จากปลาบ่อรวม คุณ Sutanto ก็พาพวกเราเข้าไปดูปลาที่แยกเลี้ยงเดี่ยวบ้าง… ผมถือว่าสิ่งที่ผมเห็นผ่านสายตานี้ก็คือสถานที่ๆ เรียกว่าเป็นทั้ง Stock และ Showroom ของที่นี่ โดยรวมเมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยเห็นทั้งในบ้านเราและ ประเทศสิงคโปร์ ไม่ว่าจะดูมุมไหน ของเราและเมืองลอดช่องก็ดูจะเรียบร้อย สะอ้านสะอ้าน และเป็นระบบระเบียบมากกว่า ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือ ความสวยงามของหน้าร้านเขาคงสู้บ้านเราไม่ได้ แต่ที่เขามีดีเหนือเราก็คือ ปลาของเขามีคุณภาพสูงกว่า แล้วลูกค้าก็มักจะเป็นฝ่ายเข้าหา ดังนั้นจึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องหน้าร้านเท่าไหร่นัก ปลาสวยคุณภาพสูงเป็นพอ… ว่าแล้วเราไปชมตัวปลาด้านในกันดีกว่าครับ
ผมเห็นปลาอยู่ตัวหนึ่ง สวยสะดุดตามาก เจ้ามังกรแดงที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้าจัดว่าเป็นปลาแดง ที่สีสันดีที่สุดในที่แห่งนี้ สีเข้ม ตัดขอบเกล็ดบางๆ และ Base สีในเข้มมาก แต่ดูคุณ Sutanto เจ้าของฟาร์ม รวมถึงทีม ACI คนอื่นๆ กลับไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก (ดูปลาตัวอื่นๆ อยู่) ไม่เป็นไร ผมเลือกเก็บภาพเฉพาะตัวที่ผมชอบ และบรรยายได้ถูกมาฝากดีกว่า ปลาแดงตัวนี้มีขนาดประมาณ 14-15 นิ้ว จริงๆ ขนาดตู้ที่เหมาะสมควรจะอยู่ในตู้ที่ไม่เล็กกว่า 48 นิ้ว แต่มันกลับถูกเลี้ยงไว้ในตู้ขนาดแค่ 30 นิ้วเท่านั้นเอง ปลาเลยดูอึดอัด ครียด ไม่ค่อย Happy โดยแสดงออกด้วยการ จอดนิ่งเฉย อยู่แบบนี้ มีหลุกหลิกชายตามองผมบ้าง แต่ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่ว่ายน้ำไปมา หรือขึ้นมาเล่นด้วยเหมือนปลาในส่วนอื่นๆ… ถ้าเปลี่ยนตู้ใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ผมว่าอาการน่าจะดีขึ้นครับ
NOTE : เกี่ยวกับเรื่องความเครียดของปลา จริงๆ ตู้ที่เลี้ยงไว้ก็เล็กอยู่แล้ว ดันมาเจอ "หลอดไฟใต้น้ำ" ที่ส่องจ่อแบบนี้ทั้งวี่ทั้งวัน ก็มีผลทำให้ปลาเครียดยิ่งขึ้นไปอีก… (อาเหลียงบอกผมว่า เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่จะติดหลอดไฟให้แสงไว้ที่หน้าตู้แบบนี้ จากนี้ไปคงได้เห็นอีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแล้วก็ใช้วิธีเดียวกัน เหตุผลสั้นๆ ก็คือ ทำให้ปลาดูสวยขึ้น และมองเห็นสีสันชัดเจนมากขึ้น)
ที่ฝั่งตรงข้าม ผมเห็นตู้ปลาใบเล็กอยู่ใบหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของ ลูกปลาแดงตัวน้อยๆ ผมไม่แน่ใจว่าได้แจ้งให้ผู้อ่านทราบไปแล้วหรือยัง ? แต่ขออนุญาตบอกอีกครั้งนะครับ คุณ Sutanto ที่เป็นเจ้าของที่นี่ เขามีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลามังกรเป็นของตัวเองด้วย ชื่อว่า PT. Electra Orion Graha โดยเน้นทำแต่สายพันธุ์สีแดงอย่างเดียว แต่อยู่ที่เมืองปอนเตียนัก บนเกาะกาลิมันตัน และลูกปลาแดงตัวจิ๋วที่เห็นอยู่นี้ ก็ได้มาจากการเพาะพันธุ์ในฟาร์มที่ ปอนเตียนัก นั่นเอง
ทีม ACI บอกให้ผมทราบว่าคุณ Sutanto แท้จริงแล้ว เพิ่งจะเพาะพันธุ์ปลามังกรได้เมื่อไม่นานมานี้เอง (ประมาณ 3-4 ปี) โดยก่อนหน้านี้ แกเริ่มต้นด้วยการเป็นนักเลี้ยง แต่ไม่ได้เป็นนักเลี้ยงธรรมดาๆ อย่างเราๆ นะครับ… เป็นผู้ซื้อกระเป๋าหนักที่ทุ่มทุนในการเลี้ยงปลาอย่างไม่อั้น มาวันหนึ่ง แกจัดงบประมาณก้อนโตเพื่อหาซื้อปลาแดงขนาดเต็มวัยมาเลี้ยงรวมกัน จริงๆ ตั้งใจจะเลี้ยงรวมเล่นๆ ความรู้สึกแบบส่วนตัว ไม่ได้หวังเพาะพันธุ์จริงจังอะไร (แต่เลี้ยงในตู้ หรือบ่อ ไม่แน่ใจ แต่น่าจะเป็นบ่อครับ) ปรากฏว่าเลี้ยงรวมฝูงได้เพียง 7 เดือนเท่านั้นเอง… ก็เห็นผลทันที คุณ Sutanto ได้ลูกปลาแดงจากพ่อแม่ปลาในบ่อ รวมแล้วกว่า 500 ตัว !! สุดยอดไปเลยครับ ทีแรกเขาก็นึกว่าเขาโชคดี และคงจะได้แค่ครั้งเดียว แต่แล้วพ่อแม่ปลากลุ่มนั้นก็ยังให้ลูกเรื่อยๆ แกจึงเกิดแรงบันดาลใจในการทำฟาร์ม แล้วก็ดำเนินการมาถึงปัจจุบันครับ (ผู้เลี้ยงท่านอื่นต้องเฝ้ารอ ต้องทดลอง กันเป็นสิบๆ ปี แต่บุรุษผู้นี้ใช้เวลาไม่ถึงปี Jackpot แตกเลย มีทั้งเงินทอง วาสนา ประสบการณ์ ความรู้ และจัดหาปลาในเพศวัยที่เหมาะที่ควร เมื่อสูตรผสมทุกอย่างลงตัว จึงได้ผลลัพท์ที่งดงามแบบนี้… นักเลี้ยงคนไทยสู้ตายนะครับ บางที โชคดีแบบนี้อาจจะเป็นของเราบ้าง ในสักวันหนึ่ง )
ที่ตู้ไม่ไกลกันนั้นผมเห็น ปลามังกรแดงคิง (Red King) อยู่ตัวหนึ่ง ตัวนี้แหละครับที่คุณ Sutanto เชิญทีม ACI ไปดู เป็นตู้แรก แต่พอดีว่าผมติดถ่ายรูปปลาแดงตัวก่อนหน้าอยู่ ก็เลยไมได้เข้าไปพร้อมเขา พอเดินตามเข้าไปดูคิงแดงตัวนี้อีกที เขาก็ไปดูปลาตัวอื่นแล้ว ดีเหมือนกันครับ จะได้ถ่ายรูปง่ายๆ และข้อมูลพื้นฐานปลาพวกนี้เราก็พอรู้บ้างแล้ว เดี๋ยวถ้ามีสงสัยอะไรค่อยถามเพิ่มเติมก็แล้วกัน… ปลาตัวนี้จัดเป็น King ที่สวยใช้ได้ เนื้อสีแดงเยอะดี ตีขอบเกล็ดชัด แต่ไม่ค่อยแดงนัก (ยังดีที่ค่อนข้างจะ Active หน่อย ว่ายเข้ามาเล่นโชว์ลีลาตลอด ทั้งที่หน้าตู้มีหลอดไฟใต้น้ำส่องจ่ออยู่เช่นกัน) โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ค่อยชอบปลาพวกนี้เท่าไหร่นัก เพราะถือเป็นปลาพิการ ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้รังเกียจ เพียงแต่ถ้าจะให้เลี้ยง ผมคงเก็บงบประมาณก้อนนั้นไปหาซื้อปลาปกติๆ สภาพดีๆ มาเลี้ยงให้ครบก่อน ครบแล้วค่อยวันกัน
เห็นปลาแดงมาแล้วทั้งแถบ ผมก็เข้าใจว่าคงไม่มีปลาพวกสีทองให้เห็น แต่แล้วก็โชคดีได้เจอ RTG อยู่ตัวหนึ่งครับ นับเป็น RTG ที่หน้าตาดีเข้าขั้น เกล็ดเปิดสูง เนื้อสีเต็มแผ่น แต่ไม่ได้เป็นมันเงางามนัก ด้วยความสงสัยก็เลยลองถามหนึ่งในสมาชิกทีม ACI ดูว่า ปลาตัวนี้เป็นอะไร ? (เห็นเกล็ดมันเปิดสูงมากด้วย เลยอยากจะดูว่าเขาจะตอบว่าเป็น Hiback ไหม ?) แต่แล้วคำตอบที่ได้รับก็คือ นี่คือ Sumatra Golden หรือ ทองอินโดจากเกาะสุมาตรา ได้ยินแบบนั้นแล้ว ผมก็ร้องอ๋อขึ้นมาในใจ… แบบนี้เองหรือ Sumatra Golden ยังไม่ทันที่ผมจะพูดอะไรต่อ คุณ Stephen ผู้เป็นประธานของกลุ่ม ACI ก็ให้ความรู้ผมว่า RTG ในประเทศอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ
Kalimantan Golden… เป็น RTG ที่มีแหล่งกำเนิดในเกาะกาลิมันตัน ลักษณะเด่นคือ รูปร่างจะป้อมสั้น เกล็ดเปิดต่ำ แต่สีเข้มจัด เนื้อเกล็ดเป็นสีทอง ตีขอบเกล็ดชัดเจน ในเกล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม (RTG ที่ได้จากที่นี่ มีทั้งมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและ จากการเพาะพันธุ์ในฟาร์ม)
Sumatra Golden… เป็น RTG ที่มีแหล่งกำเนิดในเกาะสุมาตรา ลักษณะเด่นโดยทั่วไปคือ ลำตัวจะยาวกว่า เกล็ดเปิดสูงถึงแถวที่ 5 บางตัวถึงข้ามหลัง (แต่ไม่มีเกล็ดละเอียด) สีทองของเกล็ดจะจางกว่า แต่ Base สี ในเกล็ดออก สีม่วงอมน้ำเงินอ่อน (ติด Blue Base)
ได้ฟังมาแบบนี้ทำให้นึกถึงตลาดปลาบ้านเรา ด้วยคุณสมบัติหลักของ Sumatra Golden (ที่ว่าเกล็ดเปิดสูง และเนื้อในติด Blue Base) ทำให้ง่ายต่อการขายฝันให้กับผู้ซื้อ และสามารถเรียกราคาได้สูงกว่าปกติมาก จากชื่อ RTG ธรรมดา ค่าตัวประมาณหมื่นเศษ พอกลายมาเป็น Sumatra Golden ราคาถีบตัวขึ้นสูงถึงเกือบสามหมื่น (หรืออาจจะกว่า) ทั้งที่ข้อเท็จจริง คุณ Stephen บอกไว้ชัดเจนว่า ราคาของ RTG ทั้งคู่นั้น "เท่ากัน" ไม่ได้แตกต่างอย่างที่เข้าใจ
NOTE : ปลามังกรสายพันธุ์นี้ ที่นี่นิยมเรียกกันว่า Golden Red ซึ่งในอินโดเป็นที่รู้กันว่ามันคือ ทองอินโด หรือว่า RTG นั่นเอง แต่ทว่าเรียกได้เฉพาะที่นี่เท่านั้นนะครับ ถ้าเอาไปใช้ในสิงคโปร์เขาจะงงกัน เพราะ Golden Red ที่นั่น หมายถึง Tong Yan หรือลูกครึ่ง แดง x ทองมาเลย์ นั่นเอง (ถ้าจะให้ง่ายที่สุด ผมว่าเรียก RTG แหละดีแล้ว จะได้ไม่สับสน)
ที่นี่นอกจาก มังกรคิง แล้วผมยังมีปลาแปลกๆ มาให้เพื่อนๆ ได้ชมอีกด้วยนะครับ ตามไปดูกันดีกว่า ปลาพวกนี้ผมเองก็เพิ่งจะเห็นเคยครั้งแรกเหมือนกัน อย่าตัวนี้ ผมตั้งชื่อให้มันว่า “มังกรพยูน" ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัย ? เอ๊ะ ! มันเป็นตัวอะไรกันหนอ ? ลองพลิกดูภาพประกอบสิครับ แล้วจะรู้เลยว่าเจ้านี่น่ะ “หมูมังกร” ของจริง ผมชอบมากครับเจ้านี่ เรียกได้ว่าชอบที่สุดใน Tanto Place แห่งนี้เลย ทั้งอวบ ทั้งอึ๋ม ทั้งเนียน ตัวกลมดิ๊ก น่ารัก น่ากอดมากๆ เห็นแล้วอยากสู่ขอมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน แต่ปลาตัวนี้ผมว่าคุณ Sutanto ต้องบอกว่าเป็น "ปลาพิเศษ" แน่ๆ และในเมื่อเป็นของแปลก ของหายาก (แถมสมบูรณ์ไม่มีตำหนิแบบนี้) ราคาก็คงจะสูงลิ่วอย่างที่ไม่ต้องต้องบอกอธิบาย คงไม่ไหว… ตัดใจดีกว่า แค่ขอเก็บภาพไว้ ให้เป็นความทรงจำดีๆ ก็พอ
ปลาพิเศษอีกตัวที่เจอ ก็มีลักษณะเกล็ดเหมือนเป็น “ชุดเกราะ” ครับ (พอดีสีเกล็ดสวยเสียด้วย ก็เลยให้ชื่อว่า "เกราะเพชร 7 สี" ซะเลย) ลักษณะแปลกที่ว่านี้ก็คือ แผ่นเกล็ดจะนูนๆ ไม่เรียบเนียนเหมือนปกติ และนูนเป็นแผ่นๆ ต่อกันไป อันนี้ไม่แน่ใจว่าผิดปกติรึเปล่า ? เป็นกรรมพันธุ์ ? หรือเพราะอ้วนจนเกล็ดปริออกมาแบบนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ? (สอบถามดู ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้) แต่ถ้าพูดถึงเรื่องสีสันแล้ว แม้เกล็ดจะนูนแต่ก็แดงไม่ธรรมดาเลย ตัดขอบแดงบนเกล็ดนูนๆ นี่ก็ดูแปลกตาดีเหมือนกันครับ
นอกจากนี้ยังมี มังกรแดง 4 หนวด อีกหนึ่งตัว เจ้านี่หลายคนชื่นชอบมาก (ยอมรับว่าแปลกจริง หายากสุดๆ) แต่ส่วนตัว ผมรู้สึกเฉยๆ นะ ไมได้ตื่นเต้นอะไรด้วยเท่าไหร่นัก เห็นเขาถ่ายรูปกัน ก็เลยเอามั่ง แชะ แชะ แชะ ตามกันไปแล้วก็เก็บภาพมาฝากกัน แต่ก่อนไปขออนุญาตเผยความลับอะไรอย่างหนึ่งก่อนนะครับ เห็นปากยื่นๆ แบบนี้ สีจืดๆ แบบนี้ มีดีแค่พิเศษ 4 หนวด ราคาก็สูงลิ่วถึง 2 แสนกว่าบาทแล้ว… ผมขอบายคนหนึ่งล่ะครับ
เอาล่ะครับ แล้วนี่ก็เป็นการสิ้นสุดการเที่ยวชมปลาสำหรับที่แรก Tanto Place… แต่ก่อนจากกัน ผมได้มีโอกาสชมใบเซอร์รับรองสายพันธุ์ของทางฟาร์มด้วย ซึ่งก็คือว่าออกแบบได้สวย ใช้ได้เลยทีเดียว ก็ไม่ค่อยได้เห็นดูดีแบบนี้บ่อยครั้งนัก เพราะเท่าที่เห็นมา ใบเซอร์จากฟาร์มปลาในอินโดนีเซียส่วนใหญ่แล้วจะเรียบง่าย ไม่มีลูกเล่น สีสัน สวยงามอะไรมากนัก (ต่างจากของมาเลเซีย และสิงคโปร์มาก ที่ใบรับรองของเขาแต่ละฟาร์ม สวยงาม เลิศหรู ดูมีราคา) จากนั้น พวกเราก็ขอตัวลาแล้วก็พร้อมเดินทางออกไปยังสถานที่เป้าหมายต่อไป
โปรดติดตามตอนต่อไป