หลังจาก Set ตู้ และเลี้ยงปลาได้พักหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่ามีเพื่อนสมาชิกหลายท่านเริ่มเจอกับปัญหา “น้ำเขียว” และ “ตะไคร่น้ำ” รุมเร้า ให้รู้สึกไม่สบายใจกับการต้องมานั่งดูปลาในตู้ขุ่นๆ ตู้หม่นๆ ตู้น้ำเขียว ตู้มีคราบตะไคร่ ทำให้ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ และต้องขยันขัดถูอยู่บ่อยครั้ง… หากผู้เลี้ยงมีความรู้ในการแก้ไขให้ถูกจุดก็คงไม่มีปัญหา แก้ได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่หากไม่มีความรู้เพียงพอ แก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย สุดท้ายก็ได้ความเหนื่อยหน่ายและหนักใจ + เบื่อการเลี้ยงปลามังกรก็มาเยือน เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เพื่อนสมาชิกต้องรู้สึกอย่างหลัง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ มาอ่านแนวทางการแก้ไขปัญหา “น้ำเขียว” จาก Nancon. ด้วยกัน => เมื่อมีปัญหาน้ำเขียวเกิดขึ้น ทำยังไงดีหนอ ไปชมกัน
1. ถามตัวเองก่อนว่าได้ดูแลตู้ปลาดี “ตามสมควร” แล้วหรือยัง ? ถ้ายังไม่ดี เช่น ปล่อยน้ำให้เสีย ร้อยวันพันปีไม่เคยเปลี่ยนถ่าย หมื่นเดือนพันวัน ไม่เคยล้างระบบกรอง และวัสดุกรอง ปล่อยให้หมักหมมบ่มกลั่นจนสภาพเกินทน จะแก้ด้วยวิธีไหนก็คงไม่สามารถแก้ได้ เราต้องให้เวลาในการจัดการกับเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรก หลายๆ ครั้งที่มาของน้ำขุ่น เขียว มาจากการขาดการดูของผู้เลี้ยง ฝากไว้ซักนิดเพราะ "ความใส่ใจ” ในการดูแลเป็น Key Point สำหรับสุขภาพปลาและความสวยงามของตู้จากปัญหาใดๆ ทั้งปวง
*** อุปกรณ์เสริมสำหรับการทำความสะอาดตู้ก็มี "แปรงแม่เหล็ก" ครับ ถ้าเกิดน้ำเขียวจากตะไคร่บ่อยๆ ก็ควรมีติดตู้ไว้
2. ตรวจสอบการใช้หลอดไฟ => สำรวจก่อนว่า "ภายใน" ตู้ปลาของเรา หลอดไฟที่เราใช้ เป็นหลอด Aquarium หรือไม่ ? (หลอด Aquarium คือ หลอดไฟสำหรับปลาสวยงาม เช่น Toshiba Aqua Lamp, Philip Aquarelle, Sylvania Aqua Star, Sylvania Gro Lux, Meji และอื่นๆ) ไม่ใช่หลอดส่งเสริมเฉพาะเรื่องสี เช่น หลอด Day Light, 12000k หรือ Warm White
หากหลอดที่ใช้อยู่เป็นหลอด Aquarium ไม่ต้องห่วงครับ จะเปิด 2 หลอด 3 หลอด 4 หลอด ปัญหาตะไคร่ และน้ำเขียวก็ยังจะไม่เท่าการเปิดหลอดประเภท Day Light (หลอดไฟบ้าน) หรือ หลอดที่มีค่าแสงสูงกว่า 10000K (หลอดแดด) เพียง 1 หลอดตลอดเวลา ดังนั้นหากพบว่าเราใช้หลอดอย่างหลังอยู่ เปลี่ยนได้ก็ขอแนะนำให้เปลี่ยนครับ แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ขอให้ “ลดจำนวน” หลอด หรือ “ลดเวลา” ในการเปิดลง ก็ช่วยได้มากขึ้นครับ
3. การจัดระบบกรอง และวัสดุกรอง => ตามที่ได้กล่าวไปว่าปัญหาข้างต้นส่วนใหญ่เกิดการใช้หลอดไฟ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อหลอด จำนวนหลอด และระยะเวลาในการเปิด อย่างไรก็ตาม หากการจัดระบบกรองของเรามีประสิทธิภาพเพียงพอ กล่าวคือ มีระบบกรองที่ใหญ่ น้ำไหลวนได้มาก มีวัสดุกรองหลัก (หินพัมมิส, ปะการัง, Ceramic Ring และ Substrate) และวัสดุกรองรอง (ใยแก้ว, ใยหยาบ, ไบโอบอล) ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยเกินไป รับรองว่าบำบัดนำเสีย + แก้ไขน้ำขุ่นได้ทันท่วงที
4. การใช้ Tank Mate สาย “ทำความสะอาด” => Tank Mate สายทำความสะอาดนี้มีมากมายครับ แบ่งย่อยๆ ออกเป็น 2 สายคือ
– ชนิดทำหน้าที่ "ขัดถู" เช่น ปลาสายน้ำผึ้ง (มีประสิทธิภาพสูงสุด – แต่ขนาดต้องเหมาะสม เพราะถ้าเล็กเกินไป ปลามังกรกินได้ และชอบกินมากครับ) อีกทั้ง ปลาหงส์ (อินซีเน็ท) และ ปลา Sucker
– ชนิดทำหน้าที่ "เก็บเศษ" เช่น ปลาหมูอินโด, ปลาตะเพียน, ฉลามหางไหม้ และอื่นๆ
มีในจำนวนเพื่อการใช้งานก็พอนะครับ ไม่จำเป็นต้องมีมากเพื่อความสวยงามหลากหลาย ไม่เช่นนั้นก็จะเพิ่มปริมาณของเสียภายในตู้ ระบบกรองก็จะทำงานมากขึ้นตาม
5. การใช้หลอด UV => ลองมาหมดแล้ว ไม่ดีขึ้นก็ต้องใช้หลอด UV แล้วล่ะครับ ช่วยได้มาก ถึงมากที่สุด แต่ก็ต้องจ่ายขึ้นหนักไม่น้อย (หลักพัน) แถมจะต้องต่อท่อระโยงรยางค์ ท่อน้ำเข้า ท่อน้ำออก แถมยังตัวแท่งหลอด UV เองด้วย หากจัดไม่ดี ไม่มีที่ซ่อนก็จะดูไม่สวยงาม ส่วนใหญแล้ว การแก้ไขปัญหาน้ำขุ่น เขียว หรือปัญหาตะไคร่น้ำจะจบได้ด้วยวิธีนี้ครับ
6. การใช้น้ำยาปรับสภาพน้ำใสช่วยเหลือ => โดยปกติแล้วผมจะไม่แนะนำให้เพื่อนสมาชิกใช้เคมีภัณฑ์กับปลามังกร หากยังเป็นมือใหม่ หรือยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาชนิดนี้ยาวนานเพียงพอ แต่จริงๆ แล้ว การใช้เคมีภัณฑ์สำหรับทำน้ำใสในตู้ปลาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพครับ (ผมเองก็มีใช้ แต่ไม่บ่อยครั้ง) แต่ควรใช้ยี่ห้อที่เป็นที่ยอมรับ เช่น Sera Crystral Ponds, Tetra Clear Tank (ใช้ปริมาณครึ่งเดียวจากที่ระบุในข้อบ่งใช้ก็พอครับ) และแนวทางการแก้ไขข้อนี้ ผมขอให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายครับ
จากบทความข้างต้น เราจะค่อยๆ แก้เป็นข้อๆ ไปก็ได้นะครับ หรือจะใช้ทุกวิธีก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับเวลา และงบประมาณที่เอื้ออำนวย Nancon. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยทำให้เพื่อนสมาชิก Aro4u ทุกท่านที่มีปัญหาเรื่องน้ำขุ่น เขียว ไม่สวยงมอยู่ ณ เวลานี้ จะทำให้ดีขึ้นในเร็ววันนะครับ