… เกล็ดหลุด + เหงือกมีปัญหา + หนวดปลาหมึก… ศึกหนักครั้งยิ่งใหญ่…
ความเดิมจากตอนที่แล้ว…
http://www.aro4u.com/articles-detail/421
หลังจากนั้นผมกับเชษฐก็มีโทรหากันรายงานสภาพปลาให้ทราบเป็นระยะๆ จนปลาหายดีแล้วเชษก็โทรมากล่าวคำขอบคุณผมอีกครั้ง นับแต่วันนั้นก็เริ่มขาดการติดต่อ… นานๆ จึงจะโทรมาทีหนึ่งซึ่งผมก็เข้าใจว่าคงยุ่งๆ อยู่กับงานและที่สำคัญคือเลี้ยงมาหลายเดือนแล้วน่าจะเลี้ยงเป็นและทุกอย่างลงตัวแล้วล่ะครับ… อยู่มาคืนหนึ่งผมก็ได้รับโทรศัพท์จากเชษฐอีกครั้ง แต่ครั้งนี้น้ำเสียงไม่ใช่สนุกสนานเบิกบานใจเหมือนคราวๆ ก่อน น้ำเสียงฟังดูลุกลนร้อนใจเป็นอย่างมาก เขาบอกกับผมว่า…
“แนน แย่แล้ว ปลาไม่รู้เป็นอะไร ? ที่เกล็ดหลังมีเชื้อราขึ้นมา บรื๋อส์ น่ากลัวมากเลย ! เมื่อวานมันยังไม่เป็นวันนี้กลับมาดู โอ้โห แนน ! มันขาวโพลนด่างเป็นรอยหลุมเลย ทำไงดีช่วยทีแนน”
“เชษฐ ใจเย็นๆ ครับ ค่อยๆ เล่าอาการมา ผมฟังอยู่”… แล้วเชษก็เล่าอาการให้ผมฟังโดยขยายความจากที่กล่าวไว้ในตอนแรก ฟังจนจบแล้วผมก็ตอบกลับไปว่า…
“ไม่เป็นไรเชษฐ แต่จากที่ฟังแล้วเข้าใจว่างานนี้อาการหนัก คุณคงไม่สบายใจอย่างมากเอาเป็นว่าคุณมารับผมที่บ้านละกันเดี๋ยวผมจะไปดูให้”
“ได้เลยแนน เดี๋ยวผมไปรับนะ แป๊ปเดียวถึง”
“ครับผม ไม่ต้องรีบนะครับ… ค่อยๆ มาเดี๋ยวก็ได้เจอกัน”
เชษฐรับคำก่อนวางหูโทรศัพท์ไป… จากนั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเชษฐก็มาถึงที่บ้านซึ่งผมก็เตรียมพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้แล้ว พอไปถึงบ้านเชษฐดูสภาพตัวปลาแล้วบอกตรงๆ เลยนะครับว่าน่าซีเรียสมาก แต่ที่ซีเรียสไม่ใช่จากรอยด่างขาวที่เขาร้อนใจ แต่ซีเรียสจากปลาที่มีอาการของหนวดอักเสบ (หรือหนวดปลาหมึก) และ “โรคเหงือกหุบ” มากกว่า เรื่องนี้ผมขอยังไม่พูดถึงนะครับเรามาพูดเรื่องรอยด่างขาวที่เจ้าตัวเขาร้อนใจกันก่อนดีกว่า เพื่อนๆ สังเกตเห็นเกล็ดแถวที่ 5 ใกล้ๆ ครีบกระโดงหลังมั้ยครับ ? นั่นแหละครับที่เชษฐตกใจ แล้วบอกผมว่าเป็นรอยด่างขาวหลุมลึกเป็นเชื้อราที่น่ากลัว ผมไม่รู้จะพูดยังไงแต่เชื่อว่าเพื่อนๆ ที่เคยเลี้ยงปลามังกรมาก่อนต้องดูออกแน่ว่านี่ไม่ใช่โรคเชื้อราครับแต่เป็นแค่ปลา “เกล็ดหลุด” เท่านั้นเอง
ผมตั้งสติให้มั่นก่อนจะอธิบายให้เชษฐฟังว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงเกล็ดหลุดซึ่งถือเป็น “อาการบาดเจ็บ” ธรรมดาไม่ใช่ “โรคเชื้อรา” อย่างที่เข้าใจ และเกล็ดหลุดไม่ได้อันตรายเลวร้ายถึงกับทำให้ปลาตายได้ แต่ด้วยตั้งแต่เลี้ยงปลามาเชษฐไม่เคยเห็นปลาเกล็ดหลุดจึงไม่ผิดที่จะเข้าใจผิดเพียงแต่ร้อนใจมากไปหน่อยเท่านั้นเอง ยิ่งเกล็ดที่หลุดยังเป็นเกล็ดแถวที่ 5 ซึ่งยังดำๆ อยู่และเมื่อหลุดออกไปแล้วจึงเป็นร่องสีขาวนวลตัดกับเกล็ดอื่นๆ จึงดูเหมือนเป็นโรคเชื้อขา ว่าแล้วผมก็บอกวิธีการรักษาเหมือนกับกรณีของ “ปลาตาเจ็บ” ให้เชษฐฟังคือการปล่อยให้หายเองโดยใช้เวลาเพียงไม่นานเกล็ดใหม่ก็จะขึ้นมาแทน
คราวนี้มาพูดถึงเรื่องที่น่าซีเรียสยิ่งกว่าดีกว่าครับ… นั่นก็คือโรค “เหงือกหุบ” และ “หนวดปลาหมึก” ที่เจ้า Hiback เป็นโดยที่เชษไม่รู้ตัว ผมบอกกับเขาว่าเรื่องที่ปลาเกล็ดหลุดไปนั่นยังไม่เท่าไหร่แต่เรื่องต่อไปนี้สิ… ไปทำอะไรมาทำไมถึงเกิดขึ้นได้ ? เชษก็ว่าเขาไม่รู้เรื่องเลยเข้าใจว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ หนวดก็ดูไม่ออกว่าเป็นหนวดปลาหมึก เหงือกก็ดูไม่รู้ว่าเป็นเหงือกหุบ ในเมื่อเขาไม่ทราบจริงๆ หน้าที่เราจึงต้องให้ความรู้กับเขา ผมบอกเล่าลักษณะอาการของโรคทั้งสอง การสังเกตและวิธีการรักษาให้เขาฟัง… โ
รคทั้งสองนี้มีสาเหตุที่มาคล้ายๆ กันนั่นก็คือ น้ำสกปรก เจ้าของขาดการดูแลเอาใจใส่ (ข้อนี้เชษฐผ่านครับเพราะตู้สะอาดสะอ้านดี) อุณหภูมิสูงเกินไป (บ้านเชษฐประมาณ 32 องศาเซลเซียส) ปลาเครียด (อันนี้เป็นไปได้มากที่สุด) เพราะช่วงหลังๆ เขายุ่งกับงานมากจนมีเวลาดูแลปลาน้อยลง อาการของโรคที่เจอนี่ก็ถือเป็นขั้นอันตรายแล้ว… เหงือกหุบจนเกือบมิดเข้าใจในเหงือกหลัก (ปล่อยไว้จะช้ำเน่าและติดเชื้อได้) หนวดปลาหมึกก็ขึ้นตุ่มหงิกงอจะจนเกือบสูญเสียความสง่างามไป (ปล่อยไว้หนวดจะอ่อนแอเมื่อไปถูไถสิ่งใดมากเข้าจะปริแตกเลือดออกได้) ผมเห็นว่าปล่อยไว้ไม่ได้แล้วจึงบอกให้เชษฐรีบทำการรักษาโดยเร็ว…
สำหรับงานนี้เรื่อง “เหงือก” คงต้องทำการศัลยกรรมตัดแต่งอย่างเดียว แต่ว่าเรื่อง “หนวด” นี่คงต้องล้างฆ่าเชื้อด้วยน้ำผสมด่างทับทิมจึงจะมีโอกาสหาย พอเชษฐฟังคำที่ผมอธิบายก็ยิ่งไม่สบายใจใหญ่เกรงว่าจะเจ็บมาก กลัวปลาโดนยาสลบแล้วจะไม่ฟื้น กลัวนั่นกลัวนี่หลายอย่าง… ผมเองบอกตรงๆ ก็ไม่ได้อยากทำแต่ถ้าไม่ทำก็ไม่หายและจะเป็นอันตรายมากขึ้น จึงต้องให้เชษฐตัดสินใจด้วยตัวเอง เชษฐปรึกษาเพื่อนและครอบครัวอยู่พักนึงแล้วก็ตัดสินใจทำตามที่ผมแนะนำ โชคดีที่เวลาผมไปไหนมาไหนจะสะพายกระเป๋ากล้องไปด้วยเสมอ และในกระเป๋านั้นก็จะมีอุปกรณ์สำหรับการศัลยกรรมไม่ว่าจะเป็นกรรไกร ยาสลบ แหนบ และถุงมือยาง ที่เชษฐต้องเตรียมให้ผมก็มีแค่กะละมังสำหรับรองรับตัวปลาและด่างทับทิมเท่านั้นเอง
เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วผมจึงทำการจับต้อนปลาเข้าถุง ตอนที่ทำนั้นเจ้านี่เริ่มมีขนาดใหญ่แล้วประมาณก็ 13” ในตู้ 48” ซึ่งถือว่าเล็กจึงทำให้การจับค่อนข้างยากต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เมื่อจับปลาได้แล้วก็วางยาสลบแล้วทำการตัดแต่งเหงือกให้เรียบร้อย หลังจากนั้นก็ใช้น้ำผสมด่างทับทิมอ่อนๆ ที่เตรียมไว้ทำการล้างบริเวณหนวดปลาอย่างแผ่วเบาประมาณ 1-2 นาที ห้ามขัดถูอย่างรุนแรงนะครับเพราะจะทำให้หนวดอักเสบมากขึ้นหรือยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้หนวดปลาหลุดขาดได้ เสร็จแล้วก็ล้างตัวปลาในน้ำสะอาดเพื่อเอาด่างดับทิมออกให้หมด ใส่ยาเหลืองบริเวณหนวดและเหงือกเพื่อป้องกันการติดเชื้อและให้แผลหายเร็วขึ้น แล้วจึงนำกลับไปปล่อยลงตู้เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการทำให้ฟื้น พอปลาฟื้นตัวเป็นปกติแล้ว ทุกฝ่ายสบายใจรวมทั้งผมเช่นกันจึงได้ขอตัวกลับบ้านแล้วคอยฟังการ Update อาการปลาจากเชษฐที่คุยกันไว้ว่าจะโทรมาบอกให้ทราบเป็นระยะๆ
Nanconnection
NOTE : วิธีการจับปลา วางยาสลบ การศัลยกรรมเหงือก การทำให้ปลาฟื้น และการใช้น้ำผสมด่างทับทิมในการล้างอวัยวะส่วนสำคัญของปลา ผมได้มีเขียนไว้ในมังกรหรรษาหลายตอนแล้ว หากเพื่อนๆ เพิ่งมาอ่านบทความตอนนี้เป็นครั้งแรก และยังไม่ทราบวิธีการดังกล่าวผมแนะนำให้ลองกลับไปเปิดกระทู้เก่าๆ ในส่วนของ "มังกรหรรษา" ดูนะครับเพราะผมเขียนไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน
*** รอบนี้รูปน้อยไปนิด และขอลงตัวอย่างของ "โรคเกล็ดพอง" ให้เพื่อนสมาชิกได้ชมก่อน รอบหน้าติดตามเนื้อเรื่องตอนจบแบบ Full Version นะครับ