Qian Hu Fish Farm
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วผมว่าเคยมาที่สิงคโปร์ 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งก็ได้มาเที่ยวที่ Qian Hu แห่งนี้ โดยครั้งแรกเป็นการจัด Group Tour ในตอนที่มาเที่ยวงาน Aquarama ปี 2003 และครั้งที่ 2 ก็ตอนที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทยเป็นกรรมการในงานประกวดปลามังกร Qian Hu Arowana Competition 2004 ปีที่แล้ว… แต่ทั้ง 2 ครั้งผมก็ได้มีโอกาสดู Show Room แค่เพียงด้านนอกเท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะสัมผัสในส่วนของฟาร์ม แต่วันนี้ผมและเพื่อนๆ มาในฐานะของแขกรับเชิญดังนั้นจึงได้มีโอกาสเห็น Stock ปลาซึ่งเป็นส่วนพิเศษลับเฉพาะ
ในการพาชมฟาร์มที่ผ่านมา Vincent จะเป็นคนพาชมเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะว่าเขามีความสนิทสนมกับทุกๆ ฟาร์ม แต่สำหรับที่ Qian Hu แห่งนี้ Vil เองจะมีความคุ้นเคยมากกว่าดังนั้นในการพาชมฟาร์มและให้ข้อมูล Vil เป็นจะเป็นคนจัดการครับ หลังจากที่จอดรถเสร็จแล้ว Vil ก็พาพวกเราเดินเข้าไปด้านหลังซึ่งเป็นส่วนของ Stock ด้านหน้าทางเข้ามีป้ายเขียนไว้ตัวเบ่อเริ่มว่า NO ENTRY ซึ่งแปลว่า “ห้ามเข้า”… แต่เราก็เข้าไป (แถมยังเข้าไปเป็นทีมอีก) เดินเข้าไปเรื่องก็เห็นโกดังใหญ่อยู่ห้องหนึ่ง ด้านหน้าทางเขียนก็มีป้ายเขียนไว้ชัดเจนอีกว่า Authorized Personnel Only หรือ “เข้าได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น”… แต่เราก็เข้าไป เมื่อเข้าไปแล้วก็เห็น “อาชุน” ผู้บริหารใหญ่นั่งอยู่ แต่ว่าไม่ได้คนเดียวนะครับมีแขกมาเยือนจากญี่ปุ่นมานั่งคุยด้วย 2 คน และหนึ่งในนั้นก็คือ กรรมการในงานประกวดปลามังกรเมื่อปีที่แล้วนั่นเอง สงสัยเพราะผมคงจะหน้าตาโหลหน่อย ทั้งคู่จึงจำผมได้และเข้ามาทักทายด้วยเป็นอย่างดี สร้างความปลื้มปิติให้ผมเป็นอย่างมากครับ
1. NO ENTRY ! แปลว่า… “ห้ามเข้า”
โกดังแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บ Stock ของปลาโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ฝั่งแรกที่ผมจะพาไปชมก็คือฝั่งขวานะครับ โดยฝั่งนี้เป็นส่วนของ “สินค้าขายในประเทศ” ทั้งขายโดย Qian Hu เอง (ที่ Show Room ด้านหน้า) หรือขายส่งให้กับร้านปลาต่างๆ ในสิงคโปร์ ภายในส่วนนี้มีทั้งตู้ทั้งถังเต็มไปหมด ทองอินโดและปลาแดงจะเลี้ยงในตู้ครับ ส่วนทองมาเลย์และ Tong Yan จะเลี้ยงไว้ในถัง (เห็นเป็นสีน้ำเงินภายนอก แต่ภายในเป็นสีขาวครับ) แม้เนื้อที่ในโกดังจะดูไม่ใหญ่โตนักแต่ก็มีปลาให้ชมนับร้อยๆ ตัวนะครับ อย่างตู้ที่เห็นนั้นใบหนึ่งมีขนาดประมาณ 36” – 48” แต่มีปลาอยู่ด้วยกันราว 30-40 ตัว (ขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว) ระบบกรองของแต่ละตู้ที่นี่ใช้ “กรองข้าง” ครับ ซึ่งวัสดุกรองก็แสนธรรมดานั่นคือ ใยแก้ว และ Bio Ball ที่เห็นว่าน้ำในตู้เป็นสีน้ำตาลเข้มนั่นก็เพราะว่าเขา “หมักน้ำใบหูกวาง” ครับ (ที่นี่เรียกว่า Ketapang Leaf) แล้วก็ใช้ร่วมกันหมดทุกสายพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะกับปลาแดงเหมือนอย่างที่บ้านเรานิยมใช้กัน (ใช้เกือบทุกตู้ ยกเว้นในส่วนของถังที่ข้างในจะเป็นน้ำใสสะอาด… เข้าใจว่าเพื่อให้ง่ายต่อการดูปลาของลูกค้า)
2. Stock ปลาของ Qian Hu ในส่วนที่ขายในประเทศ
3. ส่วนด้านนี้เป็น Stock ปลาสำหรับส่งออกครับ
ฟาร์มาปลาส่วนใหญ่ที่ผมพบเห็นมาไม่ว่าจะในเมืองไทยหรือเมืองนอกมักจะเลี้ยงปลาโดยเติมน้ำไม่เต็มตู้ โดยมากแล้วจะครึ่งตู้หรืออย่างดีเต็มที่เลยก็ 2/3 ของตู้ ที่นี่ก็เช่นกันครับ (ยกเว้นตู้ที่มีกรองข้าง ซึ่งจะเลี้ยงปลาร่วมกันหลาวตัว) ในตู้ที่มีปลาตัวเดียวจะเติมน้ำน้อยมากๆ แค่ 1/3 หรือครึ่งตู้เท่านั้นเอง สอบถามก็ได้ความว่าปลาใน Stock จะเน้นขายส่ง ไม่ได้เน้นความสวยงามเป็นตัวๆ ไปเหมือนใน Show Room ที่สำคัญยังช่วยลดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วยตัวอย่างเช่น การโดดชนของตัวปลา การกระโดดข้ามไปมาระหว่างตู้ และที่สำคัญคือง่ายต่อการเปลี่ยนน้ำและไม่สิ้นเปลืองปริมาณน้ำที่ใช้ด้วย (ตู้แต่ละใบไม่มีฝาตู้ แต่ใช้ “ตระแกรง” แทน เพื่อทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อน ส่วนการให้แสงไฟ Vil บอกว่านี่ที่ให้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีปิด)
เมื่อเห็นว่าผู้มาเยือนจากเมืองไทยเดินดูปลาเริ่มเหนื่อย อาชุนก็เอาเครื่องดื่มมาให้… แต่เป็นน้ำชาแก่ๆ ที่ผมไม่ได้พิศมัยนัก ทว่าอาชุนเองก็ไมได้บังคับจิตใจพวกเราขนาดนั้น เขามีทางเลือกให้อีกทางนั่นคือ Heineken เบียร์เย็นฉ่ำ ตายล่ะวา ~~!! เราเองก็ดื่มเบียร์ไม่เป็นเสียด้วย ครั้งนี้มาทำงานถ้าเผลอไปเมาแอ๋ละแย่เลย ว่าแล้วก็จำใจซดน้ำชาแก่ๆ กันกระหายเป็นเพื่อนอาชุนไป ส่วนเบียร์ที่นำมาเสริฟนั้นเหรอครับ ? นั่นไง พี่บี กับพี่ต๊ะ หิ้วกันคนละกระป๋องสองกระป๋อง ซู้ดเฮือกๆ แล้วแอบหนีไปดูปลาตรงนั้นแล้ว
ที่ห้องติดกัน ส่วนนี้เป็นส่วนของ Stock ปลาที่จะส่งไปต่างประเทศทั้ง จีน ไต้หวัน ไทย (ตรงมาที่ Thai Qian Hu) ญี่ปุ่น และอื่นๆ ตรงนี้ค่อนข้างจะอึดอัดเล็กน้อยเพราะทางเข้าออกมีทางเดียว (เข้าทางออก ออกทางเข้า) แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็จะเห็นตู้วางเรียงรายหลายสิบใบ แต่ละใบมียอดจองแล้วทั้งสิ้น… ตู้นี้ไปเมืองไทย ตู้นี้ไปจีน ตู้นี้ไปญี่ปุ่น ตู้นี้ไปนั่น ตู้นั้นไปนี่ ส่วนส่งออกนี้ผมไม่เห็นมีทองอินโดนะครับ ที่เห็นก็มีแค่ 4 สายพันธุ์คือ มังกรเขียว ทองมาเลย์ (เลี้ยงในตู้ขาว) Tong Yan (เลี้ยงในตู้ขาวเช่นกัน… สำหรับ TY ที่นี่ทำได้เองด้วย และรับจาก SABF ด้วยตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Red Splendor Cross Back ภายใต้ใบรับรองสายพันธุ์ของ Qian Hu เอง) ซึ่งมีให้ดูทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ และปลาแดงอีก 2 เกรดคือ Super Red และ Violet Fusion Super Red (VFSR) โดยปลาตัวอย่างจะแยกฟอร์มเดี่ยวไว้ให้ดู ส่วนปลาที่มียอดจองแล้วจะเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงๆ ละประมาณ 40 ตัวใน 1 ตู้ครับ (ไม่มี Red B กับ RTG ให้เห็นในส่วนนี้ครับ)
4. ปลา Tong Yan ตัวอย่าง ภายใต้ชื่อ Red Splendor Cross Back
5. Stock ปลาก็จะเลี้ยงปลารวมกันเป็นฝูงแบบนี้ในตู้ใบเดียว
6. “มังกรเขียว” ตัวน้อยๆ ฝูงหนึ่งที่กำลังจะส่งมาแถวๆ บ้านเรา
สำหรับปลาแดง VFSR ของที่นี่ ผมถือว่ามีคุณภาพสูงนะครับแม้จะเลี้ยงน้ำหมักใบหูกวางก็ตาม ตัวปลาเห็นได้ว่าเป็นสีแดงเข้ม เนื้อในเป็นสีม่วงชัด ตัดขอบแล้ว ปากแดง ครีบเครื่องแดง หุ่นสวย… เห็นแล้วทรมานใจอย่างจ่ายตังค์จับจองเหลือเกิน (แต่เป็นอันรู้กันว่าถ้าซื้อในฟาร์มต้อง 30 ตัวขึ้นไป ถ้าจะเอาตัวสองตัว นู่นเลย… ไปเอาข้างนอก แหะ แหะ) แต่แล้วก็ต้องทำใจ รอบนี้เรามาทำงานสั่งสมประการณ์… อย่าเพิ่งเสียตังค์ เย็นไว้โยม
NOTE : ในโกดัง ผมได้เจอเด็กหนุ่มคนไทยที่มาจากบริษัท Thai Qian Hu (ประเทศไทย) มาฝึกงานที่นี่ด้วย รู้สึกดีใจครับที่ได้คุยกับคนชาติเดียวกัน สอบถามสารทุกข์สุขดิบก็ได้ความว่า “อยู่ที่นี่ก็ดีครับ ได้ประสบการณ์ งานก็ดี เงินก็ดี แต่ค่อนข้างเหงาเพราะคนรู้จักน้อย ได้แต่ทำงานอยู่ในนี้ไม่ค่อยไปไหน ภาษาก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงนักทำให้สื่อสารกันลำบาก แต่ก็พออยู่ได้… เนี่ยพอเห็นหน้าพวกพี่ๆ แล้วคิดถึงบ้านเลย อยากจะกลับซะแล้วสิ… แต่ต้องรออีกปีน่ะครับ”… เข้าใจความรู้สึกจริงๆ ครับ (ผมเองก็ห่างบ้านได้ไม่นานเหมือนกัน)
พอออกจากห้อง Stock ปลาส่งออก ผมเห็นว่า Vincent กำลังขมักเขม้นอยู่กับการคัดปลาเข้าร้าน โดยเป็นสายพันธุ์ทองมาเลย์ Electric Blue Cross Back ซึ่งถือเป็น Blue Base เกรดระดับกลางของฟาร์มนี้ (ระดับสูงจะใช้เป็น Super Grade และ Premium Grade) อาชุนเอาปลาขึ้นมาจากในถังให้เลือกประมาณ 30 ตัว โดยแบ่งเป็น 2 ตู้ๆ ละ 15 ตัว แต่ Vincent ต้องการ 10 ตัว เพื่อนๆ ชาวสิงคโปร์ก็ช่วยเลือกกันใหญ่ เมื่อได้ครบ 10 ตัวแล้วก็ทำการ Packing ทันที… Vincent พร้อมรับกลับไปลงที่ร้านเช่นกันครับ (ตอนจับปลาหวาดเสียวมากครับเพราะปลาที่เลือกเสร็จแล้ว อาชุน “ใช้มือเปล่า” จับขึ้นมาใส่ถุงทีละตัวๆ เลย… เสี่ยงอย่างแรง แต่ก็ไม่เห็น Vincent ตกใจอะไรคงเพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดาและไว้วางใจในความเป็นมืออาชีพของเขา)… อย่าเอาตัวสวยไปหมดล่ะคุณพี่ แบ่งมาให้เมืองไทยบ้านผมบ้างนะ
7. Vincent กับ Andy กำลังช่วยกันเลือกปลาเข้าร้าน
8. พอเลือกเสร็จแล้วก็ Packing ทันที
9. ถ่ายภาพร่วมกับ “อาชุน” ผู้บริหารใหญ่ของฟาร์ม Qian Hu
เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็บอกว่าให้ช่วยพาไปชมในส่วนของฟาร์มหน่อยเพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้เข้าไปดู Vil ก็บอก OK ไม่มีปัญหาว่าแล้วก็พาพวกเราไปเดินชมในส่วนของบ่อปลาที่อยู่ด้านข้างของโกดัง… บรรยากาศฟาร์มของ Qian Hu ดูร่มรื่นมากๆ ครับ มีต้นไม้ต้นหญ้าอยู่บริเวณบ่อเต็มไปหมด ที่นี่นอกจากจะเพาะปลาเองได้แล้วก็ยังมีปลาที่นำเข้ามาจากฟาร์ม Kim Kang ประเทศมาเลเซียด้วย (มีการร่วมกิจการกันระหว่างฟาร์มกิมกัง กับฟาร์ม Qian Hu เมื่อเกือบ 2 ปีมาแล้ว) ดังนั้นจึงทำให้ที่ค่อนข้างมีศักยภาพสูงในเรื่องของปลาชนิดนี้ทั้งคุณภาพของปลาและปริมาณที่มีให้คัดเลือก เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเย็นแล้ว (ประมาณ 6 โมง) ซึ่งเป็นเวลาที่พนักงานเลิกงาน ตอนนั้นเราจึงเดินดูบ่อปลากันเพียงตามลำพังโดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนให้ข้อมูลได้ ดังนั้นจึงมีหลายคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ ตัวอย่างเช่น บ่อปลามีทั้งหมดกี่บ่อ ? แล้วบ่อไหนเพาะพันธุ์อะไรบ้าง ? จำนวนปลาในแต่ละบ่อมีมากน้อยแค่ไหน ? หรือขนาดของบ่อมีสัดส่วนอย่างไร ?… Vil เองก็ไม่ได้ทราบข้อมูลทั้งหมดครับ (อาชุนกับ Vincent ก็คงจะกำลังมุ่นอยู่กับการติดต่อธุรกิจกันอยู่ จึงไม่เป็นการดีหากไปรบกวน)
ผมเดินไปเดินมารอบๆ บ่อ แต่ก็ไม่พบกว่ามีปลาอยู่ในบ่อเลยซักตัว จริงๆ ก็คงมีครับแต่เวลานี้มันเย็นแล้ว แสงแดดก็ยังจัดอยู่ทำให้ปลาหลบซ่อนตัวใต้น้ำ… แย่จัง มาผิดเวลาไปหน่อยเลยไม่ได้เห็นปลาเลย เสียดายจัง เพื่อนๆ สังเกตกันรึเปล่าครับว่าที่บ่อปลาแห่งนี้เป็นบ่อเปิดโล่งไม่มีตาข่ายมาขึงกันนกเหมือนกับฟาร์มอื่นๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่าพ่อแม่ปลาในบ่อส่วนนี้อาจจะมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะป้องกันตัวเองจากนกหรืออันตรายอื่นได้… ยืนรอดูปลาอยู่ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีมืดก็ยังไม่เห็น ผมจึงสอบถาม Vil ว่าเคยเห็นปลาในบ่อพวกนี้ไหม ? คำตอบที่ได้รับก็คือ “เคยเห็นแต่ส่วนใหญ่เป็นตอนเช้า และที่เห็นครั้งล่าสุดก็คือตอนที่ทำการ Harvesting (การง้างปาก เอาลูกปลาออกมา) ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง” ผมเลยคิดในใจ… ไม่เป็นไรรอบหน้าค่อยมาใหม่ (แต่ก็อยากมาดู Harvesting แบบของจริงๆ เหมือนกันนะครับ)
10. บรรยากาศโดยรวมของบ่อปลาในฟาร์มครับ
11. ร่มรื่นมากครับ แต่คงเพราะเป็นเวลาเย็นแล้วเลยไม่เห็นปลาเลย
ที่ข้างบ่อปลาบ่อหนึ่งมีป้ายภาพปลามังกรปักไว้ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่นั่นคือ เขาเขียนไว้ว่า "Arowana's 11 Beauty Standards" หรือพอจะแปลเป็นภาษาเราได้ว่า “มาตราฐานความสวย 11 ประการของปลามังกร” โดยแบ่งออกเป็น…
1. Color : "สีสัน"… ต้องสว่าง ชัดเจนไม่เลอะเลือน
2. Figure : "หุ่นทรง"… ต้องได้สัดส่วนครีบเครื่องสมบูรณ์
3. Scales : "แผ่นเกล็ด"… ใหญ่และเรียบเนียน
4. Barbels : "หนวด"… ยาว ตรง และแข็งแรงไม่โอนอ่อน
5. Fins : "เครื่องครีบ"… ใหญ่และกางเบ่งบาน
6. Gills : "เหงือก"… เรียบเนียนสวยงาม
7. Eyes : "ตา"… เท่ากันทั้งสองข้าง ไม่ตรง ใสเงามีแวว
8. Mouth : "ปาก"… เมื่อสบกันต้องปิดสนิท (ไม่ยื่นและเกยกัน)
9. Teeth : "ฟัน"… เรียงกันได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่เกยปากออกมา
10. Vein : Not bulging, contoured with abdomain (อันนี้แปลให้ได้ใจความไม่ถูกครับ)
11. Swiming Posture : "ลีลาการว่ายน้ำ" เบ่งบานสง่างามและขนานกับผิวน้ำ
ผมจำได้ว่าตอนที่ไปเป็นกรรมการงานประกวดปลามังกร มาตราฐานในการตัดสินให้คะแนนก็ตรงตามนี้แทบไม่มีผิดเพี้ยน หลายท่านอาจจะไม่ได้ใส่ใจ แต่รู้ไว้ก็ไม่น่าเสียหายครับ
ก่อนจะออกจากที่นี่ผมได้มีโอกาสรู้จักคุณ Admond Tan ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายส่งออกของที่ฟาร์ม Qian Hu จริงๆ แล้วชื่อนี้ผมเองก็ไม่ทราบไม่คุ้นหู แต่พอ Vil บอกว่าเขาก็คือ Rocky Goldy ในเวบ Arofanatics.com จึงทำให้ผมร้องอ๋อขึ้นมาทันที คุ้นหน้าคุ้นตากันในเวบมานานวันนี้ได้มีโอกาสได้เห็นหน้ารู้จักตัวจริงก็อดปลื้มใจไม่ได้เหมือนกันครับ (คนซ้ายก็คือผม คนกลางคือ Rocky Goldy และ คนขวาก็คือ Vil ครับ)… และแล้วการไปทัวร์ฟาร์มทั้งหมดก็จบลงแต่เพียงเท่านี้นะครับ แต่ทว่าการเดินทางไปสิงคโปร์รอบนี้ยังไม่เสร็จสิ้น มีสถานที่ๆ ผมอยากพาไปชมอีกเยอะเลย แน่นอนไม่ต้องรอนาน… กลางสัปดาห์เจอกัน ~~!!
Nanconnection
12. Nanconnection… Edmond และ Vil