http://www.aro4u.com/articles-detail/566
เรามาต่อกันเลยนะครับ
42. ได้เห็นภาพทางด้านหน้าของฟาร์ม และเห็นถังเก็บพ่อแม่พันธุ์กันไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาดูด้านหลังกันบ้างนะครับ ผมเก็บภาพมาแบบรอบทิศทางเพื่อให้มองเห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจนร่วมกัน เริ่มจากด้านหลังของถังขุนจะเห็นได้ว่าทุกถังมีท่อน้ำเข้า และท่อน้ำออก ต่อเชื่อมกันไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ (แต่ละถังขุนมีถังกรอง 2 ชุดๆ หนึ่งอยู่บนถังขุน และอีกชุดหนึ่งอยู่ด้านหลังส่วนล่าง) โดยน้ำที่ใช้ในการเปลี่ยนน้ำปลานั้นมาจากบ่อน้ำสำรองที่อยู่ด้านล่าง (บ่อน้ำสำรองนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีโรงสูบอยู่ข้างๆ เมื่อระดับลดลงถึงจุดที่ตั้งไว้ ก็สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงเข้าเติมได้ทันที)
มองไปทางด้านขวา ก็จะเริ่มเห็นบ่อปลาซึ่งมีทั้งบ่อปูน และบ่อดิน ที่สำคัญยังมีโรงเก็บถังขุนพ่อแม่พันธุ์อีกโรงหนึ่ง และมีจำนวนถังไม่น้อยด้วยสิ ? นับๆ แล้วได้ 12 ถัง คร่าวๆ ว่าถังหนึ่งมีปลา 30 ตัวนี้ รวมแล้วเฉพาะที่เห็นอยู่ในถังที่เรียงอยู่นั่นมีพ่อแม่พันธุ์ 12 x 30 = 360 ตัวแล้ว
43 – 44. ภาพภายในโรงเก็บถังขุนส่วนที่ 2 และบ่อเพาะพันธุ์คอนกรีต
– ด้านซ้ายจะเป็นบ่อเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งมีทั้งบ่อดิน และบ่อคอนกรีต ในฟาร์มแรกนี้มีรวมแล้วประมาณ 50 บ่อ แบ่งออกเป็นบ่อดินประมาณ 42 บ่อ และบ่อคอนกรีต 8 บ่อ สำหรับบ่อคอนกรีตนี้จะมีขนาดใกล้เคียงกับบ่อดินคือ ยาว 75 ฟุต กว้าง 25 ฟุต และสูง 4 ฟุต (ระดับน้ำ 3 ฟุต) แต่ละบ่อจะมีพ่อแม่พันธุ์ปลาสูงสุดไม่เกิน 30 ตัว
– ด้านหลังของบ่อจะมี “คอกผสมพันธุ์” ซึ่งคุณ Larry เรียกว่า “Room” หรือ “ห้อง” (ภาพย่อยที่ 2) และใน 1 บ่อคอนกรีตจะมีคอกผสมพันธุ์นี้อยู่ 3 ห้อง โดยคอกผสมพันธุ์นี้ มีไว้เพื่อให้พ่อแม่ปลาที่จับคู่แล้วได้แยกไปอยู่ร่วมกันเพื่อทำการผสมพันธุ์ (ภายในคอกค่อนขางสงบมากเพราะมีหลังคาบังแดด + ตะแกรงกันการรบกวนของสิ่งต่างๆ จากด้านบน
Note : ผมเข้าใจว่า 1 ห้อง ต่อพ่อแม่ปลา 1 คู่ ใน 1 บ่อมี 3 ห้อง นั่นหมายถึงสามารถแบ่งห้องให้พ่อแม่ปลาทำการผสมพันธุ์ได้ 3 คู่ (ด้วยเวลาที่มีจำกัด จึงลืมถามส่วนนี้ไป หรือบางที ห้องเดียวอาจจะมีพ่อแม่ปลาที่ต้องการทำการผสมพันธุ์ได้มากกว่า 1 คู่ก็เป็นได้ ? – จะสอบถามทาง Email แล้ว แจ้งให้เพื่อนสมาชิกได้ทราบกันอีกครั้งนะครับ)
– มาดูโซนถังขุนของพื้นที่ส่วนนี้บ้างดีกว่า (ถังขุนส่วนนี้ตั้งอยู่บนคานเหล็ก ที่อยู่ด้านบนของบ่อคอนกรีตอีก 4 บ่อด้านหลัง) จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากส่วนแรกที่มีอยู่ 6 ถังตรงที่ มีหลังคาคลุมด้านบน แต่ไม่มีระบบกรอง ? เอ… ทำไมหนอถึงไม่มีระบบกรอง ถ้าไม่มีระบบกรอง น้ำเลี้ยงในถังขุนจะถูกบำบัดได้อย่างไรหนอ ? แล้วปลาพ่อแม่พันธุ์กว่า 360 ตัวที่อยู่ในถังจะอยู่กันยังไง ? => เรื่องนี้ผมมีคำตอบให้ครับ
45 – 46. เพื่อนสมาชิกเห็น “ท่อเล็กๆ” ที่ต่อตรงลงมาจากเพดานด้านบนของแต่ละถังมั้ยครับ ? ข้อมูลผมได้จากคุณ Larry ก็คือ ท่อเหล่านี้เรียกว่า “ท่อส่งน้ำดี” ซึ่งวิ่งมาตามรางเหล็กด้านบน และด้านหลังของถังขุนก็จะมี “ท่อระดับน้ำล้น” เพื่อระบายน้ำเสียออก คุณ Larry บอกว่า ถังขุนชุดนี้แม้ไม่มีระบบกรองแต่ไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำสกปรก หมักหมม ไม่สะอาด เพราะมีการเปลี่ยนน้ำถ่ายเป็นประจำทุกวันๆ ละ 40% … “40% ทุกวัน !!” เปลี่ยนแบบนี้ทุกถัง ทุกใบ ขาดใจกันพอดี
คุณ Larry กล่าวว่า “Hey Hey, Don’t Worry ไอมีเทคนิค ไม่ต้องห่วง” แล้วเขาก็เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า น้ำที่เปลี่ยนใหม่ให้กับถังขุนแต่ละวันในปริมาณ 40% นั้น เป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำธรรมชาติที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับฟาร์ม โดย Mr. Law (เจ้าของฟาร์ม – คุณพ่อของคุณ Larry) เป็นผู้วางระบบการเดินท่อ การสูบเข้า และส่งคืน น้ำจากธรรมชาตินี้ อีกครั้งยังมีการใช้ Timer (เครื่องตั้งเวลา) เป็นตัวควบคุมวาล์วปล่อยน้ำดีเข้าถังแต่ละใบด้วย นับเป็นฟาร์มที่มีการจัดการระบบที่น่านำมาใช้มากๆ ครับ (เปลี่ยนน้ำฟรีด้วยน้ำดีจากธรรมชาติแบบนี้ สภาพแวดล้อมส่งเสริม และเป็นมิตรจริงๆ)
*** ถ้าจำไม่ผิด เครื่อง Timer นี้จะทำงานทุกวันในช่วงเวลาบ่าย 2 โมง โดยการปล่อยน้ำใหม่เข้าถังต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที ซึ่งถือเป็นปริมาตรน้ำใหม่ได้ราวๆ 40% ครับ
47. ที่ด้านหลังของบ่อก็จะมีรางระบายน้ำ เพื่อรองรับน้ำในถังที่ล้นผ่านท่อน้ำล้นออกมา แล้วปล่อยต่อไปยังบ่อปลาคอนกรีตที่อยู่ด้านล่าง => การใช้น้ำระบบไหลเวียนแบบนี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก ปลาแข็งแรง ได้รับน้ำใหม่อย่างต่อเนื่อง ปลาในถังขุนก็ได้รับน้ำใหม่ทุกวัน ปลาในบ่อก็รับน้ำใหม่ทุกวัน (แม้จะเก่าจากในถังขุนก็ตาม) นี่กระมังที่เป็นเทคนิคให้ปลาแข็งแรง เพาะพันธุ์ได้ดี และให้ลูกปลาได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ พอแค่นี้ก่อน สำหรับเทคนิคการเลี้ยงรวมในถังขุน หรือ พื้นที่แคบ (ที่รอกันอยู่) ผมจะเขียนให้อ่านในวันพรุ่งนี้นะครับ