ก่อนที่ทุกคนจะเดินเข้าไปชมบ่อปลาที่ด้านหลังของบ้าน คุณ Sriyadi กับ Stephen ก็เอาอะไรบางอย่างมาให้ผมดู แล้วก็ถามผมว่ารู้จักกับสิ่งนี้ไหม ? ผมตอบว่า ผมเคยเห็น มันคือ เนท สำหรับจับต้อนปลาใช่รึเปล่า ? เขาก็ตอบว่าใช่ ถูกต้อง นี่คือ เนท สำหรับจับปลาซึ่งใช้ในการจับปลาบ่อ โดยสามารถจับได้ทุกขนาด ตั้งแต่เล็ก กลาง ไปจนปลาใหญ่ และสามารถต้อนจับได้ครั้งละหลายๆ ตัว เนท จับปลาพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีใช้เฉพาะกันในฟาร์ม หรือ Trader รายใหญ่ๆ เท่านั้น ไม่ค่อยเห็นตามร้านค้าทั่วๆ ไป แล้วก็คิดว่าในเมืองไทยไม่มี ก็เลยเอามาให้ดูเผื่อว่าจะเอาไปเป็นข้อมูลเพิ่มในการเขียนบทความได้ ผมก็เลยตอบว่า… ใช่ครับ ผมเองก็ไม่เคยเห็นในเมืองไทยเหมือนกัน ที่บอกว่าเห็น ผมเห็นที่สิงคโปร์
NOTE : เนทจับปลา ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ก้นลึก (กันปลากระโดด) และแข็งแรงมาก (กันปลาพุ่งทะลุ) แต่ยืดหยุ่นดังนั้นจึงมักไม่ทำให้ปลาบาดเจ็บ เมื่อจับปลาได้แล้ว จะใช้ถุงอีกใบต้อนปลาขึ้นมาแล้วจึงโยกย้ายไปในตำแหน่งที่ต้องการอีกที เพื่อนผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดว่า เนท นี้ทำหน้าที่เหมือนเป็นกระชอนยักษ์ จับปุ๊บยกขึ้นมาเลย แบบนั้นผิดวิธีใช้ ปลาได้ดิ้นกันครีบเครื่องหักหมดตัวก่อนถึงที่หมายแน่
เอาล่ะครับ ถึงหน้าบ่อขุนแล้ว บ่อปลาที่เห็นมีอยู่ 3 บ่อครับ บ่อเรียกว่าไม่เล็ก แต่ก็ไม่ใหญ่นัก และทั้งหมดเป็นบ่อปูน ไม่ใช่บ่อดิน ขนาดโดยประมาณของแต่ละบ่อคือ ยาว 11 เมตร กว้าง 3 เมตร และ สูง 0.8 เมตร ใน 3 บ่อนี้ มี 2 บ่อ ใช้สำหรับขุนปลาเล็ก (ขนาด 10-12 นิ้ว) ส่วนอีกบ่อใช้สำหรับเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ตั้งแต่ 18 นิ้วขึ้นไป (แต่ละบ่อมีรั้วสูงประมาณ 3 ฟุต ข้างบนปูตาข่ายสำหรับบังแดด และกันนก ด้วยครับ… นับว่าเป็นภาพที่คุ้นเคย เพราะเคยเห็นมาแล้วครั้งที่ไปดูฟาร์มปลาที่ประเทศสิงคโปร์) ระบบกรอง ทุกบ่อใช้เหมือนกันหมดครับ โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่องกรอง เรียงตามนี้ครับ ช่องแรก Bio Ball… ช่องสอง Ceolite… ช่องสาม Carbon… และช่องสุดท้าย ใบหูกวาง (ที่นี่เรียกว่า Ketapang Leafs "เคตาปัง ลีฟ"… ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้กับปลาแดง)
เพราะแต่ละบ่อใช้ น้ำหมักใบหูกวาง ดังนั้น สีน้ำจึงออกน้ำตาล และแม้จะลึกเพียง 80 ซม. แต่เมื่อมองลงไปก็ไม่ค่อยเห็นปลา อุตส่าห์มาถึงที่นี่แล้ว ถ้าได้เห็นแค่บ่อคงแย่น่าดู อาเหลียงเห็นหน้าผมแล้วก็พอจะเดาอาการออก จึงบอกให้คุณ Sriyadi โชว์ปลาหน่อย เขาจึงให้ลูกน้องเอาเหยื่อปลามา คราวนี้ได้เห็นแน่ๆ เพราะตั้งแต่เช้ามายังไม่ได้ให้อาหารปลาเลย อาเหลียงยังบอกอีกว่า “คุณแนน เตรียมกล้องแล้วหรือยัง ? เดี๋ยวได้ถ่ายกันมันส์หยด !!” ผมยิ้มแล้วตอบว่า “กล้องผมน่ะ อยู่คามือไม่ไปไนอยู่แล้ว”
เหยื่อปลาที่ลูกน้องของคุณ Sriyadi เอามาเป็นจิ้งหรีดครับ (จัดเป็นอาหารลอยน้ำ ดีแล้ว จะได้เห็นปลาขึ้นมากินเหยื่อได้ชัดเจนมากขึ้น) เอามาเป็นถังๆ เลย มาถึงก็โยนปุ๊บลงไปกลางบ่อ ครู่เดียวปลาแดงนับสิบๆ ตัวก็ว่ายกรูเข้ามาแย่งกินกันใหญ่ เสียงปุบ ปับ ๆ ๆ ๆ ดังสนั่นไม่ขาดระยะ (ขอเรียนตามตรงว่า จิ้งหรีดแดนอิเหนา หน้าตาต่างกับจิ้งหรีดบ้านเรามากครับ ของเราน่ารักกว่า ของเขาดูแปลกๆ เห็นแล้วไม่กล้าจับ)… คุณ Sriyadi บอกว่า บ่อที่เห็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กหรือปลาใหญ่ ในหนึ่งบ่อจะเลี้ยงเพียง 40 ตัวเท่านั้น ผมคิดในใจ บ่อใหญ่ขนาดนี้เลี้ยงแค่ 40 ตัวเองหรือ ? เคยเจอในฟาร์มเมืองไทย บ่อประมาณนี้เลี้ยงได้เป็นร้อยๆ ตัวเลยทีเดียว… เดินดูไป ก็ถ่ายรูปไป สงสัยอะไรก็ถาม สรุปแล้วผมได้ข้อมูลดีๆ เสริมมาอีกนิดหน่อย ตัวอย่างเช่น
=> ทีม ACI มีความเห็นตรงกันว่า บ่อปลาของ Sriyadi เป็นบ่อปลาวิเศษ ไม่รู้ว่ามีเวทมนต์อะไร แต่สามารถเลี้ยงปลาให้ใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นแบบนี้ทุกชุด กล่าวคือ จากปลา 4 นิ้ว จำนวน 40 ตัว ใส่ลงไปในนี้ 1 ปี ทุกตัวมีขนาดเฉลี่ย 18 นิ้วเต็ม (ใหญ่จริงครับแบบนี้ ปกติปลา 1 ปี จาก 4 นิ้ว จะได้ราว 1 ฟุตเท่านั้น ให้เต็มที่เลยก็ 15 นิ้ว)
=> อาหารหลักที่ให้ปลากินมีทั้ง จิ้งหรีด หนอน และ เนื้อปลา แต่ไม่ได้ให้กินกุ้ง… เขาว่าเรื่องสี มันอยู่ที่สายพันธุ์มาเป็นที่หนึ่ง อาหารมันเป็นส่วนรองเท่านั้น แต่ก็มีส่วนช่วยอยู่บ้าง (อันนี้ความคิดเห็นตรงกันครับ)
=> ปลาเล็ก สำหรับจำหน่าย ปลาใหญ่ เลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ในการทำฟาร์มในอนาคต (เว้นแต่ซื้อเหมาหมดบ่อ)
=> ราคาเฉลี่ยปลาเล็ก 10-12 นิ้ว ตัวละ USD. 1,xxx หรือ 4x,xxx บาท ส่วนตัวใหญ่ USD. 2,xxx – 2,5xx หรือ 8x,xxx – 1xx,xxx บาท (เฉพาะตัวปลา ไม่รวมค่าเอกสาร และภาษี) … สูงต่ำ ถูกแพง อย่างไร ? สุดแล้วแต่วิจารณญาณของผู้อ่านนะครับ
เอาล่ะครับ สำหรับการไปเที่ยว Sriyadi Place ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ก่อนจากกันผมก็ได้มีโอกาสถ่ายรูปกับคุณ Sriyadi ด้วย นอกจากนี้ลูกน้องคนหนึ่งของเขา ก็ช่วยทำหน้าที่เป็นตากล้องรับเชิญในการถ่ายรูปหมู่ให้พวกเราทุกคนด้วยครับ ตอนหน้าเราไปเที่ยวชมร้าน Serpong Mas Arowana ร้านจำหน่ายปลากลางกรุงจาการ์ต้า ด้วยกันนะครับ