ขอต่อตอนที่ 2 นะครับ : )
เมื่อมาถึงที่ฟาร์มแล้ว คุณ William Goh เจ้าของก็ออกมาต้อนรับด้วยตัวเอง แน่นอนครับ ด้วยความที่เรารู้จักมาก่อน ดังนั้นเรื่องการแนะนำตัว จึงเป็นหน้าที่ของผม เมื่อได้รู้จักกันแล้ว คุณ William ก็เชิญผมกับ Aro King เข้าไปในห้อง Show Room ซึ่งก็มีปลาให้เลือกชมเต็มไปหมด ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าคงประมาณ 150 ตัวครับ แน่นอนว่า ครานั้น ความตั้งใจสั่งล๊อทแรกของ Aro King มีสูงถึง 50 ตัว… ต้องการ 50 มีให้เลือก 150 ถือว่า OK เลยทีเดียว ไม่น้อย ไม่เป็นการเอาเปรียบหรือบังคับซื้อมากเกินไป
1. ผู้บริหารใหญ่แห่ง Aro King กำลังคัดเลือกปลาอย่างตั้งอกตั้งใจ
ตามที่ผมเคยบอกเล่าให้เพื่อนผู้อ่านทราบแล้วว่า ปลาในห้อง Showroom ของ DFI นี้จะมีอยู่ 3 อย่าง นั่นก็คือ Emerald Blue Cross Back (ถือเป็นทองมาเลย์เกรดธรรมดาของที่นี่), Golden Head (ทองมาเลย์ระดับสูง หรือที่เรียกว่า "เกรดพิเศษ) และ Rose Gold (Tong Yan หรือ ลูกผสมระหว่าง ทองมาเลย์ x แดง) แต่ในการมาเยือนรอบนี้ เนื่องจากมาอย่างเป็นทางการ และบอกเจตจำนงชัดเจนว่ามาเพื่อต้องการดู Emerald Blue และ Golden Head เท่านั้น ดังนั้นสายพันธุ์ Rose Gold จึงถูกเก็บไป เหลือแต่เพียงเป้าหมายที่ต้องการเท่านั้น
2. ภาพของ Emerald Blue ถ่ายด้วยการใช้ Flash ครับ
คุณ William แบ่งปลาออกเป็น 5-6 ตู้ แต่ละตู้มีปลาราว 30 ตัว (ในจำนวนนี้มีตู้เปล่าแยกต่างหากให้ด้วย) เมื่อดูตัวปลาคร่าวๆ แล้วว่าผ่าน ประกอบกับพูดคุยทวนกันเรื่องราคาที่ตกลงไว้ เรียบร้อยแล้ว 2 ผู้บริหารของร้าน Aro King ก็ไม่รอช้า ตั้งหน้าตั้งตาเลือกคัดเลือกปลาอย่างตั้งใจ แน่นอนครับ ส่วนนี้ผมไม่เกี่ยวข้อง ในระหว่างนั้นก็เก็บภาพไป ยืนดูไป ฟังคำวิจารณ์ของสองพ่อลูกไป รวมถึงคำอธิบายของคุณ William Goh ด้วย ก็ได้ความรู้ใหม่ๆ มาพอสมควรอยู่
3-5. ภาพของ Emeral Blue เช่นกัน แต่ถ่ายด้วย Mode Manual ปกติ โดยไม่ใช่ Flash
เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าการคัดเลือกปลานั้น แต่ละคนก็มีสไตล์เป็นของตัวเอง บางทีผมบอกว่าสวย ผู้เลี้ยงอีกท่านอาจจะบอกว่าไม่สวย หรือเขาว่าสวย แต่ผมมองว่าไม่สวยก็ได้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ทาง Aro King เขาก็มีบรรทัดฐานในการคัดเลือกปลามาจำหน่ายอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอน ไม่ต้องแนะนำ ปล่อยให้เขาทำกันเอง และใช้สอยเวลาอย่างเต็มที่ ผมก็ไม่ยุ่ง คุณ William ก็ไม่ยุ่ง… ได้แต่จับต้อนปลาที่ Aro King คัดเลือกแล้วแยกออกมาเท่านั้น… ตัวไหนสวย => ตักใส่ถุง เมื่อได้จำนวน 5-10 ตัว จึงค่อยมัดถุงแล้วเอาไปปรับสภาพน้ำ ก่อนปล่อยลงในตู้เปล่า ที่เป็นอันเข้าตรงกันว่า "ตู้คัดแล้ว"
6. วิธีการนับจำนวนปลาคือ วางถุงแบนลงกับพื้นแบบนี้ครับ (น่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน) แบบนี้จะทำให้นับได้ไม่พลาด แถมได้เห็นการ "ข้ามหลัง" ของปลาแต่ละตัวด้วยนะครับ
มาว่ากันที่ตัวปลาบ้างดีกว่า ? ปลาน้อยที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้เป็น Emerald Blue Cross Back ซึ่งถือเป็นทองมาเลย์ระดับพื้นฐานของฟาร์มนี้ แต่เมื่อ Aro King ได้เห็นแล้ว เขาก็มากระซิบข้างๆ หูผมว่า "แนน ปลาที่นี่ใช้ได้ ถ้าเทียบราคา และคุณภาพแล้ว ดีกว่าที่เฮียเคยเอามา" ผมได้ยินมาแบบนี้ ก็เล่าต่อแบบนี้ ที่ว่าดีนั้นตรงไหน ? ไปชมกันครับ
เรื่องของหุ่นทรง… ปลาล๊อทนี้ถือว่าหุ่นทรงดีเลยทีเดียว หลายตัวมีรูปหน้าเป็น Spoon Head หลายตัวหุ่นป้อมสั้น และหลายตัวครีบเครื่องใหญ่
เรื่องของสีสัน… แน่นอน ปลายังเล็ก จึงยังไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรกับเรื่องสีสันได้ ไปเน้นเรื่อง "การเปิด" ของเกล็ดดีกว่า จากภาพจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วเกล็ดจะเปิดดีมาก เปิดกันแบบระเบิดเถิดเทิง เห็นเนื้อสีขาวแจ่มไปถึงแถวหลัง แม้จะเป็นเกล็ดด้าน ไม่เงางาม แต่ก็เรียกได้ว่าอนาคตไม่ธรรมดา ความเงางามของเกล็ดด้านข้างลำตัว ใช้ได้ครับ (ที่เห็นขาวโพลนแบบนี้ มั่นใจว่าปลาน้อยกลุ่มนี้คงจะถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมขาวมาตลอดชีวิต)
7. Zoom ให้ดูแบบชัดๆ ครับ
เรื่องของความสมบูรณ์… ข้อนี้ยอมรับว่าให้ได้เต็ม 10 ผมไม่ทราบว่าคุณ William มีวิธีการเลี้ยงปลาน้อยเหล่านี้ยังไง แต่กว่า 90% ปากไม่ยื่น ตาไม่ตก (ขนาดปลาประมาณ 6 นิ้ว ถือว่าไม่เล็กมาก และก็ไม่ใหญ่เกินไป) สภาพเกล็ด ครีบเครื่องอะไรก็สมบูรณ์ ทั้งที่เลี้ยงรวมกันมาอย่างที่เห็น ก็นับว่าแปลกดีเหมือนกันครับ : )
ปลาส่วนใหญ่หน้าตาใช้ได้ คุณภาพสมราคา และคุ้มกับเวลาที่เดินทางมา ดังนั้นทาง Aro King จึงสนุกสนานใหญ่กับการคัดเลือกปลากลับสยามประเทศ แต่เรื่องราวจะเป็นยังไง ? จบลงแบบไหน ? แล้วจะมีอะไรต่อไปนั้น ในครั้งต่อไปผมมีคำตอบนะครับ สำหรับวันนี้พอแค่นี้ก่อน แล้วพบกับตอนหน้า (ซึ่งเป็นตอนจบ) ไม่นานเกินรอ เร็วๆ นี้เจอกันครับ
8. ตัวไหนเอา ตัวไหนไม่เอา บอกให้ชัดๆ เดี๋ยวเจ้าของฟาร์มจัดให้ : D
Nanconnection