เพื่อนๆ ครับ ภาพที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าคือตู้ปลามังกรนับร้อยใบวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ และปลาที่ผ่านเข้ารอบรอบแต่ละตัวสีสันสวยงามมาก ครั้งแรกที่ผมได้เห็นก็คือบริเวณตู้ของปลาแดงขนาดใหญ่ (เปิดประตูเข้าไปก็เจอเลย) แค่เฉพาะปลาแดงราว 20 กว่าตัวก็เดินดูวนไปเวียนมาเป็นชั่วโมงแล้ว ทั้งใหญ่และแดง “ของจริง” ครับงานนี้ สวยจนตาตื่น เนื้อเต้นเลย แน่ล่ะ ! ก็ผมไปงานประกวดปลามังกรในบ้านเรามาไม่รู้กี่ที่แล้ว ก็ไม่เคยเห็นใหญ่โตและปลาสวยขนาดนี้มาก่อน
ผมแปลกใจตรงที่ปลาใหญ่ที่ประกวดนั้นส่วนใหญ่แล้ว ใหญ่จริง (มีตั้งแต่ 20 ไปจน 28 นิ้ว) สีดีจริง (Blood Red, Chili Red, Orange Red, Blue Base Red มีหมด) และไม่ค่อยมีตำหนิ จะไม่ให้ผมฉงนใจก็คงไม่ได้เพราะปลาแดงใหญ่ที่เห็นตรงหน้านั้นอายุอานามน่าจะเกิน 3 ปีไปแล้วทั้งสิ้น แต่ตำหนิหลักๆ อย่าง “ปากยื่น” และ “ตาตก” กลับไม่มี (มีน้อยตัวมาก) ทุกตัวจึงดูสมบูรณ์หมด อาจมีบ้างสำหรับบาดแผลอาการบาดเจ็บในระหว่างการโยกย้ายและการปรับตัวในที่อยู่ใหม่ (เกล็ดหลุด ปากแตก หัวถลอก แก้มและผิวเกล็ดเป็นรอยขีดข่วน) ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อภาพรวมเรื่องหุ่นทรงผ่านเกือบหมด งานนี้จึงน่าจะประชันกันที่สีสันและท่วงท่าการว่ายน้ำแล้วล่ะครับ
ในระหว่างที่รอกรรมการจากญี่ปุ่นกว่า 2 ชั่วโมงนั้น ผมได้มีโอกาศดูปลาก่อน 3 Categories ก็คือ ปลาแดงใหญ่ ทองมาเลย์ใหญ่ และกลุ่มปลาพิเศษ… หลังจากที่ดูปลาแดงเสร็จแล้วก็เดินมาดูที่กลุ่มปลาแปลกซึ่งก็มีหลายตัวให้ชมกัน ผมแทบไม่อยากเชื่อว่าปลาที่เห็นนั้นสามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพื่อนๆ ครับ “ปลาพิเศษ” ที่ว่านี้พูดถึงปลาในกลุ่มของ “ปลาพิการ” ที่มีความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย ตัวอย่างเช่น ปลาที่มีสันหลังหัก ปลาหลังค่อม หรือที่บ้านเราเรียกกัน “King Arowana” ปลาสั้น (Short Body) ปลา Love (ไม่มีหาง) มังกรนกแก้ว (ตัวสั้นคดและหัวหักงอ ปากจู๋) รวมถึงปลาที่มีส่วน Finage ใหญ่เป็นพิเศษอันรวมถึง ครีบเครื่องใหญ่ยักษ์ หนวดยาวเกินปกติ มีหลายหนวด หางเปีย และอื่นๆ ปลาพวกนี้ผมว่าเป็นการ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส… เปลี่ยนความพิการเป็นความพิเศษ” โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยสนับสนุนให้ใครเป็นเจ้าของปลาพวกนี้เท่าไหร่ เพราะพวกนี้ถือเป็นปลาแปลกจึงมีราคาสูงมากๆ (สูงกว่าปลาปกติอีก) มันเป็นอีกโลกหนึ่งของนักสะสมครับ แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อความบันเทิงใจอย่างในบ้านเรา ขอเลี้ยงแบบธรรมดาๆ ดีกว่า… แต่วันนี้ขอพูดถึงปลาพิเศษเหล่านี้เพื่อการศึกษาละกันนะครับ
หลังจากนั้นก็เดินไปดูในส่วนของทองมาเลย์ใหญ่ ทองมาเลย์ในงานนี้ก็สวยมากเช่นกันครับ เรื่องสีสันผมคิดว่าเมืองไทยเราไม่แพ้ แต่ที่ผมว่า “แน่” ก็คือปลาเขาทุกตัวข้ามหลังหมด ผู้เลี้ยงทองมาเลย์บ้านเราลุ้นกันตัวโก่งกันแทบทุกวัน เกล็ดเปิดปริๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็ดีใจกันจนหน้าบานเก็บความภูมิอกภูมิใจไว้ไม่อยู่ แล้วก็ตั้งตารอต่อไป เมื่อไหร่จะข้าม ? เมื่อไหร่จะข้าม ? 1 ปีก็แล้ว 2 ปีก็แล้ว 3 ปีก็แล้ว จนหลายคนสี้นหวังหมดกำลังใจ ต้องพึ่งปลาตัวใหม่ที่เป็นเกรดพิเศษราคาแพง ผมไม่แน่ใจว่าปลาใหญ่ที่เห็นนี้เป็นปลาเกรดพิเศษตั้งแต่เล็กๆ รึเปล่า ? ไม่มีใครให้คำตอบผมได้เพราะเจ้าของปลาไม่ได้อยู่ด้วย แต่ก็เป็นไปได้ครับเพราะมาตรฐานค่าครองชีพและฐานะการเงินขอคนที่นี่ โดยรวมแล้วถือว่าซื้อปลาระดับนั้นได้โดยไม่ลำบาก… ยังไม่ทันที่จะดูปลาจนหมดผู้ดำเนินการก็มาตามกรรมการทุกๆ ท่านรวมทั้งผมด้วย บอกว่ากรรมการจากญี่ปุ่นมาถึงแล้วขอเชิญไปประชุมกันที่หน้าทางเข้าได้ ได้ยินแบบนั้นผมก็รับคำแล้วเดินออกไป
NOTE : งาน Qian Hu Competion ครั้งนี้มีปลาเข้าร่วมประกวดประมาณ 100 กว่าตัว ราวๆ 10 ตัวเป็นปลา Diplay ที่ทาง Qian Hu นำมาแสดงแต่ไม่เกี่ยวข้องการการตัดสิน ขนาดของตู้ปลาไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตามใช้ขนาด 48”x24”x24” นิ้ว ฉากหลังและด้านข้างของตู้เป็นสีดำ ส่วนพื้นเป็นพื้นใส หลอดไฟ 1-2 ดวง ไม่มีหลอดไฟใต้น้ำ ระบบกรองมี 2 อย่างคือ ใช้ Power Head ติดฟองน้ำ และ ระบบกรองบน (มีท่อดูดขึ้นไปกรองบนถาดกรองภายในฝาตู้ปลา) และกว่า 90% ของปลาที่เข้าปลาประกวดล้วนเป็นปลาของ “ผู้เลี้ยง” โดยตรง ไม่ใช่ “ร้านขายปลา” ส่งประกวด ดังนั้นการตัดสินจึงค่อนข้างขาวสะอาดและเป็นเอกฉันท์ ไม่ผูกขาดตำแหน่งและถ้วยรางวัล แต่ก็ต้องชื่นชมอย่างหนึ่งตรงนี้ที่ผู้เลี้ยงปลาแต่ละท่านให้ความร่วมมือในการส่งปลาเข้าประกวด ต่างกับบ้านเราที่ค่อนข้างจะหวงปลากัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
เมื่อกรรมการทุกท่านพร้อมแล้ว ผู้ดำเนินการก็เริ่มทำการแนะนำตัว คนนี้มาจากไหน ? คนนั้นมาจากประเทศอะไร ? และอธิบายขั้นตอนการให้คะแนน ? ระยะเวลาที่ใช้ ? เริ่มที่ปลากลุ่มไหนและจบที่กลุ่มใด ? ในการให้คะแนนตัดสินครั้งนี้รวมแล้วมีกรรมการทั้งหมด 7 คนจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย
1. Nanconnection จากประเทศไทยครับ – เสื้อสีขาว คาดดำ
2 Mr. ไม่ทราบชื่อ จากประเทศญี่ปุ่น – เสื้อสีเหลือง
3. Mr. ไม่ทราบชื่อ จากประเทศอินโดนีเซีย – เสื้อสีเทาดำ ขวาล่าง
4. Mr. ไม่ทราบชื่อ จากประเทศไต้หวัน – เสื้อสีฟ้า ขวาสุด
5. Mr. Alwin Koh (Webmaster Arofanatics) จากประเทศสิงคโปร์ – เสื้อสีแดง โดนบัง
6. Mr. James Wong (Webmaster Arowanaclub.com) จากประเทศสิงคโปร์ – เสื้อสีดำ คนยืน
7. Dr. Link Kai Huat (AVA : กรมประมง) จากประเทศสิงคโปร์ – เสื้อสีเทา ข้างผู้ดำเนินการ
เมื่อแนะนำตัวกันเสร็จแล้ว ผู้ดำเนินการก็บอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวปลา จำนวนและการคัดเลือก จากนาทีนี้ก็ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าในการประกวดทั้งหมดนี้มีปลารวมทั้งสิ้น 145 ตัว แบ่งเป็นปลาที่เข้าประกวด 135 ตัว (ที่มีการตัดสิน) และ Display 10 ตัว (ที่ไม่ต้องตัดสิน) ทั้งหมดนี้แยกย่อยออกเป็น 9 กลุ่มดังต่อไปนี้
กลุ่มปลาใหญ่ A B C D (ขนาดตั้งแต่ 37.5 เซนติเมตรขึ้นไป)
Category A ปลาแดงใหญ่ : จำนวนเข้าประกวด 23 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 13 ตัว
Category B ทองมาเลย์ใหญ่ : จำนวนเข้าประกวด 15 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ตัว
Category C Tong Yan (ตองเย็น – ลูกครึ่งมาเลย์ + แดง) : จำนวนเข้าประกวด 13 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 8 ตัว
Category D ทองอินโดใหญ่ : จำนวนเข้าประกวด 12 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 8 ตัว
กลุ่มปลาเล็ก EFGH (ขนาดตั้งแต่ 30 – 37 เซนติเมตร)
Category E ปลาแดงเล็ก : จำนวนเข้าประกวด 15 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ตัว
Category F ทองมาเลย์เล็ก : จำนวนเข้าประกวด 16 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ตัว
Category G Tong Yan เล็ก : จำนวนเข้าประกวด 12 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 8 ตัว
Category H ทองอินโดเล็ก : จำนวนเข้าประกวด 11 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 8 ตัว
กลุ่มปลาพิเศษ (ไม่จำกัดขนาด)
Category I Special : จำนวนเข้าประกวด 18 ตัว คัดเลือกให้เหลือเพียง 11 ตัว
รวมแล้วทั้งสิ้น 135 ตัว ต้องคัดออก 49 ตัว ให้เหลือ 86 ตัวที่เข้ารอบ 2 … แต่วิธีการตัดสินจะเป็นแบบไหน ต้องติดตามตอนต่อไปนะครับ
Nanconnection