เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา NC. ได้รับสายโทรศัทพ์จากพี่ซ้ง (Naizhong) ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยสบายใจว่า
“สวัสดีครับแนน พี่ขอปรึกษาหน่อยครับ พอดีพี่สงสัยว่าเจ้าสุริยัน ปลาแดงใหญ่ของพี่ดูเหมือนจะโดนหนอนสมอเล่นงานครับ”
“พี่ซ้งทราบได้อย่างไรว่าเป็นหนอนสมอ ?”
“ที่หางมันเป็นเม็ดบวมขาวๆ ครับ”
“บางทีนั่นอาจจะเป็นรอยเดาะ หรือรอยหัก ไม่ใช่หนอนสมอก็ได้ครับ ถ้าเป็นหนอนสมอจะมี “ตัวหนอน” โผล่ออกมาที่จุดขาวนั้น ลักษณะจะเป็นเส้นยาวประมาณ 0.5 – 1 ซม. ส่วนปลายแยกออกเป็น 2 แฉกครับ (แตกปลายเหมือนลิ้นงู) พี่ซ้งลองสังเกตดูว่าใช่ไหม ?”
“อืม… แนนครับ พี่ว่าพี่ดูแล้วเป็นอย่างที่แนนบอกไว้ คือมีตัวด้วย แล้วก็ปลายเป็น 2 แฉกด้วย สงสัยพี่จะโดนหนอนสมอเล่นงานแล้วจริงๆ ยังดีที่เห็นชัดๆ แค่จุดเดียว นี่ยังไม่แน่ใจเลยว่าปลานกแก้วพี่จะโดนด้วยรึเปล่า เพราะเห็นมีตุ่มๆ คล้ายๆ กันแต่ไม่เห็นตัวชัดเจน แล้วถ้าเป็นแบบนั้นพี่ควรจะทำยังไงดี ?”
“พี่ซ้งให้เขากินอาหารเป็นรึเปล่าครับ เช่น ปลาเหยื่อ, กุ้งฝอย และอื่นๆ ที่ไม่ใช่แมลง ?”
“ก็มีให้กินกุ้งเนื้อ กุ้งชิ้นแช่แข็งอย่างเดียวเลย เหมือนแนนล่ะ”
“ครับ อาหารแช่แข็งนั่นก็มีโอกาสเจอหนอนสมอได้เหมือนกัน ผมก็เคยเจอครับ สำหรับการรักษาถ้าเป็นปลาเล็กผมจะเลือกวิธีการวางยาสลบแล้วดึงออก แต่กรณีของพี่ซ้งนั้นเป็นปลาใหญ่ จะใช้วิธีวางยาถอนไม่ได้ครับ เพราะอาจจะมีไข่หรือตัวอื่นฝังตัวอยู่ที่อื่นอีก ซึ่งถ้าเราถอนโคนออกไม่หมด แน่นอนว่ามีมาอีกแน่ แล้วก็ต้องวางยาถอนแบบนี้เรื่อยไปหลายครั้ง ปลาจะบอบช้ำได้”
“ใช้ฟอร์มาลีนดีไหม ? ถ้าใช้ยาพวกนี้จะได้จัดการแบบถอนรากถอนโคนเลย”
“ฟอร์มาลีนค่อนข้างแรงมากครับ จริงๆ แล้วผมอยากแนะนำให้ใช้ Dimilin ก่อน เพราะตรงตัวมากกว่า แต่ผมเกรงว่า Dimilin จะมีผลโดยตรงกับ Tank Mate เพราะใส่ Dimilin แล้วปริมาณออกซิเจนจะต่ำลง ทำให้ปลาพวกที่ขาดอากาศไม่ได้นานจะไปก่อนเพื่อน ไม่ว่าจะปลาหงส์ ปลาหมูอินโด หรือปลานกแก้ว… ครั้งหนึ่ง ผมเคยเสียปลานกแก้วขนาดใหญ่ไป 5 ตัว จากการใช้ Dimilin แค่วันเดียว เสียใจจนวันนี้ครับ”
“งั๊นพี่ควรทำยังไงดี ฟอร์มมาลีนก็อันตราย Dimilin ก็ยังไม่ 100% วางยาถอนก็ยังมีความเสี่ยงต่อการไม่จบอยู่”
“ขอเวลาผมปรึกษาคุณหมอสัตว์แพทย์สัตว์น้ำหน่อยได้มั้ยครับ ? ได้ข้อสรุปแล้วผมจะรีบต่อพี่ซ้งกลับ แต่ในระหว่างนี้ ขอให้พี่ซ้งช่วยดูอาการแล้ว Update ให้ทราบอย่างต่อเนื่องด้วยนะครับ”
“OK ครับแนน พี่ฝากด้วยนะครับ”
จากนั้น NC. ก็โทรปรึกษาคุณหมอสัตว์แพทย์สัตว์น้ำที่ให้ความเชื่อถือ เพื่อขอคำแนะนำและแนวทางในการรักษา
“สวัสดีครับคุณหมอ ผมมีเรื่องปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรักษาหนอนสมอครับ พอดีมีปลาของเพื่อนผมท่านหนึ่งติดหนอนสมออยู่ เป็นปลาแดงใหญ่ขนาดประมาณ 22 นิ้วครับ ข้อมูลจากเจ้าของปลาแจ้งให้ทราบว่าเท่าที่เห็นตอนนี้คือเป็นแผลฝังตัวอยู่ที่ใบหางครับ ผมไม่ต้องการเสี่ยงวางยาสลบเพื่อถอนตัวหนอนออก เพราะเกรงว่าจะมีตัวอ่อน หรือไข่ฝังตัวอยู่ ถ้ามีก็ต้องวางถอน ๆ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ดีแน่ครับ ในกรณีนี้ผมใช้ฟอร์มาลีนในการรักษาได้ไหม ?”
“ฟอร์มาลีนเพียวๆ ค่อนข้างอันตราย ว่าแต่ทำไมคุณแนนไม่ใช้ Dimilin ล่ะ ? เพราะถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นหนอนสมอ เราใช้ Dimilin จะตรงตัวกว่า ฟอร์มาลีนรักษาได้ก็จริงแต่จะครอบจักรวาลกว่านะ ตรงตัวใช้ Dimilin เลยหมอแนะนำ”
“ผมเคยใช้ Dimilin แล้วปลาตายครับ แต่ที่ตายไม่ใช่ปลามังกรนะครับ แต่เป็นปลานกแก้ว คือใช้ด้วยกันแต่ปลามังกรไม่ตาย… นกแก้วตายหมด สภาพการตายคือสีซีดหมดตัว และอ้าปากค้าง คล้ายไม่มีอากาศหายใจ ผมเลยไม่อยากใช้อีก”
“คุณแนนใช้ Dimilin แบบไหนล่ะปลาถึงได้ตาย ปกติแล้ว Dimilin เป็นยาที่ปลอดภัยมากนะ หมอใช้ไม่เห็นมีตายเลย แต่กลับหายดีทุกตัว”
“ผมใช้ชนิดผงครับคุณหมอ ใช้ชนิดผงแล้วมาผสมน้ำก่อนใช้กับปลา”
“อืม ซื้อจากร้านขายปลาคาร์พใช่มั้ย ? เป็นไปได้เหมือนกันว่าสูตรผงจะมีส่วนผสมของยาฆ่าแมลง ซึ่งจะครอบคลุมการกำจัดปรสิตทั้งหมดที่ไม่ใช่หนอนสมอกับเห็บ ส่วนนี้อาจจะอันตรายกับปลาชนิดอื่น มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จำทำให้ปลาที่ไม่ใช่ปลาคารพ์ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะสูตรนี้เขาทำสำหรับปลาคาร์พ”
“แล้วคุณหมอใช้สูตรไหนครับที่ว่าปลอดภัย”
“หมอใช้สูตรน้ำ เคยใช้ทั้งกับปลาอโรวาน่า และปลาทองแล้ว ไม่มีปัญหา ขนาดปลาทองที่ว่าทนต่อออกซิเจนต่ำไม่ได้ ก็ยังหายดีเป็นปกติ อีกอย่างสูตรน้ำนี้ใช้รักษาปรสิตชนิดหนอนสมอ และเห็บเป็นหลัก ดังนั้นจึงตรงตัวและมีความเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนตัวหมอก็อยากแนะนำให้ใช้ตัวนี้มากกว่าวิธีอื่น”
“ขอบคุณมากครับคุณหมอ”
จากนั้น NC. ก็สอบถามคุณหมอถึงสถานที่ซื้อ Dimilin ชนิดน้ำแล้วก็เตรียมการหาซื้อ พร้อมกับนัดหมายวันและเวลากับพี่ซ้งเพื่อเข้าดูอาการปลา พร้อมกับใช้ยาในการรักษา… ถึงวันนัดหมาย พี่ซ้งมารับ NC. แต่เช้า เราเข้าสวนด้วยกันก่อนเพราะคุณหมอแจ้งว่าที่สวนก็มีขาย เมื่อได้ยาแล้วก็เดินทางต่อไปยังสถานที่หมายปลายทางย่านรังสิต พอไปถึง NC. เข้าไปสอบสภาพปลาก่อน สภาพโดยรวมของตู้ตอนนี้น้ำค่อนข้างขุ่นไม่ใสเหมือนปกติ สอบถามพี่ซ้งก็ได้ข้อมูลว่าขุ่นมาได้ 2 วันแล้ว น่าจะเป็นมาจากการเปิดหลอด 12000k ต่อเนื่องนานเกินไป พอเห็นว่าน้ำเริ่มขุ่นตอนนี้เลยปิดก่อน
NC. ขอให้พี่ซ้งเปิดไฟก่อนชั่วคราวเพื่อดูสภาพปลา จะได้เห็นอย่างละเอียดชัดเจนว่ามีหนอนเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดบ้าง และจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วพบว่า ณ เวลานี้มีหนอนเกาะอยู่ที่ใบหางตัวเดียว ตำแหน่งเดียว (ตัวปลามีอาการอ่อนแอลงโดยสังเกตจากการคลายเมือก สีถอด และว่ายน้ำไม่เข้าฟอร์ม) จากนั้น NC. สังเกตต่อที่ปลานกแก้ว ก็พบว่าคล้ายจะมีอีก 1 จุดเช่นกัน ก่อนปิดท้ายด้วยเจ้าอินซีเน็ท แต่ดูแล้วอินซีเน็ทไม่มีปัญหา ยังไม่ได้โดนเจ้าหนอนร้ายเล่นงานใดๆ เมื่อมั่นใจว่าเป็นหนอสมออยู่ตรงหน้าดังนั้นเราจึงเตรียมตัวใช้ยา Dimilin ที่ได้เตรียมมาตามคำแนะของคุณหมอ
ข้อมูลของ “หนอนสมอ” ที่เพื่อนสมาชิกควรทราบ
หนอนสมอเป็นพยาธิที่พบทั่วไปในปลาน้ำจืด รวมถึงปลาอโรวาน่าด้วยเช่นกัน โดยตัวหนอนที่เกาะติดกับตัวปลาส่วนใหญ่จะเป็นตัวเมีย และตำแหนงทั่วไปที่ตัวหนอนเลือกยึดเกาะคือครีบส่วนต่างๆ ทั้งครีบก้น ครีบหลัง ใบหาง นานๆ จะพบเห็นว่าขึ้นตามเกล็ดลำตัว หรือถึงส่วนหัว หนอนสมอเมื่อโตเต็มที่จะมีลักษณะเป็นเส้น ส่วนหัวแยกปลายออกเหมือนสมอเรือ (แต่ NC. เรียกง่ายๆ ว่า “ลิ้นงู” คือ แตกปลาย) โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 0.5 – 1 ซม.
หนอนสมอเป็นพยาธิที่ทำลายอวัยวะของปลาโดยการเกาะตัวฝังยึด แล้วแทงรากลงไปใต้ผิวหนังลึกถึงส่วนของกล้ามเนื้อ แล้วดูดกินเนื้อเยื่อในตำแหน่งนั้นเป็นผลทำให้เกิดรอยแผลขนาดใหญ่ได้ (สังเกตได้จากอาการบวมช้ำ เป็นจำเลือด ตามที่กล่าวไว้) ลำพังการมีหนอนสมอเกาะติดเป็นจำนวนน้อย อาจไม่มีผลกระทบต่อตัวปลามากนัก อาจมีอาการคันอันเป็นผลทำให้ว่ายน้ำเสียฟอร์ม กินน้อยลง ซึม หรือจอดนิ่งที่พื้นตู้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจนหนอนสมอมีการขยายพันธุ์ เมื่อปลาอโรว่าน่าถูกหนอนสมอเกาะยึดมากขึ้นจะส่งผลทำให้ปลาหยุดกินและผอมเสียรูป เสียความสมบูรณ์ อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ (ในปลาเล็ก หากโดยหนอนสมอเกาะ บาดแผลที่เกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายให้กับตัวปลาถึงขึ้นเสียชีวิตได้เช่นกัน)
การใช้ยาจะมีวิธีใช้อย่างไร ? ต้องผสมเท่าไหร่ ? ใช้แล้วมีผลกับตัวปลาไหม ? น้ำในตู้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ ? แล้วยาชนิดนี้ไปทำปฏิกิริยาอะไรกับปรสิต เตรียมพบคำตอบได้ในตอนหน้าครับ ไม่นานเกินรอ วันพุธเจอกัน