เมื่อพูดถึงเรื่องโรคของปลามังกรแล้วจริงๆ ก็มีหลายชนิดซึ่งก็มีทั้งอันตรายร้ายแรงและอันตรายไม่มากอย่างเช่น โรคเหงือก โรคเชื้อรา โรคจุดขาว โรคเกล็ดพอง โรคริดสีดวง รวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ อีกเช่น เกล็ดกร่อน หนวดอักเสบ (หนวดปลาหมึก) ตาขุ่น รวมแล้วก็มีมากมายหลายอย่าง… วันนี้ผมมีเรื่องราวของปลาตัวหนึ่งมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งปลาตัวนี้เป็นปลาที่มีชีวิตโชกโชนผ่านพ้นเรื่องราวของโรคและอาการผิดปกติมามากมายตั้งแต่อาการบาดเจ็บที่ตา เกล็ดหลุด เป็นโรคเหงือกหุบควบกับหนวดอักเสบที่เป็นตุ่มเหมือนหนวดปลาหมึก จนสุดท้ายเป็นโรคอันตรายร้ายแรงอย่างโรคเกล็ดพอง หากเพื่อนๆ พร้อมแล้วก็ไปอ่าน “มังกรหรรษา” ด้วยกันเลยนะครับกับตอนนี้… ตอนที่มีชื่อว่า “วิบากกรรมซ้ำซ้อน… เมื่อเหล่าโรครุมหลอนมังกร Hiback”
… แรกเริ่มการลงปลา …
เรื่องราวของปลาตัวนี้เกิดขึ้นนานแล้วเหมือนกัน คร่าวๆ ก็เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมามีเพื่อนผมคนหนึ่งโทรมาปรึกษาผม ว่าให้ช่วยเลือกปลามังกรให้เพื่อนเขาตัวหนึ่งโดยระบุสายพันธุ์ที่ต้องการให้เลยนั่นก็คือ “ทองอินโด” ผมก็ตอบตกลงไปโดยไม่มีปัญหาเพราะใจคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ช่วงนั้นปลาก็ไม่ขาดตลาดมีเข้ามาเรื่อยๆ ที่สำคัญคือราคายังไม่สูงมากเหมือนตอนนี้ ผมถามถึงความพร้อมของเพื่อนผมที่จะนัดกันไปดูปลาเขาก็ว่าได้ตลอดไม่มีปัญหา อยู่มาวันหนึ่งผมเจอปลาสวยตัวนึง (ในสายตาผม) ซึ่งเป็นทองอินโดตรงตามความต้องการของเขาจึงได้โทรบอกกับเพื่อนผมคนนี้แล้วก็นัดกันไปดู ผมจำได้ดีว่าตอนที่พาเขาไปดูวันนั้นไม่ได้มีทองอินโดอย่างเดียวแต่มี Hiback เข้ามาด้วย สำหรับมือใหม่แล้วความหมายของ Hiback หลายคนอาจไม่เข้าใจ ผมขอเกริ่นเล่าให้ฟังนิดนึงละกันครับ… Hiback ก็คือลูกผสมระหว่างทองมาเลย์และทองอินโด โดยเป็นการปรับปรุงสายพันธุ์ของทองอินโดให้สีสันสวยงามและเกล็ดเปิดสูงขึ้น แต่ถึงแม้จะสวยขึ้นแค่ไหนก็ตามก็ยังไม่สวยถึงระดับของทองมาเลย์แท้ เรื่องราคาก็จะสูงกว่าทองอินโดหน่อยแต่ก็ยังถูกว่าทองมาเลย์มาก ดังนั้นช่วงหลังๆ จึงมีผู้ที่สนใจหันมาเลี้ยงปลาสายพันธุ์นี้กันมากขึ้นเพราะราแพงกว่าทองอินโดนิดเดียวแต่โตขึ้นมาแล้วสวยกว่าตั้งเยอะ… แม้จะไม่ใช่สายพันธุ์แท้ก็ตาม
ก่อนการนัดหมายไปเลือกซื้อปลาผมได้ถามเรื่องความพร้อมในการเลี้ยง และได้คำตอบกลับมาว่าตอนนี้พร้อมแล้ว เตรียมตู้ เตรียมน้ำและจัดเซ็ทระบบกรองรอไว้แล้ว… พูดง่ายๆ ก็คือพร้อมลงปลาแล้วนั่นเอง ความต้องการจริงๆ ของเพื่อนผมคนนี้ก็คืออยากได้ “ทองอินโด” แต่พอได้มาเห็น Hiback สังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าดวงตาเป็นประกาย รู้สึกชอบใจมากๆ เหมือนถูกชะตาจะต้องเอาไปเลี้ยงที่บ้านให้ได้ ดังนั้นโจทย์ของผมจึงต้องเปลี่ยนใหม่จากเดิมที่หมายตา ทองอินโด ไว้แล้วต้องมาเบนเข็มเปลี่ยนไปเป็น Hiback โดยต้องเลือกตัวสวยตัวหนึ่งให้กับเขา แต่นั่นก็ไมได้ทำให้ผมรู้สึกแปลกหรือไม่ดีแต่อย่างไรเพราะนั่นเป็นความต้องการของเขา ใครก็ตามหากได้ปลาที่ตนเองไม่ชอบเลี้ยงไปก็คงไม่มีความสุข… ไม่มีทั้งผู้เลี้ยง (เลี้ยงปลานอกสายตา) และตัวปลาเอง (ที่จะต้องถูกทอดทิ้งไร้ซึ่งการดูแลเอาใจใส่) ว่าแล้วผมก็ช่วยเลือกปลาให้เขาตัวหนึ่ง
การเลือกซื้อปลาให้ใครก็ตามผมจะไม่ใช่วิธีหยิบส่งหรือตัดสินใจแทนเขา แต่จะเรียกผู้เลี้ยงไปดูด้วยโดยสอนวิธีเลือกซื้อปลาสวยในแบบของผมให้เขาฟัง ให้คิดและมองภาพตาม การดูทรง ดูสี ดูฟอร์ม ตัวไหนเรียกว่าตื่น ? ว่ายลู่ขี้ตกใจเป็นยังไง ? หลบซ่อนตัวเป็นยังไง ? สู้มือเป็นยังไง ? รวมถึงวิธีการสังเกตตำหนิปลาและอื่นๆ… ตัวนี้เป็นแบนนี้นะครับ คุณเห็นมั้ย ? ส่วนเจ้านี่ก็จะอย่างนี้นะครับ เห็นตามที่ผมบอกรึเปล่า ? มีการพูดสอนให้ฟังตลอด เมื่อได้ปลาที่ผ่านการคัดเลือกแล้วต่อไปก็ถึงเวลาดูปลาจริงๆ… ตัวไหนกันที่จะเป็นผู้ชนะได้ไปอยู่อย่างมีความสุขที่บ้านของคนๆ นี้
ในวันนั้นมีปลามังกรสายพันธุ์ทองอินโดในร้านประมาณ 6 ตัวและ Hiback อีก 6 ตัว… ทองอินโดถูกมองข้ามไปสนใจแต่เพียงอย่างหลังเท่านั้น จากผู้เข้าประชันโฉม 6 ตัวมีเพียง 3 ตัวที่เข้าตา หลังจากผ่านการเลือกแล้วเลือกอีก มองแล้วมองอีก ดูแล้วดูอีกอยู่นานสุดท้ายก็ได้มาตัวนึง… ในสายตาผมตัวที่เขาเลือกใช้ได้เลยทีเดียวครับแต่ก็มียังมีตำหนิอยู่ ตำหนิที่ว่านั่นก็คือ “ปากยื่นนิดๆ” แต่ผู้เลือกได้ให้เหตุผลกับผมว่า รู้สึกถูกตาต้องใจกับ Hiback ตัวนี้และมั่นใจว่าคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจเลือกเจ้าตัวนี้ เมื่อได้ฟังคำตอบแบบนี้แล้วผมก็รู้สึกสบายใจ จากนั้นก็ไปพูดคุยและตกลงต่อรองกันเรื่องราคากับเจ้าของร้านก่อนจะจับปลาใส่ถุงกลับบ้าน
โดยปกติการลงปลาในตู้ใหม่ไม่ถือเป็นเรื่องยุ่งยากเท่าไหร่ แค่เพียงปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับในตู้ก็พอ แต่เพราะว่าเพื่อนของเพื่อน (ขอแนะนำว่าชื่อ “เชษฐ” นะครับ) คนนี้เป็นมือใหม่จริงๆ ซึ่งไม่เคยเลี้ยงปลามังกรมาก่อน จึงไม่มั่นใจว่าจะทำตามคำแนะนำของผมได้ จึงได้ชวนผมไปช่วยลงปลาที่บ้านให้ด้วย… ผมเองวันนั้นก็ว่างไมได้ติดธุระอะไรจึงตกลงไปช่วยลงปลาให้ ไปถึงที่บ้านก็เริ่มการลงปลาได้เลยครับเพราะว่าตู้และน้ำได้ถูกเตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว ตู้ดังกล่าวเป็นตู้เฟอนิเจอร์ไม้สักสีสวยงามขนาด 48”x20”x20” ซึ่งสำหรับปลาตัวนี้จะเลี้ยงได้ประมาณ 1 ปีหรือจนปลามีขนาด 15” เป็นอย่างน้อย การลงปลาก็ไม่ได้ยาก (เหมือนที่ผมว่าเอาไว้ข้างต้น) ก็แค่เพียงปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับในตู้ก็เพียงพอ (ด้วยการวางถุงปลาแช่น้ำในตู้โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที) แต่งานนี้เป็นตู้ใหม่ น้ำใหม่ 100% ไม่เคยผ่านการเลี้ยงปลาใดๆ มาก่อนดังนั้นเพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นจึงใช้วิธี “ปรับสภาพน้ำ” เข้าผสมด้วย วิธีที่ว่านี้คือหลังจากที่ปรับอุณหภูมิไปได้ระยะหนึ่ง แล้วผมก็เปิดถุงออกแล้วเทน้ำเก่าในถุงปลาลงไปในตู้แล้วเติมน้ำในตู้เข้าถุงแทนในประมาณที่พอๆ กันแล้วเว้นระยะไว้ซัก 2-3 นาทีแล้วทำแบบนี้อีกประมาณ 3 ครั้ง… วิธีนี้นอกจากจะทำให้ปลาได้ปรับตัวกับอุณภูมิใหม่ในตู้เลี้ยงแล้ว ยังช่วยให้ปลาปรับสภาพกับน้ำใหม่ได้ด้วย ที่สำคัญคือลดโอกาศการช๊อคน้ำตายในปลาเล็กได้มากครับ… เมื่อลงปลาเสร็จแล้วผมก็เก็บภาพให้ซักหน่อยก่อนขอตัวกลับบ้าน
… เริ่มเกิดปัญหาเมื่อปลาตาเจ็บ …
เป็นเพราะเชษฐเป็นผู้เลี้ยงปลามังกรมือใหม่จริงดังนั้นในช่วงแรกๆ จึงมีการโทรสอบถามผมถึงวิธีการเลี้ยง การให้อาหาร การเปิดปิดไฟ การฝึกให้เชื่อง และอีกหลายๆ อย่างอยู่ตลอดแต่เราไม่เคยคุยกันถึงเรื่อง “โรค” และ “อาการบาดเจ็บ” กันเลยนั่นก็เพราะว่าเชษฐมั่นใจว่ามีเวลาเลี้ยงดูปลาตัวนี้เต็มที่ อยู่กับเขาไม่น่าจะมีปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นได้… มาวันหนึ่งผมได้โทรศัพท์จากเชษฐว่าปลาเริ่มมีปัญหา ผมสอบถามอาการก็ได้ความว่าปัญหาที่ว่าคือที่ “ตา” ของปลามีลักษณะแปลกๆ เหมือนตาจะขุ่น มีร่องรอยของการขีดข่วนดูน่ากลัวเห็นแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ ผมก็บอกและแนะนำวิธีการรักษาไป แต่ด้วยความร้อนใจเชษฐก็บอกว่าอยากให้ผมมาดูให้หน่อย ผมก็ไม่ได้คิดอะไรเพราะบ้านผมกับบ้านเชษฐก็ไม่ได้ไกลกันนักและเชษฐเองก็เสนอตัวมารับผมไปดูอาการถึงที่บ้าน ด้วยความเข้าใจหัวอกมือใหม่จึงตอบตกลงว่าจะไปดูปลาให้ ว่าแล้วก็นัดวันที่จะไปดูอาการกัน…
ไปถึงที่บ้านเชษฐ… ภาพที่ผมเห็นก็เหมือนกับที่เพื่อนๆ เห็นแหละครับ อาการที่ว่านี้ก็คืออาการบาดเจ็บธรรมดา ปลาไม่ได้ตาขุ่นเพียงแต่มีรอยเล็กๆ ซึ่งน่าจะมีที่มาจากอุบัติเหตุอย่างเช่นปลาขี้เล่นมากเกินไป ว่ายมาถูไถหน้าตู้เพื่อขออาหารเป็นประจำก็เป็นได้ ปลากระโดดโฉบเหยื่อแล้วพลาดไปชนคานตู้ ขอบตู้ หรือแม้แต่หวีกั้นกรองน้ำก็เป็นได้ (ช่วงแรกๆ เชษฐให้เจ้า Hiback กินกุ้งฝอยครับจึงเป็นไปได้มากว่าจะทำให้ปลาโฉบเหยื่อพลาดแล้วไปโดนวัสดุส่วนอื่น จนทำให้เกิดตาเป็นแผลนี้ขึ้นมาได้) ผมบอกเชษฐว่าแผลถลอกที่บริเวณแก้วตาเป็นอาการที่ไม่น่าห่วงครับ มันเป็นการบาดเจ็บไม่ไช่โรคร้าย ที่สำคัญคือมันสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้หยูกยาอะไร ได้ยินอย่างนั้นเขาก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นแต่ด้วยยังที่เป็นห่วงก็ถามผมว่า…
“เอ่อ แนนครับ แล้วมีวิธีไหนมั้ยครับที่ทำให้ตามันหายเร็วขึ้น… ผมไม่ค่อยสบายใจเลย”
“อย่าไปซีเรียสครับเชษฐ การบาดเจ็บแค่นี้ผมถือเป็นเรื่องเล็กที่ไม่น่าหนักใจเท่าไหร่… ถ้าเป็นเรื่องโรคหรืออาการผิดปกติค่อยว่าไปอย่าง แต่ถ้าเชษฐถามว่ามีวิธีไหนที่ทำให้มันหายเร็วขึ้น ผมขอตอบว่ามีครับแต่ว่าต้องแลกด้วยบางอย่างนะครับ”
“วิธีไหนเหรอครับ ? แล้วที่ว่าต้องมีอะไรแลกเปลี่ยนนี่หมายถึงอะไร ? งงจังแนน”
“วิธีที่ว่านี้ก็คือการใช้ยาเหลืองในการรักษา ยาเหลืองโดยทั่วไปเป็นยารักษาสรรพโรคไม่ว่าจะเป็นโรค อาการบาดเจ็บ หรือยับยั้งแบคทีเรียชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยาเหลืองยังช่วยสมานแผลทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้นได้”
“โอ ดีจังเลย… งั๊นเดี๋ยวผมไปหาซื้อยาเหลืองมาใส่ดีกว่าจะได้หายเร็วๆ”
“แต่ข้อเสียของยาเหลืองก็มีตรงที่สีน้ำในตู้ปลาจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองอ๋อยไม่น่าดูเท่าไหร่ ยิ่งไปกว่านั้นสีเหลืองอ๋อยที่ว่ายังอยู่ยาวนานอีกด้วยไม่จางสลายหายไปเอง ต้องอาศัยการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ น้ำจึงจะกลับมาใสสวยดูสบายตาเหมือนเดิม”
“อืม… เอาไงดีหว่า ข้อเสียก็น่ากลัวเหมือนกัน ใครไปใครมาเห็นน้ำสีเหลืองอ๋อยก็คงไม่ดี ผมเองก็ไม่ค่อยชอบด้วย… แนนครับ แล้วมันเห็นผลต่างกันเยอะมั้ยครับ ? คือหมายถึงว่าถ้าปล่อยให้หายเองจะหายในเวลาเท่าไหร่และถ้าใช้ยาเหลืองจะใช้เวลาเท่าไหร่ ?”
“ไม่แน่นอนครับ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็พอจะกะประมาณได้ว่าถ้าปล่อยให้หายเป็นปกติก็คงจะประมาณ 7-10 วันแต่ถ้าใช้ยาเหลืองในการรักษาก็คาดว่าจะหายใน 1 สัปดาห์ครับ แต่ถ้าเป็นผมในกรณีนี้ผมจะปล่อยให้มันหายเองก็อาการนี้ไม่ถือเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้ยา”
“อืม ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก… เอาเป็นว่าผมเชื่อคำแนะนำแนนดีกว่า ยังไงก็ขอบคุณมากนะครับที่ช่วยมาดูปลาให้”
“ไม่เป็นไรครับเชษฐ”
เมื่อดูอาการปลาเสร็จเชษฐก็มาส่งผมที่บ้านเป็นอันจบความไม่สบายใจของผู้เลี้ยงมือใหม่ในวันนั้น… แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมไมได้บอกเขาเพราะเกรงว่าถ้าเขาทราบแล้วจะไม่สบายใจ แต่ก็อยากให้เพื่อนๆ ผู้อ่านทราบไว้นั่นก็คือ “ตา” ของปลาที่มีอาการบาดเจ็บหรือเคยมีแผลถลอกเกิดขึ้นเมื่อหายแล้วก็จะมีโอกาสเป็นใหม่ได้อีกและเป็นได้เรื่อยๆ เมื่อมีการกระทบกระแทกโดยเป็นได้ง่ายมากและไม่มีหางหายขาด แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไปว่าอาการนี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่ได้มีอันตรายใดๆ ดังนั้นเพื่อนผู้อ่านคนไหนที่ปลามีอาการนี้อยู่ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ… สบายใจได้… เรื่องราวครั้งนี้ยังไม่จบ มีตอนต่อไปนะครับ
Nanconnection
*** ขออภัยสำหรับภาพนะครับ ตอนนั้นยังฝีมือไม่เข้าขั้น และกล้องก็ยังเป็นแบบธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังเตือนสติของผมได้ดี และอยากให้เพื่อนสมาชิกได้อ่านกัน