http://www.aro4u.com/articles-detail/573
ต่อจากตอนที่แล้วนะครับ
18. ผมจำได้ว่าวันแรกที่เดินทางไปถึงฟาร์ม Kin Star Aqua World โดยรับภารกิจเป็นที่ปรึกษาคุณต้น Lucky Arowana ในการคัดเลือกปลา วันนั้นกว่าจะเสร็จงานก็ปาเข้าไปประมาณ 2 ทุ่มกว่าเกือบ 3 ทุ่ม (เริ่มเลือกตอน 4 โมงครึ่ง) ดังนั้นจึงหมดแรงที่จะกระทำการใดๆ ต่อ เสร็จจากเลือกปลาแล้ว Mrs. Tan ก็พาเราไปทานข้าวมื้อค่ำ
=> อิ่มท้องแล้ว ก่อนเข้าโรงแรม คุณต้นเกิดอารมณ์เปลี่ยวอยากจะนวด ผมห้ามไว้ (ทั้งที่ใจก็สนอยู่เหมือนกัน) แล้วก็เจรจาตกลงกันที่ครึ่งทางด้วยการเข้าร้านนวดฝ่าเท้า เข้าไปคนละ 1 ชั่วโมง ออกมาสบาย โล่งขาเลย (ค่าบริการที่นั่นคือชั่วโมงละ 35 RM หรือ 350 บาทไทยครับ ถือว่าแพงเอาเรื่องอยู่) จากนั้นก็เดินเข้าโรงแรม ต่างคนต่างอาบน้ำ และเข้านอน พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าเข้าไปเก็บภาพส่วนเพิ่มที่ฟาร์มครับ
*** ภาพที่แนบมาเป็นบรรยากาศภายในห้องของโรงแรม ที่ Mrs. Tan กล่าวว่าเป็นโรงแรมขนาด 4 ดาวของที่นี่ โดยรวมถือว่าดีครับ ผมกับคุณต้นต่างก็ Happy กันทั้งคู่ (แต่ตอนกลางคืน ต่างคนต่างนอนคลุมโปงเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง)
19. เช้าวันถัดมา ผมตื่นก่อนคุณต้นเลยอาบน้ำแต่งตัวก่อน ในระหว่างที่รอคุณต้นประทินโฉม ผมก็หยิบกล้องตัวเก่งแล้วเดินออกไปด้านนอกเพื่อเก็บภาพสภาพแวดล้อมรอบๆ โรงแรม โซนที่ผมอยู่ เมืองที่ผมไปเรียกว่า Melaka ถือเป็นต่างจังหวัดของที่มาเลเซีย ดังนั้นบรรยากาศรอบเมืองจึงดูเรียบง่าย มีบ้านหลังเล็กๆ แล้วก็ป่าไม้รอบเมือง แม้จะไม่เกี่ยวกับปลา แต่ก็ขอเก็บภาพมาฝากซักชุดนะครับ
20. หลังจากทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว Mrs. Tan ก็ขับรถมารับเราไปยังฟาร์มอีกครั้ง วันนี้จุดมุ่งหมายของผมก็คือการเก็บภาพบรรยากาศโดยรวมของฟาร์ม และเก็บภาพปลาสวยของ Kin Star Aqua World แบบเรียงตัว (เพื่อให้เพื่อนสมาชิกได้ชมกันอย่างจุใจ) เอาล่ะครับ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มต้นกันที่ฟาร์มปลากันดีกว่า
จากข้อมูลที่ผมได้มา ทราบว่าฟาร์ม Kin Star Aqua World นี้ มี 2 ฟาร์ม ฟาร์มหนึ่งเป็นฟาร์มเก่า (Original Breeding Farm) ก็คือฟาร์มตามภาพประกอบที่แนบมานี้ ซึ่งเปิดมากว่า 5 ปีแล้ว โดยฟาร์มนี้มีบ่อเพาะพันธุ์ปลาทั้งหมด 16 บ่อ (ทุกบ่อเป็นบ่อดิน) แบ่งออกเป็น
– Malaysian Golden Xback Ponds 4 บ่อ
– Super Red Ponds 4 บ่อ
– Hiback Golden Ponds 4 บ่อ
– RTG Ponds 4 บ่อครับ
ขนาดบ่อผมไม่ทราบแน่ชัดเพราะวันที่ไป คุณ Tan Heng ผู้เป็นเจ้าของฟาร์มไม่อยู่ (เดินทางไปพบลูกค้าที่ประเทศจีน) ผู้ที่ดูแลต้อนรับคือ Mrs. Tan และ คุณ Tan Wee Ji บุตรชายคนโตที่เป็นว่าที่เจ้าของฟาร์ม “รุ่นที่ 2” ของฟาร์มนี้
ในภาพแรก ด้านซ้ายตรงทางเข้าก่อนเข้าฟาร์มจะเห็นว่ามีถังสีฟ้าขนาดใหญ่ วางเรียงรายกันอยู่หลายใบ จากการสอบถามคุณ Tan Wee Ji ก็ทราบว่า เป็นถัง Stock ปลาใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ ผมเองได้มีโอกาสเปิดดูหลายถัง ก็มีทั้งถังที่ว่างเปล่า และถังที่มีปลา แต่เห็นเฉพาหลังปลานะครับเพราะน้ำในถังขุ่นมาก (มีถังกรองอยู่ด้านบน แต่ไม่ได้เปิดระบบไว้ อาศัยการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำ)
21. ด้านบนของแต่ละบ่อจะมีเสาปูนขึงตาข่ายไว้ ทราบมั้ยครับว่าใช้ทำอะไรเอ่ย ? … พอ ไม่ถามดีกว่า เดี๋ยวเขียนไม่จบ อิอิ เสาขึงตาข่ายนี้มีไว้เพื่อกันนกที่เข้ามาทำร้ายตัวปลาในบ่อ (รวมถึงลูกปลาที่ว่ายอยู่ผิวน้ำด้วย – ซึ่งก็มีโอกาสครับ) ที่ผิวบ่อแต่ละบ่อก็มีพันธุ์ไม้น้ำปกคลุมอยู่เช่นกัน จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ความสงบ และร่มรื่นกับปลาในบ่อ => สรุป ผมได้ถ่ายแต่บ่ออย่างเดียวเลย ไม่ได้ถ่ายตัวปลามาฝาก เพราะตอนเช้าๆ เขาว่ายหนีลงไปอยู่ด้านล่างหมด
Note : ในขณะที่เดินชมฟาร์มอยู่นั้น มีอยู่บ่อหนึ่งผมเป็นทองมาเลย์ Blue Base ขนาดประมาณ 20 นิ้ว ว่ายขึ้นมาริมบ่อแล้วนอนอาบแดดอยู่ เรียนตามตรงว่าเป็นปลาที่สวยมากครับ แม้จะไม่ได้เป็น Golden Head แต่สี Blue Base ของเขาก็สวยมากๆ แต่พอผมคว้ากล้องเตรียมถ่าย เขาก็ว่ายหนีไปเสียแล้ว เสียดายมากๆ … โธ่ เดินทางมาถึงที่นี่แล้ว ไม่ให้โอกาสกันเลย
22. “แท่งดำ” ที่เพื่อนสมาชิกเห็นอยู่นี้ ข้อมูลจากคุณ Tan Wee Ji กล่าวเป็นเครื่อง Infared สำหรับตรวจจับการเข้ามาเยือนของบุคคลภายนอกครับ โดยอุปกรณ์ตัวนี้จะเชื่อมต่อกับเครื่อง Alarm ภายฟาร์ม หากมีบุคคลภายนอกเข้ามาปุ๊บ Alarm จะส่งเสียงดังทันที แน่นอนครับ เมื่อมีเสียง Alarm ดังขึ้น ทีมพนักงานภายในฟาร์ม (พร้อมเครื่องทุ่นแรงครบมือ) ก็จะเข้าทำการตรวจสอบความผิดปกติในทันที
Note : เครื่องดังกล่าวนี้จะต่อเชื่อมถึงกันทุกบ่อ และจะเปิดเฉพาะเวลาช่วงค่ำ เวลาปกติที่สว่าง เช้า กลางวัน บ่าย จะมีคนของที่ฟาร์มเดินตรวจทั่วบริเวณเป็นประจำอยู่แล้วครับ
23. สำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำของฟาร์มนี้ ก็ไม่ต่างจากฟาร์ม Bukit Merah Arowana ที่ผมได้มีโอกาสไปเยือนก่อนหน้า นั่นก็คือ “มีสภาพแวดล้อมเป็นมิตร” ด้วยกันทั้งคู่ครับ => สามารถใช้น้ำได้จากแม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ (โดยไม่มีค่าใช้จ่าย) จะต่างก็ตรงที่ทาง Bukit Merah ใช้ ปั๊มส่งน้ำเข้าสู่บ่อต่อบ่อ และมี Timer ในการควบคุมเวลา แต่ของ Kin Star ยังต้องใช้ปั๊มดึงน้ำมาไว้ที่บ่อพักก่อน (Manual)
วิธีการเปลี่ยนน้ำของฟาร์ม Kin Star นี่ก็คือ ทุกๆ บ่อจะมี “ท่อน้ำล้น” ขนาด 6 นิ้วอยู่เหนือน้ำ หากต้องการจะเปลี่ยนน้ำ คนงานในฟาร์มก็จะกดท่อน้ำล้นนี่ลงไปในบ่อตามระดับที่ต้องการเปลี่ยน (ครึ่งฟุต / 1 ฟุต ตามต้องการ) น้ำในบ่อก็จะค่อยๆ ถูกสูบออกไปทิ้งด้านนอกของฟาร์ม (ฟาร์มปลามังกรส่วนใหญ่จะอยู่บนเขา ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการทิ้งน้ำครับ)
24. อีกฝั่งหนึ่งของบ่อปลาแต่ละบ่อก็จะมี “อุโมงค์น้ำ” อยู่ ซึ่งอุโมงค์นี่ละครับที่ไว้ใช้สำหรับเติมน้ำ เอ… เติมยังไง ไปชมกัน !!
– ภาพย่อยแรก : อุโมงค์เปล่าที่มีน้ำอยู่เท่ากับระดับน้ำในบ่อ
– ภาพย่อยที่ 2 : ท่อที่เห็นนี่ก็คือ “ท่อน้ำล้น” กันการเติมน้ำที่มากเกินไป (ท่อน้ำล้นของบ่อมีทั้ง ต้นบ่อ และท้ายบ่อ เพื่อความปลอดภัยครับ) ทางฟาร์มบอกว่า ลำพังการเติมน้ำจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำตามปกติ ไม่กลัวเรื่องน้ำล้นเพราะควบคุมได้ แต่ที่ควบคุมไม่ได้ก็คือตอนหน้าฝน พื้นที่นี้ฝนตกหนักมาก และตกนานทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้ามามาก จึงต้องมีท่อน้ำล้นเผื่อไว้ 2 ชุดเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
– ภาพย่อยที่ 3 : เป็นการเติมน้ำเข้าบ่อ โดยปั๊มน้ำมาจากบ่อพักน้ำตามที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ
24. สำหรับฟาร์มปลาส่วนบ่อดิน ผมขอปิดท้ายกันด้วยภาพนี้นะครับ => ฝายควบคุมการใช้น้ำระหว่าง 2 ฟาร์ม (ฟาร์มบ่อดิน และ ฟาร์มบ่อปูน)
แล้วพบกันอีกครั้งวันพฤหัสนะครับ พรุ่งนี้ผมมีคิวงานใหญ่ เกรงว่าจะเขียนไม่ทัน ยังไงก็ขอบคุณเพื่อนสมาชิกทุกท่านที่ติดตามชมอยู่