ตอนที่ 1 http://www.aro4u.com/articles-detail/467
ตอนที่ 2 http://www.aro4u.com/articles-detail/468
ตามที่ผมได้เล่าให้เพื่อนสมาชิกฟังตั้งแต่ตอนแรกว่านับแต่วันแรกที่ พี่ป. ได้ปลาตัวนี้แม้ แม้จะไม้เป็นไปอย่างที่หวัง แต่ตัวปลาก็ยังมีแววของคุณภาพให้เห็นนั่นก็คือ เกล็ดแถวที่ 5 เปิดเต็มแถว และเป็นแบบเต็มแผ่นเกล็ด ไม่ใช่เฉพาะตัดขอบ หรือมาเพียงบางส่วน (แต่ไม่มีการเปิดของเกล็ดเอียด หรือ วี่แววของการข้ามหลัง) และนั่นหมายถึงตอนที่ตัวปลามีขนาดเพียง 4 นิ้วเท่านั้น… หากไม่พูดถึงราคาค่าตัวปลา และลักษณะของสายพันธุ์ที่ถูกกล่อมจนสร้างฝันไว้อย่างเลิศหรู รวมถึงชื่อที่ปรากฏในใบรับรองสายพันธุ์ เจ้าหนูน้อยตัวนี้ ณ วันที่แรกเจอ นับเป็นปลาที่สวยมากๆ ตัวหนึ่ง
แต่หลังจากที่เลี้ยงได้เกือบ 3 เดือน จากปลาขนาด 4 นิ้ว กลายมาเป็น 6 นิ้ว (แม้จะต่างกันเพียง 2 นิ้ว แต่มิติของความ กว้าง/ยาว ของลำตัวเปลี่ยนแปลงไปมากนั่นแปลว่า หากเทียบสัดส่วนแล้ว ใหญ่ขึ้นมากเหมือนกัน) และเมื่อปลาโตขึ้น พี่ป. ก็คาดหวังเรื่องการพัฒนาของสายพันธุ์มากขึ้น จาก 1 จะต้องเป็น 2 เป็น 3 เป็น 4 เป็น 5 ตามลำดับขึ้นไป ด้วยหวังและตั้งใจว่า เจ้านี่จะต้องเป็น Premium Grade Blue Base สมคำนำเสนออย่างแท้จริง… แต่กลับกลายเป็นว่า ปลาตัวนี้เกิดมีการพัฒนาที่ด้อยลงจากที่เคยเห็นในครั้งแรก
เริ่มต้นจาก ขนาด 4 นิ้ว => เกล็ดแถวที่ 5 เปิดเต็มแถว และเป็นแบบเต็มแผ่นเกล็ด
3 เดือนผ่านไป ขนาด 6 นิ้ว => เริ่มเกิด Donut Effect นั่นก็คือ “เกล็ดปลาที่เดิมทีมีเนื้อสีเต็มแผ่น ได้ค่อยๆ แปรสภาพคืนกลับจากเนื้อสีที่เต็มแผ่นนั้นเป็นสีคล้ำ ดำ หรือเทา โดยผลกระทบนี้จะเริ่มจากวงขอบนอกของเกล็ด ค่อยๆ ไล่เข้ามา จนทำให้เนื้อสีที่เดิมมีอยู่เต็มแผ่นนั้นเหลือน้อยลง ซึ่งสังเกตได้จากเนื้อที่ของวงสีกลางแผ่นเกล็ด” กับเจ้าหนูน้อยตัวนี้ ซึ่งเพื่อนสมาชิกสามารถสังเกตเห็นได้จากภาพที่ผมนำมาประกอบ เจ้า Premium Blue Base ตัวนี้เริ่มมีการเกิด Donut Effect ขึ้นแล้ว
โดยปกติแล้ว Donut Effect จะเกิดกับเกล็ดตั้งแต่แถวที่ 5 ขึ้นไป (แถว 1 – 4 ไม่ค่อยพบเห็นครับ) เราได้อธิบายพร้อมชี้จุด ให้พี่ป. ได้เห็น ได้ฟัง เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดกับตัวปลา และเมื่อเห็นว่าการพัฒนาของปลาไม่เป็นไปตามที่หวัง พี่ป. จึงได้ติดต่อผู้ขายเพื่อปรึกษาหาแนวทาง โดยคำตอบที่รับก็คือ
“ของแท้ ย่อมเป็นของแท้ครับ ผมเชื่อมั่นและกล้ารับรองแบบนั้น หากปลาตัวนี้โตขึ้นมาแล้วไม่ใช่ Blue Base ยังไงเสีย ก็ยินดีรับคืน หรือพี่สามารถเข้ามาเปลี่ยนตัวใหม่ได้ แต่ผมอยากให้พี่ทราบว่าตอนนี้พี่อาจจะเลี้ยงผิดแบบ ที่ถูกต้องคือต้องเลี้ยงตู้ขาว หลังขาว พื้นขาว ว่าง่ายๆ ขาวรอบด้าน จะได้ทำให้สีสันและการเปิดของเกล็ดกลับมาเหมือนเดิม แถมจะได้เห็นการพัฒนาที่มากขึ้นตามที่พี่ต้องการด้วย”
พี่ป. ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย เพียงแต่อยากให้ผู้ขายช่วยเข้ามาดูปลาเท่านั้น (เพราะอยู่ห่างกันไม่ไกล เพียง 3-4 กม. เท่านั้นเอง) แต่เมื่อได้ยินแบบนี้ + คำรับรอง ความเชื่อมั่น และการให้กำลังใจของผู้ขาย + ยังไม่มีปลาล๊อทใหม่เข้ามาให้พิจารณา + ที่สำคัญที่สุด “ความใจดีของพี่ป. เอง” ในที่สุดพี่ป. ก็ตัดสินใจเลี้ยงดูปลาตัวนี้ต่อไป แต่คราวนี้ไม่ได้หวังว่าตัวปลาจะไปไกลขึ้น แต่หวังเพียงแค่ให้ Donut Effect ที่เกิดขึ้นมานี้หายไป ไม่เป็นเพิ่ม และเนื้อสีที่ดำอยู่ขอบนอกนั้นกลับมาคืนสีให้เต็มแผ่นเหมือนเดิม เพียงเท่านั้นก็พอใจแล้ว
เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อไป ? ที่มาที่ไปของ Donut Effect มาจากปัจจัยใด ? รวมถึงระยะเวลาที่พี่ป. ให้เวลา Premium Grade Blue Base Cross Back พิสูจน์ตัวเองว่ายาวนานแค่ไหน ? ท้ายที่สุดทางออกของพี่ป. จะเป็นแบบไหน ? และ คำตอบของผู้ขายจะเป็นอย่างไร ? ติดตามชมได้ใน “มังกรหรรษา” ตอนหน้า ไม่นานเกินรอ วันจันทร์นี้เจอกันครับ
*** สำหรับปลาของพี่ป. ตัวนี้ยังพบแค่เพียง Donut Effect เดี๋ยวตอนท้ายของ “มังกรหรรษา” ตอนยาวตอนนี้ เพื่อนสมาชิกจะได้รู้จักกับ Black Area Effect ด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบขั้นต่อไปของ Donut Effect … ถามว่าน่ากลัวขนาดไหน ? ผมไม่เขียนคำบรรยายจะดีกว่า แต่ให้เพื่อนสมาชิกนึกภาพว่า “เมื่อคุณได้ซื้อทองมาเลย์มาตัวหนึ่ง แล้วเลี้ยงๆ ไปแล้วกลายมาเป็น Hiback หรือ RTG ทั้งที่ได้เห็นเอง หรือมีเพื่อนฝูงกล่าวถึง… จะมีความรู้สึกแบบไหน ? อย่างไร ? ” => หากตั้งใจอ่านและซึบซับข้อมูลที่ได้เขียนไว้นี้ จะเป็นผลดีกับทุกท่านเพราะจะได้ระมัดระวังในการเลือกซื้อปลาระดับสูงมากขึ้น ฝากให้ติดตามชมด้วยนะครับ