http://www.aro4u.com/articles-detail/567
ต่อจากกระทู้ข้างต้นนะครับ (วันนี้มาตามสัญญาแล้ว)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำหรับเทคนิคการเลี้ยงรวมปลามังกร (ที่ให้มีโอกาสอยู่ร่วมกันได้มากที่สุด โดยมีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด) ที่ผม และเพื่อนสมาชิกเข้าใจตรงกันก็คือ
1. การเลี้ยงในตู้ ในถัง หรือ ในบ่อที่มีขนาดใหญ่ (เรียกง่ายๆ ว่า “เพียงพอ” ต่อจำนวนปลาที่อยู่ร่วมกัน)
2. เริ่มจากการเลี้ยงรวมในสายพันธุ์ที่มีความก้าวร้าวน้อย เช่นในสายพันธุ์ระดับสูงก็จะเป็น ปลามังกรแดง Super Red หรือ ทองมาเลย์ (ก้าวร้าวมากกว่า Super Red) และ RTG Class (ทองอินโด, Hiback Golden และ Super Hiback ที่มีความก้าวร้าวมากกว่า 2 สายพันธุ์ข้างต้น) และควรเลี้ยงรวมด้วยสายพันธุ์เดียวกัน (ข้ามสายพันธุ์เลี้ยงได้ครับ แต่โอกาสเสียหายก็มีมากขึ้น เพราะต่างสายพันธุ์ก็ต่างนิสัย)
3. เริ่มเลี้ยงรวมด้วยปลาขนาดเล็ก หรือ “ไซส์แรกซื้อ” กล่าวคือ ขนาดปลาประมาณ 6 – 8 นิ้ว
4. หากเป็นไปได้ ปลาที่จะนำมาเลี้ยงรวมควรเป็นปลาที่มาจากที่มาเดียวกัน กล่าวคือ เป็นรุ่นเดียวกัน หรือ เป็นคอกเดียวกัน และมีขนาดใกล้เคียงกัน
5. จำนวนการลงเลี้ยงรวม ไม่ควรน้อยเกินไป ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 6 ตัว
6. เวลาลงปลาควรลงพร้อมๆ กัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ใช่วิธีลงทีละตัวๆ ต่างช่วงเวลาจนครบจำนวน (เช่น เดือนนี้ลงก่อน 2 ตัว – มีงบเท่านี้ – / เดือนหน้าอีก 2 ตัว / และเดือนถัดไปอีก 2 ตัว หากเป็นลักษณะนี้ ปลาจะเริ่มต่างไซส์ และต้องจัดนิเวศภายในตู้ใหม่ทุกครั้งที่มีสมาชิกเพิ่ม)
7. ใส่น้ำหมักใบหูกวาง เพื่อให้ปลามีความตึงเครียด + มีความชัดเจนในการมองเห็นกันน้อยลง หรือติดตั้งสิ่งกีดขวางภายในตู้ เช่น ต้นไม้เทียม ขอนไม้น้ำ และอื่นๆ เพื่อลดโอกาสการกระทบกระทั่ง อีกทั้งยังช่วยให้ตัวที่ได้รับบาดเจ็บได้มีที่พักพิง หลบซ่อนตัว
8. ให้อาหารอย่างเพียงพอต่อจำนวน และขนาดของตัวปลา => การขาดอาหาร หรือการให้อาหารที่ไม่เพียงพอ จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาทำร้ายกันจนเกิดความเสียหายขึ้น
9. ไม่เพิ่ม หรือลดจำนวนปลา (หากไม่จำเป็น) ในระหว่างการเลี้ยงรวม เพราะการเปลี่ยนนิเวศของปลาภายในตู้ หรือ สถานที่เลี้ยงรวมมักจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นเสมอ
10. เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ เพื่อลดความตึงเครียดให้กับตัวปลา
11. ที่เหลือก็วัดดวงกันไปว่าตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่นั้น จะมีกี่ตัวที่สวยสมบูรณ์ และมีกี่ตัวที่บอบช้ำยับเยิน
และทั้งหมดข้างต้นนี้ก็คือข้อแนะนำที่ผมมักจะบอกเพื่อนฝูง กลุ่มลูกค้า และเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่มีความสนใจในการเลี้ยงรวมปลามังกรมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามแม้เทคนิคทั้ง 11 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นจะถือว่าค่อนข้างรัดกุม ระมัดระวังความปลอดภัยอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม สภาพปลาโดยรวมของปลาที่เลี้ยงร่วมกันก็ยังมีน้อยตัวนักที่จะสมบูรณ์แข็งแรง ที่เหลือก็ยังคงได้รับบาดเจ็บ บอบช้ำ เป็นตำหนิด หรือมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์
มาครั้งนี้ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนฟาร์ม Bukit Merah Arowana กับคุณต้น Lucky Arowana ผมได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ในการเลี้ยงรวมปลาจากคุณ Larry ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างบังเอิญ เพราะเรารู้ตัวดีว่า ณ วันนี้เรายังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องปลาชนิดนี้เพียงพอ จึงยังกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ และผมเรียนรู้สิ่งใหม่เหล่านั้นด้วย “การสังเกต” สิ่งแปลกใหม่ที่ได้มีโอกาสพบเห็น ซึ่งหนึ่งในการพบเห็นสิ่งใหม่ของการเดินทางครั้งนี้ก็คือ => ปลาใหญ่กว่า 30 ตัว (ที่มาจากต่างที่กัน) ในถังขุนแต่ละใบ เกือบทุกตัวในถังขุนเหล่านั้นมีสภาพโดยรวมที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก หาตัวเกล็ดหลุด หางขาด ปากแตก และร่องรอยความเสียหายอื่นๆ ได้น้อยมาก ระดับน้ำก็ไม่ได้สูง ถังขุนเลี้ยงก็ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย เขาทำยังไงหนอ ??? คุณ Larry มีเทคนิค และวิธีอย่างไร NC. สอบถามไป เขาก็ตอบกลับมาดังนี้ครับ => 6 Key Points สำคัญคือ
1. ตัวปลาที่ลงเลี้ยงรวม (หรือขุนรวม) ต่างขนาดกันได้ แต่ต้องไม่มากเกินไป (“ใกล้เคียง” แต่ “ไม่ผิดไซส์”) เช่น ปลา 18 นิ้ว กับ 20 นิ้ว สามารถเลี้ยงร่วมด้วยกันได้
2. ต่างที่มาได้ (จากคนละฟาร์ม คนละที่ คนละคอก คนละรุ่น) ไม่มีปัญหา แต่เวลาลงปลาในที่เลี้ยง ต้องลงพร้อมกัน
3. ภายในถัง (หรือสถานที่เลี้ยง) จะต้องติดตั้ง Power Head รุ่นที่มีแรงดันน้ำมากหน่อย เพื่อทำให้น้ำในถังไหลเวียนแรง คุณ Larry กล่าวว่า การที่ภายในถังมีน้ำไหลเวียนแรง ปลาจะต้องใช้แรงในการว่ายน้ำมากขึ้น (ไม่สามารถว่ายสบายๆ ลอยตัวไปมาได้) และเมื่อใช้แรงมากขึ้น ก็จะไม่มีเวลามาทะเลาะเบาะแว้งกัน
4. ระดับน้ำเลี้ยงไม่ต้องสูงมาก เพราะหากระดับน้ำเลี้ยงสูงมากเกินไป จะเกิดระยะที่ปลาใช้ชาร์จ กัด หรือโจมตีกันได้ ระดับน้ำเลี้ยงที่เหมาะสมคือ ระดับน้ำที่ Power Head สามารถทำงานให้น้ำหมุนไหลเวียนได้ทั่วถังที่เลี้ยง (ระดับน้ำสูงเกินไปจนพ้นระยะที่ Power Head ทำงานได้ ปลาก็เป็นอิสระในการว่ายน้ำ ผลคือเกิดความเสียหายกับปลาที่เลี้ยงรวม)
5. มีปลาเหยื่อใส่ไว้ในถังขุนอย่าให้ขาด => ในถังขุนเลี้ยงแต่ละใบ จะมีปลาตัวเล็กๆ อยู่ (คล้ายๆ “ปลานวล” ในบ้านเรา) คุณ Larry บอกว่า ส่วนใหญ่ที่ปลาจะกัดทำร้ายกันก็มักจะมาจากการหิว โดยปกติแล้วทางฟาร์มก็จะมีการให้อาหารเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน แต่ก็มีโอกาสอยู่เหมือนกันที่ปลาแต่ละตัวไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอ ดังนั้นปลาตัวไม่ได้กินอาจโมโหหิวและทำร้ายกันก็มีเกิดขึ้นบ่อย ด้วยเหตุผลนี้คุณ Larry จึงใช้วิธีใส่ “ลูกปลาเหยื่อ” ไว้ในถัง เพื่อว่าตัวใดหิว จะได้กินเหยื่อเหล่านั้นได้ ปลาอิ่มท้อง สบายตัว การทำร้ายกันก็ลดน้อยลง
Note : ข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5 นี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะคุณ Larry ย้ำนัก ย้ำหนา เป็นพิเศษครับ
6. เปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ => ทางฟาร์มจะเปลี่ยนน้ำในถังขุนทุกใบเป็นประจำทุกๆ วันๆ ละ 40% โดยการเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ ลดความตึงเครียดให้กับตัวปลาได้ เมื่อปลาไม่เครียด ก็จะช่วยลดการกระทบกระทั่งกับสมาชิกภายในถังตัวอื่นๆ ได้
ปัจจัยทั้ง 6 ข้อนี้มีความสำคัญ และมีผลเกี่ยวเนื่องต่อกัน ไม่ใช่ปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จครบถ้วน หรือหวังผลได้ตามที่ต้องการนะครับ และทั้งหมดนี้ก็คือเทคนิคที่ผมได้รับทราบมาจากการเดินทางในครั้งนี้ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนเพื่อนสมาชิก Aro4u ทุกท่าน เพื่อเป็นความรู้ และเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้ต่อไป
เอาล่ะครับสำหรับวันนี้ผมขอปิดท้ายด้วยภาพบรรยากาศโดยรวมของบ่อดินภายในฟาร์ม (ขออภัยด้วยนะครับ เพราะเป็นช่วงบ่าย ปลากำลังพักผ่อนที่พื้นบ่อ เดินดูปลาแล้วไม่เห็นเลย เลยไม่รู้จะถ่ายปลาตัวไหน ? สายพันธุ์อะไรมาให้ชมกัน) และภาพถ่ายรวมกับ คุณ Larry และ คุณ Law ผู้บริหาร และเจ้าของฟาร์ม รวมคุณต้น Lucky Arowana ด้วยนะครับ วันนี้พอเท่านี้ก่อน เขียนมายาวพอสมควรเลย แล้วพบกันใหม่ในวันพรุ่งนี้นะครับ
– ภาพแรก : Nanconnection, คุณ Larry และ คุณ Law
– ภาพที่สอง : คุณ Larry, คุณต้น Lucky Arowana และคุณ Law