http://www.aro4u.com/articles-detail/546
http://www.aro4u.com/articles-detail/547
หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง 2 หนุ่มกับ 1 ปลาพร้อมอุปกรณ์ส่วนเพิ่มก็มาถึงที่บ้านผมโดยปลอดภัย แต่ทว่าเพื่อนผมไม่สามารถอยู่ดูการทำศัลยกรรมของผมได้เนื่องจากต้องรีบกลับบ้านไปเคลียงานแล้วจึงค่อยตามมาดูในภายหลัง จริงๆ ผมก็ตั้งใจจะรอให้เขาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน ทุกอย่างจะได้ราบรื่นไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น แต่ในเมื่อพี่เขาเองมีธุระประกอบกับงานแบบนี้มันรอไม่ได้ดังนั้นผมจึงต้องทำเองเพียงลำพังคนเดียว สิ่งที่ผมต้องทำอันดับแรกก็คือต้องวางยาเจ้าเออมัสเพิ่มเติม แต่คราวนี้ต้องให้ถึงกับหลับสนิทเพราะต้องต้องทำการแต่งเหงือกทั้งสองข้าง จากนั้นจึงค่อยปล่อยลงคู่กับอิ่มเอม ว่าแล้วก็จัดการวางยาเพิ่มเติมเลย เป็นเพราะงานนี้ผมทำคนเดียวดังนั้นจึงต้องทำอย่างเร่งรีบแต่ใส่ความมุ่งมั่นตั้งใจมากเป็นพิเศษ หลังจากวางยาสลบเพิ่มเติมแล้วซักพักเจ้าเออมัสก็เริ่มมีอาการโรยแรง ครู่เดียวมันก็หงายท้องพร้อมรับการตัดแต่ง ผมไม่รอช้าหยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือที่เตรียมไว้แล้วลงมือแต่งเหงือกทันที…
เป็นเพราะมีประสบการณ์ในการทำศัลยกรรมมาก่อน ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 นาทีผมก็แต่งเหงือกทั้ง 2 ข้างเสร็จ (มีแต่งครีบก้นที่ไม่เท่ากันให้เท่ากันด้วย) ต่อไปก็คือทำให้เจ้าเออมัสฟื้นในตู้ของอิ่มเอม แต่ทว่าการจะทำให้ปลาใหม่ฟื้นขึ้นมาในตู้ที่มีเจ้าของที่อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องการให้โดนทำร้ายนั้นผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ตัวนี้เป็นเจ้าถิ่น (กำลังดุดันและแข็งแรง) กับอีกตัวเป็นผู้มาใหม่และสลบไสลกำลังต้องการการฟื้นตัว ตัวที่หลับไหลคงต้องโดนเล่นงานเละเทะแน่นอนโดยที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ (แม้ว่าผมจะเคยเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าอิ่มเอมเป็นปลาที่นิสัยดี ไม่ค่อยทำร้ายใคร แม้แต่เพื่อนร่วมตู้ตัวเล็กๆ อย่างฝูงปลาเทวดาและปลาเสือสุมาตรา อิ่มเอมก็ไม่เคยสนใจที่จะทำร้าย แต่สำหรับปลามังกรด้วยกันผมว่าต้องมีเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่อาจจะไม่มากซึ่งเป็นเพราะด้วยพื้นฐานที่นิสัยดีอยู่แล้ว) ดังนั้นในการลงปลาคู่กันนี้ผมจึงต้องมีเทคนิควิธีหน่อย
NOTE : สิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้คือเทคนิควิธีที่ผมใช้ในการลงปลาใหญ่ทั้ง 2 ด้วยกัน แต่ก่อนอื่นต้องขอแจ้งให้ทราบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ผมคิดขึ้นเองและไม่เหมาะที่จะนำไปทำตามอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่อันตรายมากซึ่งหากไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพออาจทำให้เสียปลาได้ แต่เหตุผลที่ผมนำวิธีดังกล่าวมาเขียนให้ในบทความตอนนี้ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้วิธีของผมในแบบ “เล่าสู่กันฟัง” เท่านั้น โดยมิได้มีเจนตาต้องการบอกสอนให้เลียนแบบหรือทำตามแต่อย่างใดนะครับ ดังนั้นในส่วนนี้จึงต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลมากเป็นพิเศษ
วิธีที่ผมใช้ในการลงเจ้า “อิ่มเอม” กับ “เออมัส” เรียกว่า “การลบความทรงจำ” นั่นคือ การวางยาสลบปลาทั้งคู่อย่างรุนแรงถึงขั้น “หงายท้อง” (เหมือนกับวางเพื่อการทำศัลยกรรม) แล้วทำให้กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่พร้อมกัน ประหนึ่งเหมือนกับว่าเป็นปลาใหม่สำหรับตู้นี้ทั้งคู่ “การลบความทรงจำ” จำเป็นต้องทิ้งระยะเวลาไว้นานหน่อยเพื่อไม่ให้ปลาฟื้นตัวเร็วเกินไป เพราะเมื่อปลาฟื้นตัวแล้วจะทำให้เขาจดจำสภาพแวดล้อมได้เร็วแล้วจะเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่การวางยาโดยทิ้งเวลาไว้ชั่วอึดใจหนึ่งจะทำให้เมื่อฟื้นแล้วปลาจะมีอาการมึนซึม งุนงง ตาลอย และทำอะไรไม่ค่อยถูกอยู่ระยะเวลาหนึ่ง (อาจเป็นวันหรือถึงสัปดาห์) ช่วงเวลานั้นตัวปลาจะค่อยๆ ซึมซับข้อมูลใหม่ เรียนรู้ที่อยู่ใหม่ เพื่อนร่วมตู้ใหม่ (ทั้งปลาเทวดา ปลาเสือสุมาตราและปลามังกร) สภาพแวดล้อมใหม่ ดังนั้นการปรับตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของการทำร้ายกันได้ด้วยเช่นกัน…
WARNING : วิธีนี้เสี่ยงต่ออะไรบ้าง ?… อันดับแรกเลยนะครับก็คือการเสี่ยงต่อปลาเสียชีวิตทั้งคู่เนื่องจากวางยามากเกินไปแล้วปลาไม่ฟื้น ข้อสองก็คือสำหรับกรณีที่ปลาฟื้นตัว “เร็วเกินไป” (ในกรณีของอิ่มเอม) แล้วจะไปทำร้ายปลาตัวใหม่ที่เพิ่งโดนยาสลบซ้ำซ้อนมา โดยกว่าที่ตัวใหม่จะฟื้นคืนสภาพก็คงต้องรับบาดเจ็บบอบช้ำไปไม่น้อย ดีไม่ดีอาจถึงขั้นเสียชีวิตก่อนฟื้นหรือก่อนได้อยู่ร่วมกันก็เป็นได้ ในกรณีที่วางยาแล้วฟื้นตัว “ช้าเกินไป” ก็อาจมีผลทำให้ปลาซึมยานาน ไม่ยอมกิน ไม่ยอมว่าย นิ่งไม่ไหวติง (มีโอกาสที่ตัวใดตัวหนึ่งจะเป็นหรืออาจเป็นได้ทั้งคู่) ทำให้ปลาเสียนิสัยนานนับเดือน…
นอกจากนี้การวางยาสลบมากๆ อาจมีผลข้างเคียงกับตัวปลา 2 อย่างคือ ข้อแรก ถ้าน้ำยาสลบโดนตัวปลาโดยตรงจะทำให้ผิวของปลาเกิดรอยด่างขาวดูน่ากลัวขึ้นได้ ซึ่งกว่าจะหายดีเป็นปกติอาจต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานเป็นเดือน… ข้อสองหากปลาเมายาสลบแล้วฟื้นช้าอาจเป็นผลทำให้ระบบเส้นประสาทบางส่วนของปลาเป็นอัมพาตได้ ตัวอย่างเช่น ฟื้นมาแล้วหลังคด หนังงอ ตัวเบี้ยว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่าที่ปลาจะหายกลับมาเป็นปกติ ที่สำคัญคือวิธีนี้ก็ไม่ได้ถูกรับรองผลด้วยว่าจะได้ผล 100% ทุกกรณี แต่สำหรับตัวผมๆ มี “ความเชื่อ” โดยส่วนตัวว่าปลาคู่นี้สามารถเลี้ยงร่วมกันได้ และผมเองก็มีประสบการณ์พอสมควรในการวางยาสลบปลามังกร ดังนั้นเมื่อเชื่อมั่นทั้งร่างกาย (ว่าจะสามารถทำได้) และจิตใจ (ว่าจะเลี้ยงร่วมกันได้) จึงตัดติดสินที่จะทำวิธีดังกล่าวเพื่อให้ความหวังความตั้งใจของผมเป็นจริงได้ (แต่ยังยืนยันว่าไม่ขอแนะนำให้เพื่อนผู้อ่านกระทำตามนะครับ)
เมื่อผมตัดสินใจแน่นอนแล้ว หลังจากการแต่งเหงือกและครีบก้นของเจ้าเออมัสเสร็จแล้วผมก็วางมัน (ทั้งที่ยังสลบ) ไว้ในกล่องโฟม จากนั้นก็เริ่มดำเนินการต้อนจับเจ้าอิ่มเอม… ทว่าวันนี้อิ่มเอมดูเหมือนไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่ แปลกที่จับค่อนข้างยากทั้งที่ผ่านมาก็จับได้ง่ายมาโดยตลอด (แต่ก็ไม่ยากเหมือนกับตอนจับเออมัสนะครับ นั่นมันงานโคตรช้างชัดๆ !) ที่สำคัญคือเมื่อจับอิ่มเอมได้ มันมีกระโดดพุ่งสวนขึ้นมาประมาณ 2-3 ทีแต่ไม่ค่อยรุนแรง ผมกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา คงไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร เมื่อจับได้แล้วก็วางยาสลบอิ่มเอมในปริมาณมากเช่นกัน ในระหว่างที่อิ่มเอมเริ่มสลบผมก็ประคับประคองเจ้าเออมัสลงไปปล่อยในตู้ใบใหม่ด้วยเพราะเจ้านี้โดนยามาเยอะและกินเวลานานแล้วต้องรีบทำให้ฟื้น เดี๋ยวช้าเกินไปจะมีผลอันตรายข้างเคียงดังที่กล่าวไว้ด้านบนได้ หลังจากที่อิ่มเอมสลบเหมือดได้กว่า 5 นาทีผมก็รีบนำเจ้าอิ่มเอมปล่อยลงตู้ในทันที
กรุณาติดตามชมตอนต่อไปนะครับ