินครับ